ครม.เห็นชอบร่าง พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดินฯ เวนคืน ‘ที่ดิน-สิ่งปลูกสร้าง’ เพิ่มเติม อีกกว่า 600 รายการ ตัดถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก 8 เลน เชื่อม ‘ถนนสุขาภิบาล 5-ถนนนิมิตใหม่’
.............................
เมื่อวันที่ 4 พ.ย. ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มติอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน เพื่อสร้างทางหลวงท้องถิ่น สายเชื่อมระหว่างถนนสุขาภิบาล 5 (ถนนรัตนโกสินทร์สมโภช) กับถนนนิมิตใหม่ พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ และให้ มท. รับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปถือปฏิบัติโดยเคร่งครัด และรับความเห็นของกระทรวงคมนาคมและสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการ
กระทรวงมหาดไทยรายงานว่า กทม. มีโครงการก่อสร้างทางหลวงท้องถิ่น สายเชื่อมระหว่างถนนรัตนโกสินทร์สมโภชกับถนนนิมิตใหม่ โดยเป็นการก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็กขนาด 8 ช่องจราจร (ไป-กลับ) ระยะทาง 9 กิโลเมตร กว้างประมาณ 60-80 เมตร จุดเริ่มต้นโครงการจากถนนสุขาภิบาล 5 และสิ้นสุดโครงการที่ถนนนิมิตใหม่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการก่อสร้างและขยายทางหลวงท้องถิ่นสายเชื่อมระหว่างถนนพหลโยธิน-ถนนรัตนโกสินทร์สมโภช-ถนนนิมิตใหม่
เมื่อก่อสร้างเสร็จจะเป็นเส้นทางเชื่อมต่อที่สำคัญ รวมทั้งเพิ่มโครงข่ายการจราจรในพื้นที่ กทม. ให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น อันจะทำให้ประชาชนสามารถเดินทางสู่ถนนสายหลักที่ใกล้เคียง ได้แก่ ถนนพหลโยธิน ถนนรามอินทรา ถนนสุวินทวงศ์ ทางพิเศษฉลองรัช และทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 ได้สะดวก ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรในเขต กทม. และปริมณฑล บรรเทาภาระการจราจรบนถนนสายหลัก และเพิ่มพื้นที่ถนนในเขตชานเมือง
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ได้จัดกรรมสิทธิ์ที่ดินตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนและการได้มา ซึ่งอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2562 เป็นที่ดิน 245 แปลง โรงเรือนสิ่งปลูกสร้าง 93 รายการ จำนวนเงินค่าทดแทน 2,021.36 ล้านบาท แต่เนื่องจากยังมีจำนวนอสังหาริมทรัพย์ที่จำเป็นจะต้องเข้าทำการสำรวจ เพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องได้มาโดยแน่ชัด เป็นที่ดินประมาณ 212 แปลง โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างประมาณ 407 รายการ
ดังนั้น กทม. จึงมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการสำรวจอสังหาริมทรัพย์เพื่อประโยชน์ในการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ เพื่อดำเนินการก่อสร้างทางหลวงท้องถิ่นสายเชื่อมระหว่างถนนสุขาภิบาล 5 (ถนนรัตนโกสินทร์สมโภช) กับถนนนิมิตใหม่ ในท้องที่แขวงท่าแร้ง เขตบางเขน แขวงคลองถนน แขวงออเงิน เขตสายไหม และแขวงสามวาตะวันตก แขวงสามวาตะวันออก เขตคลองสามวา กทม. ต่อไป
ขณะที่สำนักงบประมาณแจ้งว่า กทม. มีแผนการจัดกรรมสิทธิ์และการเบิกจ่ายค่าทดแทน ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี นับแต่วันที่ 23 มิ.ย.2564 ถึงวันที่ 22 มิ.ย.2569 ประมาณการค่าจัดกรรมสิทธิ์ จำนวน 4,216 ล้านบาท โดยใช้จ่ายจากงบประมาณของ กทม. ทั้งจำนวน ทั้งนี้ การดำเนินการจะต้องเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส และตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/