นักไวรัสวิทยาเปิดผลวิจัยจากเมืองเคปทาวน์ ประเทศแอฟริกาใต้ ชี้กระตุ้นเข็ม 3 อาจไม่พอป้องกันติดเชื้อโอไมครอน แต่ยังลดอาการป่วยหนักได้ ย้ำการรับมือคงพึ่งวัคซีนอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีมาตรการอื่นรองรับ
ผู้สื่อข่าวรายงานข่าว เมื่อวันที่ 10 ธ.ค.2564 นายอนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana เปิดเผยผลการวิจัยเมืองเคปทาวน์ (Cape Town) ของแอฟริกาใต้ว่า พบข้อมูลผู้ป่วยโควิดชายชาวเยอรมัน 7 คน แบ่งเป็น ชาย 2 คน และหญิง 5 คน มีอายุเฉลี่ย 27.7 ปี (25-39 ปี) ทั้งหมดได้รับวัคซีนครบ 3 เข็มแล้ว โดย 5 คนได้วัคซีนไฟเซอร์ทั้ง 3 เข็ม ซึ่งเข็มที่ 3 ฉีดได้ประมาณช่วง ต.ค.-พ.ย.ที่ผ่านมา ส่วนอีก 1 คนได้ฉีดวัคศีนไฟเซอร์ 2 เข็ม และฉีดเข็มสามเป็นโมเดอร์นาเต็มโดส ตั้งแต่ 3 ต.ค. และอีก 1 คนได้เข็มไขว้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า-ไฟเซอร์ และ ได้เข็มสามเป็นวัคซีนไฟเซอร์วันที่ 26 ต.ค.
โดยสรุปคือ ทุกคนได้เข็มกระตุ้นมาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนที่จะมีการระบาดของโอมิครอนในเมืองนี้ของแอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นสภาวะที่ภูมิหลังเข็มสามยัง active เต็มที่
ทั้ง 7 คน มีอาการป่วยเล็กน้อยถึงปานกลาง ไม่จำเป็นต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล อาการที่เห็นชัดในผู้ป่วยคือ ไอแห้ง เจ็บคอ เยื่อบุจมูกอักเสบ หายใจไม่สะดวก อ่อนเพลีย เมื่อตรวจปริมาณไวรัสในตัวอย่างของผู้ป่วยแต่ละคน พบว่า ไวรัสในตัวอย่างมีปริมาณค่อนข้างสูง 1.41 x 10e4 ถึง 1.65 x 10e8 (เฉลี่ย 4.16 x 10e7 copies/ml) ซึ่งพบว่าจุดสูงสุดของไวรัสคือ วันที่ 4 หลังแสดงอาการ ถ้าเทียบดูปริมาณไวรัสโดยเฉลี่ยของโควิดโดยทั่วไปคือ 6.76 x 10e5 copies/ml ที่ 5 วันหลังมีอาการ ทำให้อาจเป็นไปได้ที่ โอมิครอนจะสามารถเพิ่มจำนวนได้ดีกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม แต่ข้อมูลยังน้อยเกินไปที่จะสรุปในตอนนี้
ที่น่าสนใจคือ ผู้ป่วยที่ 6 ใน 7 คน มีค่าแอนติบอดีในเลือดที่วัดในหน่วย AU/ml สูงเกินหมื่นทุกคน ผู้ป่วยรายที่ 2 ที่มีปริมาณไวรัสสูงสุดเป็นผู้ที่มีแอนติบอดีสูงถึงมากกว่า 40000 AU/ml ซึ่งชัดว่าปริมาณแอนติบอดีสูงๆด้วยการวัดวิธีนี้ไม่สามารถอนุมานต่อได้ว่าจะป้องกันการติดเชื้อโอมิครอนได้
ข้อมูลชุดนี้บอกว่า ภูมิจากเข็มกระตุ้นด้วยวัคซีนในปัจจุบันคงจะไม่เพียงพอต่อการป้องกันการติดเชื้อเข้าสู่ร่างกายของไวรัสโอมิครอน แต่ที่ชัดเจนคืออาการหลังติดเชื้อไม่หนัก และสามารถรักษาตัวเองให้หายได้ในเวลาไม่นาน ปริมาณไวรัสที่อยู่ในร่างกายของผู้ป่วยเหล่านั้นไม่น้อยและแพร่กระจายได้ การรับมือกับโอมิครอนคงจะพึ่งวัคซีนอย่างเดียวไม่ได้ครับ เครื่องมืออื่นๆคงต้องพร้อม
ที่มา :