กสม. ยกโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะขึ้นตรวจสอบ แนะ ศอ.บต. ทบทวนกระบวนการรับฟังความเห็น พร้อมขอบคุณ ครม.สั่งชะลอโครงการ จนกว่าการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์แล้วเสร็จ ด้านม็อบยุติ เก็บของ-เดินทางกลับบ้านแล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2564 นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ และผู้ช่วย ศ.สุชาติ เศรษฐมาลินี กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)แถลงถึงกรณี กสม.มีมติหยิบยกเรื่องการดำเนินโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ขึ้นตรวจสอบเป็นการเร่งด่วน และขอให้ ศอ.บต. พิจารณาทบทวนกระบวนการรับฟังความเห็นของประชาชน ว่าตามที่ กสม.ได้รับเรื่องร้องเรียนขอให้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน กรณีกล่าวอ้างว่า การดำเนินโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคตอำเภอจะนะมิได้คำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง และการดำเนินโครงการอาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชุมชน โดยที่ประชาชนเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ได้ปักหลักชุมนุม ณ บริเวณทำเนียบรัฐบาล เพื่อทวงสัญญาในการแก้ปัญหาซึ่งจะต้องจัดให้มีการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment: SEA) แบบมีส่วนร่วมก่อนดำเนินการโครงการ นั้น
กสม. ได้ติดตามเฝ้าระวังและลงพื้นที่สังเกตการณ์การชุมนุมของเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น และได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.ขอให้รัฐบาลปล่อยตัวผู้ชุมนุมและเร่งรับฟังเสียงของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ รวมทั้งมีมติในการประชุมด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ครั้งที่ 52/2564 (27) เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2564 หยิบยกและรับเรื่องร้องเรียนข้างต้นไว้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนแล้ว ล่าสุด เมื่อวันที่ 14 ธ.ค.สำนักงาน กสม. ได้มีหนังสือแจ้งไปยังเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ขอให้พิจารณาทบทวนกระบวนการรับฟังความเห็นของประชาชนในโครงการดังกล่าว เนื่องจากได้รับทราบข้อเท็จจริงว่า ระหว่างวันที่ 13 - 23 ธ.ค.2564 มีการจัดรับฟังความเห็นของประชาชนเพื่อประกอบการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ซึ่งใช้รูปแบบการประชุมทางไกลผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ทาง Zoom Cloud Meeting เท่านั้น โดย กสม. เห็นว่า กระบวนการรับฟังความเห็นจำเป็นต้องให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลที่จำเป็นต่อการตัดสินใจและสามารถแสดงความเห็นของตนได้อย่างเสรี การใช้รูปแบบการประชุมทางไกลผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์เพียงช่องทางเดียว ย่อมส่งผลให้ประชาชนที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงสื่ออิเล็กทรอนิกส์ไม่สามารถรับทราบข้อมูลและแสดงความเห็นของตนได้ตามสิทธิที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 โดยเฉพาะต่อโครงการนี้ที่ยังปรากฏความเห็นที่แตกต่างกันระหว่างหน่วยงานของรัฐกับประชาชน
“กสม. จึงขอให้ ศอ.บต. พิจารณาทบทวนกระบวนการรับฟังความเห็นของประชาชนโดยเพิ่มรูปแบบหรือช่องทางที่เหมาะสมและหลากหลายยิ่งขึ้น เช่น การจัดเวทีประชุมรับฟังความเห็นในพื้นที่ดำเนินโครงการ เป็นต้น หรือชะลอการรับฟังความเห็นไว้ก่อนจนกว่าจะพิจารณาข้อเรียกร้องของประชาชนแล้วเสร็จ”
กสม. ขอขอบคุณที่ ครม.มีมติเมื่อวันที่ 14 ธ.ค.ให้หน่วยงานรัฐชะลอโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ไว้ก่อน จนกว่าจะดำเนินการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ หรือ SEA แล้วเสร็จ โดยให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จัดให้มีการทำ SEA โดยให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม และให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับข้อเสนอของภาคประชาชน เช่น เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น
“กสม. ขอเน้นย้ำให้รัฐบาลรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทุกฝ่ายอย่างรอบด้านตามกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างเปิดเผยและจริงใจ โดยกลไกของคณะกรรมการในการจัดทำ SEA ควรประกอบด้วยนักวิชาการที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในแต่ละด้าน องค์กรภาคสังคมหรือสถาบันวิชาการที่มีความรู้และประสบการณ์ในการจัดกระบวนการมีส่วนร่วมเพื่อวางแผนเชิงนโยบายที่สอดคล้องกับศักยภาพของการพัฒนาพื้นที่ทั้งในมิติเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สังคมและวัฒนธรรม ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้กำหนดอนาคตของพวกเขาร่วมกันโดยไม่มีใครถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลัง”
กสม.ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือน พ.ย.2562 กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียนกรณีโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะจากเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นแล้ว แต่ในระหว่างการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนตามคำร้องนี้ ตัวแทนชาวบ้านผู้ร้องได้มีหนังสือเมื่อเดือน ก.พ.2563 ขอถอนคำร้องจากการตรวจสอบเพื่อใช้สิทธิตามกฎหมายผ่านช่องทางอื่นแทน เรื่องร้องเรียนครั้งก่อนจึงเป็นอันยุติลง อย่างไรก็ดี การตรวจสอบโครงการดังกล่าวในครั้งนี้เป็นเรื่องที่ กสม. มีความห่วงใยและให้ความสำคัญในเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชน จึงรับคำร้องใหม่พร้อมหยิบยกขึ้นตรวจสอบ โดยจะเร่งดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างรอบด้านและโดยเร่งด่วนเพื่อเป็นกลไกหนึ่งในการอำนวยความเป็นธรรมตามหลักสิทธิมนุษยชนให้แก่ทุกฝ่าย
ในวันเดียวกันนี้ เมื่อเวลา 07.00 น. กลุ่มผู้ชุมนุม 'จะนะรักษ์ถิ่น' และเครือข่าย ได้ยุติการชุมนุม เก็บของ และเดินทางกลับภูมิลำเนาแล้ว หลังจากมาชุมนุมเพื่อกดดันรัฐบาล บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล และหน้าองค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UN) เนื่องจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2564 ที่ผ่านมา มีมติให้ชะลอโครงการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมจะนะ อ.จะนะ จ.สงขลา ไว้ก่อน เพื่อจัดทำผลการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) ให้ได้ข้อยุติตามข้อเรียกร้อง ทั้งนี้กลุ่มผู้ชุมนุม ระบุว่า หากรัฐบาลไม่ทำตามที่ตกลงไว้ จะมีการออกมาเคลื่อนไหวชุมนุมอีกครั้ง