สธ.ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำโครงการส่งเสริมการเกิดการอย่างคุณภาพและถ้วนหน้า นำร่องพื้นที่ชายขอบ 3 จังหวัด หวังลดอัตราการตายของแม่และเด็กในพื้นที่ห่างไกลการแพทย์
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่าเมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2564 นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการนำเสนอสรุปผลการดำเนินงานของโครงการการพัฒนาและส่งเสริมการเกิดอย่างมีคุณภาพและถ้วนหน้า (Safe Birth for All) และมีการอภิปราย Safe mother and child พร้อมแสดงสัญลักษณ์การร่วมมือระหว่างองค์กร
นายสาธิต กล่าวว่า เป็นโอกาสที่ดีอย่างมากที่กรมอนามัยได้ร่วมกับบริษัทริกคิทท์ประเทศไทยและอินโดจีน (Reckitt) และ กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) ในการทำให้โครงการ ที่จะให้ประชากรของเราเกิดอย่างมีคุณภาพและลดการเสียชีวิต ซึ่งถือว่าเป็นงานที่ตรงสายงานของกรมอนามัยตามที่ได้วางหลักการไว้ มีการทำนายล่วงหน้าว่า ในอีก 70 ปีข้างหน้า ประชากรโลกจะลดลงเกือบครึ่งนึง และแน่นอนที่สุดประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่กำลังมีปัญหานี้ เรามีรัฐบาลและคณะกรรมการอนามัยเจริญพันธุ์ ที่พยายามทำเรื่องนี้อยู่ เป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกันอาจจะทางอ้อมหรือโดยตรงก็ตาม แต่ว่าเราก็ควรที่จะทำให้ประชากรของเรามีคุณภาพชีวิตที่ดี
ด้าน นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า โครงการการพัฒนาและส่งเสริมการเกิดอย่างมีคุณภาพและถ้วนหน้า (Safe Birth for All) ดำเนินการในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน และ ตาก ภายใต้การดำเนินงานของศูนย์อนามัยที่ 1 เชียงใหม่ ศูนย์อนามัยที่ 2 พิษณุโลก และศูนย์อนามัยกลุ่มชาติพันธุ์ ชายขอบ และแรงงานข้ามชาติ (ศอช.) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ตามตะเข็บชายแดนไทย-พม่า ที่มารดาและทารกเข้าไม่ถึงบริการ โดยพื้นที่ดังกล่าวมีกลุ่มหญิงวัยเจริญพันธุ์ที่เป็นคนไทยและชาติพันธุ์ ประมาณ 210,000 คน เป็นหญิงตั้งครรภ์ประมาณ 30,700 คน ซึ่งต้องอาศัยผดุงครรภ์โบราณกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง หมอตำแยเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการลดการตายของมารดาและทารกในพื้นที่ชายขอบและห่างไกล
ขณะเดียวกันภายในงานจัดการอภิปรายโครงการพัฒนาและส่งเสริมการเกิดอย่างมีคุณภาพและถ้วนหน้า โดยนางนงนุชภัทร อนันตนพ ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 1 เชียงใหม่ กล่าวว่า นอกเหนือจากเป้าหมายสูงสุดคือ เพิ่มการเข้าถึงบริการของกลุ่มแม่และเด็กในพื้นที่สูงและห่างไกลทำให้เขาคลอดอย่างปลอดภัย แต่สิ่งที่เราได้มากกว่านั้นคือความร่วมมือของพื้นที่เป็นความร่วมมือทุกระดับไม่ว่าจะเป็นทางภาครัฐ ภาคประชาชน และเครือข่ายในระดับชุมชน ซึ่งจุดนี้จะเป็นพลังของความเข้มแข็งและจะต่อยอดไปทำเรื่องอื่น ๆ ให้สำเร็จต่อเนื่องอย่างยั่งยืนต่อไป
นายปณต ประพันธ์ศิลป์ ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์และกิจการภายนอก ริกคิทท์ ประเทศไทยและอินโดจีน กล่าวด้วยว่า โครงการนี้เราเชื่อว่าไม่ควรที่จะปล่อยให้คนใดคนหนึ่งในเมืองไทยเข้าไม่ถึงการแพทย์ หรือว่าเสียชีวิตจากการคลอด ทั้ง ๆ ที่มันเป็นสิ่งที่ป้องกันได้ การคลอดหลายครั้งอาจเกิดขึ้นที่บ้าน เพราะเขาไม่สามารถเดินทางไปที่โรงพยาบาลได้ทันท่วงที เราจะทำยังไงให้เขาคลอดที่บ้านได้อย่างปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
ขณะที่ นางดวงกมล พรชำนิ รักษาการหัวหน้าสำนักงาน UNFPA ประเทศไทย กล่าวว่า ผลที่ได้จากงานตรงนี้มันก็จะสอดเข้าไปอยู่ในระบบที่มันมีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นระบบเฝ้าระวังก็จะปรับปรุงให้ดีขึ้น ระบบอันไหนที่ไม่มีก็ได้เริ่มช่วยกันดู อย่างเช่น การตายปริกำเนิด หรือ ทารกตายตั้งแต่อยู่ในครรภ์ เพื่อดูวิธีสอบสวนโรค รวมถึงไลน์กรุ๊ปที่ชื่อว่า Teen Club ที่สร้างขึ้นมาเพื่อใช้สื่อสารเรื่องเพศสำหรับเด็ก ที่เรามองว่าเป็นแพลตฟอร์มที่สามารถครอบคลุมได้ทั่วประเทศ จากเดิมที่มีผู้ติดตามหลักร้อยคน ปัจจุบันสามารถเพิ่มขึ้นเป็นหลักหมื่นคนได้