"...สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อกรณี “คนไทยกับเทศกาลลอยกระทงในยุคโควิด-19” พบว่า กรณีที่นายกฯ อนุมัติให้จัดงานลอยกระทงในปีนี้ได้ประชาชนก็ยังรู้สึกกังวลเรื่องโควิด-19 กลัวเกิดคลัสเตอร์ใหม่ ร้อยละ 60.04 ยังไม่สนใจไปร่วมเทศกาลลอยกระทง ร้อยละ 43.94 ไม่แน่ใจ ร้อยละ 30.68..."
สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อกรณี “คนไทยกับเทศกาลลอยกระทงในยุคโควิด-19” กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,139 คน สำรวจระหว่างวันที่ 6-12 พฤศจิกายน 2564 พบว่า กรณีที่นายกฯ อนุมัติให้จัดงานลอยกระทงในปีนี้ได้ประชาชนก็ยังรู้สึกกังวลเรื่องโควิด-19 กลัวเกิดคลัสเตอร์ใหม่ ร้อยละ 60.04 ยังไม่สนใจไปร่วมเทศกาลลอยกระทง ร้อยละ 43.94 ไม่แน่ใจ ร้อยละ 30.68 ถ้าได้ไปลอยกระทงจะลอยกระทงออนไลน์ ร้อยละ 33.50 รองลงมาคือ ใช้กระทงวัสดุธรรมชาติ ร้อยละ 26.99 โดยยังไม่ค่อยมั่นใจต่อมาตรการป้องกันโควิด-19 ในเทศกาลลอยกระทงปีนี้ ร้อยละ 40.86 อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีมาตรการป้องกันโควิด-19 อย่างเข้มงวด ร้อยละ 86.82 สิ่งที่แตกต่างของการลอยกระทงในปีนี้กับปีที่ผ่านๆมา คือ งดเว้นการไปสถานที่แออัด ร้อยละ 68.04 และสิ่งที่อยากลอยไปกับกระทงในปีนี้ คือ โควิด-19 ร้อยละ 87.84 รองลงมาคือ ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ ร้อยละ 59.10
สัญญาณการจัดงานรื่นเริงเริ่มชัดเจนมากขึ้นในหลายประเทศ จะเห็นได้จากบรรยากาศงานฮาโลวีนที่ผ่านมา ผู้คนเข้าร่วมอย่างครึกครื้นมีเงินสะพัดจำนวนมาก ดังนั้นการที่รัฐบาลไทยประกาศให้จัดงานลอยกระทงก็เพื่อกระตุ้นท่องเที่ยวและดันเม็ดเงินในช่วงสุดท้ายของปี โดยกำชับให้มีมาตรฐานสาธารณสุขที่เข้มงวดในการจัดงาน แต่ประชาชนก็ยังรู้สึก ไม่ค่อยมั่นใจและกังวลโควิด-19 ทว่าผลโพลนั้นเป็นการสะท้อนความรู้สึกของประชาชนในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น เพราะเมื่อพิจารณาจากการออกมาใช้ชีวิตของประชาชนตามสถานที่ต่าง ๆ ก็พบว่ามีมากขึ้น จึงต้องรอดูกันว่าในช่วงเทศกาล ลอยกระทงไปจนถึงปีใหม่จะคักคักหรือไม่เพียงใด
“คนไทยกับเทศกาลลอยกระทงในยุคโควิด-19” จากผลสำรวจยังพบว่าประชาชนก็ยังรู้สึกกังวลเรื่องโควิด-19 กลัวเกิดคลัสเตอร์ใหม่ เนื่องด้วยจากสถานการณ์ที่ผ่านมาประชาชนยังประสบปัญหากับการระบาดของโควิด-19 กังวลการไปร่วมกิจกรรมในสถานที่ต่างๆ ซึ่งกิจกรรมการลอยกระทงรูปแบบออนไลน์นั้นได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นจากปีก่อนๆ โดยมีความคาดหวังอยากให้โรคระบาดในครั้งนี้ลอยไปกับกระทง ซึ่งผลสำรวจนี้แสดงให้เห็นว่า ประชายนยังให้ความสำคัญและสนใจในประเพณีลอยกระทง ซึ่งเป็นงานเทศกาลประเพณีดั้งเดิมของไทยที่มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่สวยงาม ประเพณีลอยกระทงนั้นมีมาแต่โบราณ โดยมีคติความเชื่อหลายอย่าง เช่น เชื่อว่าเป็นการบูชาและขอขมาแม่พระคงคา เป็นการสะเดาะเคราะห์ เป็นการบูชาพระเจ้าในศาสนาพราหมณ์ หรือเป็นการบูชารอยพระพุทธบาท เป็นต้น