'หมอเฉลิมชัย' วิเคราะห์ในมุมมองที่ดีที่สุด 'โอไมครอน' หากระบาดครอบคลุมทุกสายพันธ์ แต่ไม่ก่อให้เกิดอาการรุนแรง อาจทำให้โควิดยุติการระบาดได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 5 ธ.ค.2564 นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมมาธิการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Chalermchai Boonyaleepun ระบุว่า โควิดสายพันธุ์โอไมครอนอาจทำให้โควิดยุติการระบาดต่อมนุษยชาติได้ ในมุมมองที่ดีที่สุด
เนื่องจากไวรัสโคโรนาลำดับที่ 7 ที่ก่อโรคโควิด เป็นไวรัสสารพันธุกรรมเดี่ยวที่เรียกว่าอาร์เอ็นเอ (RNA) จึงมีการกลายพันธุ์อยู่ตลอดเวลา ในช่วงเกือบสองปีที่ผ่านมา กลายพันธุ์ไปแล้ว กว่า 1,000 สายพันธุ์หลักและสายพันธุ์ย่อย แต่มีสายพันธุ์ที่คนรู้จักอยู่ประมาณ 10 สายพันธุ์ เพราะจะต้องมีลักษณะที่ทั้งแพร่ระบาดรวดเร็วกว้างขวาง และสร้างการเจ็บป่วยที่มีอาการมาก หรือดื้อต่อวัคซีน
แต่จะมีไวรัสจำนวนมาก ที่แพร่ระบาดไม่รวดเร็วกว้างขวาง ก็จะไม่ได้รับความสนใจจากมนุษย์ ขณะเดียวกันไวรัสที่ก่ออาการรุนแรง แต่ไม่ได้แพร่ระบาดรวดเร็วกว้างขวาง ก็จะไม่มีความสำคัญกับมนุษยชาติเช่นกัน
การพิจารณาลักษณะเด่นของไวรัสสามประการ จะทำให้สามารถคาดการณ์การกลายพันธุ์ของไวรัสได้ว่า จะมีผลกระทบกับมนุษยชาติอย่างไรบ้าง
-
ความสามารถในการแพร่ระบาด (Transmissibility) ว่ารวดเร็ว กว้างขวางมากเพียงใด
-
การก่อโรคที่สร้างอาการรุนแรงในมนุษย์ (Severity of Disease)
-
การดื้อต่อวัคซีน (Effectiveness of Vaccine)
ในฉากทัศน์ (Scenario) ที่ดีที่สุดสำหรับมนุษยชาติ ก็คือ ไวรัสจะต้องมีการแพร่ที่รวดเร็วกว้างขวางมากในประเด็นที่หนึ่ง ต้องรวดเร็วกว้างขวางมากเพียงพอที่จะครอบคลุมทุกสายพันธุ์ จนเหลือเป็นสายพันธุ์เดียว และต้องโชคดี ไวรัสไม่ก่อให้เกิดอาการเลย เป็นการติดเชื้อแบบไม่แสดงอาการ
ส่วนประเด็นดื้อแต่วัคซีนหรือไม่ จะไม่มีความสำคัญหรือจำเป็น ถ้าไวรัสโอไมครอนมีประเด็นที่หนึ่งคือแพร่ระบาดกว้างขวางครอบคลุมทั้งโลก และมีประเด็นที่สองคือไม่รุนแรงไม่มีอาการ ประเด็นที่สามเรื่องดื้อแต่วัคซีนก็จะไม่ใช่ประเด็นสำคัญ
เมื่อไวรัสโอไมครอนระบาดจนแซงเดลต้าสำเร็จแล้ว แต่ตัวเองไม่มีความรุนแรงไม่ก่อให้เกิดอาการ โควิดจะยุติลงโดยสมบูรณ์ ส่วนถ้าเป็นกรณีอื่น ก็จะมีความรุนแรงผลกระทบต่อมนุษยชาติแตกต่างกันออกไป แม้ไวรัสโอไมครอนจะไม่เป็นไปในทางดีที่สุด แต่ในอนาคตก็อาจจะมีไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์ใดสายพันธุ์หนึ่ง ที่มีลักษณะดังกล่าว โควิดก็จะยุติลงได้ โดยที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องวัคซีนหรือภูมิคุ้มกันหมู่แต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม การเร่งวิจัยพัฒนาวัคซีนให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ หรือการที่มีการติดเชื้อมากพอจนเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ก็ยังเป็นอีกหนึ่งฉากทัศน์ที่จะทำให้โรคระบาดโควิดยุติลงได้เช่นกัน
ต้องลุ้นและติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดกันต่อไปว่า โควิดจะยุติลงด้วยฉากทัศน์แบบใด ระหว่างไวรัสกลายพันธุ์แพ้ภัยตนเองจนไม่ก่อโรค หรือมนุษยชาติวิจัยพัฒนาวัคซีนจนป้องกันได้สำเร็จ หรือไวรัสระบาดมาก จนมนุษย์สร้างภูมิคุ้มกันหมู่สำเร็จ ตรงนี้เป็นการมองด้วยความรู้ทางวิชาการ