ศอ.บต.แจงขับเคลื่อนโครงการเมืองต้นแบบ 'เมืองอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต' พื้นที่อำเภอจะนะ ตามมติ ครม. ยันให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน-รับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2564 ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กล่าวถึงกรณีของการขับเคลื่อนโครงการเมืองต้นแบบ 'เมืองอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต' พื้นที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ระบุว่า จากภาพข่าวที่ ปรากฎตามสื่อมวลชนในขณะนี้ มีประชาชนบางกลุ่มจากพื้นที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ได้ยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลทบทวนการดำเนินโครงการเมืองต้นแบบ เนื่องจากเห็นว่า เป็นโครงการพัฒนาที่จะทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในพื้นที่
ศอ.บต. ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบมิติงานพัฒนาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ขอนำเสนอข้อมูลสำคัญเพื่อให้ทุกฝ่ายได้รับทราบข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง ครบถ้วน และร่วมสื่อสารสร้างความเข้าใจกับผู้เกี่ยวข้อง ที่จะนำไปสู่ความร่วมมือสนับสนุนการขับเคลื่อนงานโครงการพัฒนาพื้นที่ให้เกิดผลต่อประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม ดังนี้
- จุดเริ่มต้นโครงการเมืองต้นแบบ 'เมืองอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต'
สืบเนื่องจากข้อเสนอของคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ (กรอ.) ต่อรัฐบาลในปี 2559 เพื่อการพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยกำหนดเมืองหลัก/เมืองต้นแบบที่มีความพร้อมการพัฒนาตามศักยภาพของพื้นที่รัฐบาลโดยมติ ครม. เมื่อวันที่ 4 ต.ค. 2559 จึงได้อนุมัติหลักการ โครงการเมืองต้นแบบ 'สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน' ในพื้นที่อำเภอสุไหงโก-ลก (จังหวัดนราธิวาส) อำเภอเบตง (จังหวัดยะลา) และอำเภอหนองจิก (จังหวัดปัตตานี) กำหนดแนวทางดำเนินงานมอบให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมขับเคลื่อนงานโครงการพัฒนาพื้นที่ตามภารกิจของหน่วยงาน
- การขยายผลโครงการเมืองต้นแบบฯ
ปี 2562 รัฐบาลโดย ครม. เมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2562 ได้มีมติเห็นชอบในหลักการให้ขยายผลโครงการเมืองต้นแบบฯ ในพื้นที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา โดยปรับทิศทางการดำเนินงาน ให้ภาคเอกชนเป็นผู้ลงทุนพัฒนาให้สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ และให้ภาครัฐเป็นผู้สนับสนุนการดำเนินงานให้เป็นไปตามแนวนโยบาย และแผนการพัฒนาที่เกี่ยวข้อง
ต่อมาในวันที่ 31 ต.ค. 2562 ที่ประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้มีมติเห็นชอบให้ประกาศพื้นที่อำเภอจะนะ เมืองต้นแบบ 'อุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต' เป็นเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ โดยมีผลตั้งแต่ วันที่ 9 ธ.ค. 2562 ดำเนินการภายใต้ พ.ร.บ.การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2553
ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมดำเนินงานตามภารกิจของหน่วยงานสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่มาเป็นลำดับ โดยเฉพาะการกำหนดแนวทาง และมาตรการสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่ ทั้งของภาคเอกชน และหน่วยงานภาครัฐ จนกระทั่ง รัฐบาลได้รับข้อเสนอของตัวแทนผู้คัดค้านโครงการ ให้มีการทบทวนการดำเนินงานโครงการฯ เพื่อป้องกันปัญหาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ ซึ่งรัฐบาลได้แต่งตั้งกลไกพิจารณาทบทวนด้วยแล้ว
- การขับเคลื่อนโครงการเมืองต้นแบบฯ ในระยะต่อไป
ภายหลังที่ นายกรัฐมนตรี ได้รับรายงานสรุปผลการพิจารณาทบทวนการดำเนินงานโครงการฯ ที่ผ่านมา เมื่อเดือน มี.ค. 2564 แล้ว ได้มีบัญชามอบให้ ศอ.บต.พิจารณาการดำเนินการขยายโครงการฯ ให้เป็นไปตามมติ ครม.อย่างเคร่งครัด
ในระยะต่อไป ศอ.บต. ได้รับความร่วมมือจากสถาบันการศึกษาในพื้นที่ เป็นหน่วยงานหลักจัดนักวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิ ร่วมกันศึกษาและจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ ตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว ซึ่งกำหนดกรอบข้อกำหนดการจ้าง ( TOR) ที่ครอบคลุมทุกมิติการพัฒนาในเชิงพื้นที่ และข้อกฎหมาย กฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้องทุกด้าน รวมทั้งการพัฒนาตามตัวแบบ BCG Model : Bio Economy, Circular Economy and Green Economy เน้นการวางแผนให้เกิดผลการพัฒนาที่ยั่งยืนของพื้นที่เป็นสำคัญ
ทั้งนี้ ในการศึกษาให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนและทุกระดับรวมทั้งมุ่งเน้นการรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน โดยเริ่มดำเนินการ ตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2564 เป็นต้นไป
- การดำเนินโครงการลงทุนของภาคเอกชน
สำหรับการดำเนินงานของภาคเอกชนผู้สนใจลงทุนพัฒนาพื้นที่ ซึ่งมีข้อเสนอโครงการลงทุนพัฒนาด้านต่างๆ นั้น เป็นการดำเนินการศึกษาเพื่อพัฒนาโครงการที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ตามกรอบกฎหมายการลงทุนโดยทั่วไป ซึ่งมีกระทรวง กรม และหน่วยงานรับผิดชอบกำกับดูแลในเรื่องสำคัญให้เป็นไปตามกฎหมายและกฎ ระเบียบ ข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง เช่น เรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องผังเมืองโดยกระทรวงมหาดไทย และเรื่องการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมโดยกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นต้น
ทั้งนี้ ผลที่ได้รับจากการศึกษาดังกล่าว จะเป็นข้อมูลสำคัญนำเสนอให้ส่วนราชการผู้รับผิดชอบพิจารณาตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาพื้นที่ต่อไป