‘หมอมนูญ’เผยตรวจคัดกรองเชิงรุกด้วย ATK ในคนไม่มีอาการ อาจมีผลเสียตามมามากกว่า เหตุมีความแม่นยำน้อยกว่าวิธี RT-PCR ไม่ได้ขึ้นกับชุดตรวจโควิดจะผ่าน อย.หรือไม่ แนะใช้เฉพาะรายที่มีอาการผิดปกติ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 9 พ.ย.2564 นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ หัวหน้าห้องไอซียู เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ ผู้ป่วยหนัก และโรคผู้สูงอายุ รพ.วิชัยยุทธ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC ระบุว่า ตนเองอยากอธิบายง่ายๆว่าทำไมการตรวจเชิงรุกค้นหาคนที่ยังไม่มีอาการ ว่าติดเชื้อไวรัสโควิดด้วยวิธีการตรวจแบบรวดเร็ว ATK ไม่ค่อยมีประโยชน์ อาจมีผลเสียตามมามากกว่า
ATK มีความแม่นยำ ความไวและความจำเพาะน้อยกว่าวิธีตรวจหารหัสพันธุกรรม RT-PCR มาก คนติดเชื้อไวรัสโควิด เมื่อตรวจ ATK ให้ผลเป็นบวก ส่วนใหญ่จะพบช่วงที่มีอาการ เช่น มีไข้ ไอ น้ำมูก เจ็บคอ ส่วนน้อยมากๆ จะให้ผลเป็นบวก 1 วันก่อนมีอาการ
เพราะฉะนั้นถ้าตรวจ ATK คนที่ไม่มีอาการเลย แล้วให้ผลเป็นบวก โอกาสเป็นบวกปลอมจะมากกว่าบวกจริงเยอะมาก ทั้งนี้ไม่ได้ขึ้นกับชุดตรวจ ATK นั้นจะผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หรือไม่
ตรรกะที่ใช้ชุดตรวจเร็ว ATK มาคัดกรองคนไม่มีอาการ อาจไม่ถูกต้อง เช่นคัดกรองเด็กนักเรียนทุกสัปดาห์ ควรนำมาใช้ตรวจเมื่อเด็กหรือผู้ใหญ่มีอาการมากกว่า ถ้าพบว่าให้ผลบวก จึงยืนยันด้วยการตรวจ RT-PCR
ตนเองได้เห็นตัวอย่างของเด็กนักเรียนหลายคนที่ไม่มีอาการใน กทม.หลังตรวจ ATK เพื่อคัดกรองให้ผลบวก แต่ตรวจวิธี RT-PCR ให้ผลลบ ยืนยันว่าเป็นผลบวกปลอม แม้จะใช้ชุดตรวจ ATK ที่ผ่านการรับรองจาก อย.ก็ตาม
อนึ่งก่อนหน้านี้ นพ.มนูญ ได้โพสต์ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ชุดตรวจ ATK ณ วันที่ 8 พ.ย.2564 ว่า แต่ก่อนเราเคยเชื่อว่าการตรวจวินิจฉัยโรคโควิด โดยใช้ชุดตรวจแบบรวดเร็ว ATK บ่อยๆ มีประโยชน์ในการตรวจคัดกรอง สามารถแยกผู้ติดเชื้อที่ยังไม่มีอาการออกจากผู้ไม่ติดเชื้อ ช่วยลดการแพร่ระบาดของโรคโควิดได้ เราทราบดีว่าวิธีตรวจ ATK มีความความจำเพาะต่ำประมาณ 70% เท่านั้น หากตรวจได้ผลบวก จำเป็นต้องยืนยันด้วยการตรวจรหัสพันธุกรรม RT-PCR
แต่ปัจจุบันหลังเริ่มใช้งานจริง เราพบว่าการตรวจ ATK อาจไม่เหมาะที่จะนำมาใช้คัดกรองหาผู้ติดเชื้อในคนที่ไม่มีอาการ เพราะสร้างปัญหาใหม่ตามมามากมาย เสียทั้งเงิน ต้องตรวจซ้ำด้วย RT-PCR เสียเวลา สร้างความเครียด ความหวาดกลัว ตื่นตระหนกตกใจโดยไม่จำเป็น อาจเพิ่มจำนวนคนติดเชื้อ เพราะเอาคนที่ไม่ได้ติดเชื้อ ไปกักตัวอยู่ร่วมกับคนติดเชื้อโควิดในโรงพยาบาลสนาม เป็นต้น
อย่างกรณีโรงเรียนที่ จ.มุกดาหาร ตรวจ ATK ได้ผลบวกปลอมในเด็กและครูประมาณ 100 คน ทำให้ทุกคนถูกกักตัว บางคนถูกแยกตัวไปอยู่ในโรงพยาบาลสนาม โรงเรียนทำความสะอาดและฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ ปิดการเรียนการสอนชั่วคราวรวม 10 วัน ต่อมามีการส่งเก็บสิ่งส่งตรวจไปตรวจรหัสพันธุกรรม RT-PCR ซ้ำ ซึ่งผลออกมาเป็นลบ ไม่พบว่าคนไหนติดเชื้อ แสดงว่า ATK ให้ผลบวกปลอมเยอะมาก
ปกติแล้วผู้ที่ติดเชื้อต้องมีผลการตรวจเป็นบวก และผู้ที่ไม่ติดเชื้อต้องมีผลการตรวจเป็นลบ หากตรวจแล้วพบผลบวก ควรเป็นบวกจริง ทำให้ค่อนข้างมั่นใจว่าติดเชื้อสูง ไม่ใช่บวกปลอมเป็นจำนวนมากอย่างในโรงเรียน จ.มุกดาหาร ถึงเวลาแล้วเราควรพิจารณาแนวทางใหม่ในประเทศไทย ควรใช้ชุดตรวจ ATK เฉพาะในรายที่มีอาการผิดปกติ สงสัยว่าติดเชื้อ หรือมีความเสี่ยงที่รับเชื้อ เช่นมีประวัติใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ ไม่ใช่นำไปตรวจเชิงรุก คัดกรองคนที่ไม่มีอาการ และไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงอย่างที่กำลังทำขณะนี้ ประโยชน์ที่ได้ ไม่คุ้มกับความเสียหายที่เกิดขึ้น
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage