"...สวนดุสิตโพล สำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อกรณี ความเคลื่อนไหวของพรรคการเมือง พบว่า ประชาชนมองว่าการเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองต่าง ๆ ณ วันนี้ แสดงให้เห็นถึงความแตกแยกในพรรคการเมือง ร้อยละ 60.09 คิดว่าน่าจะมีการเลือกตั้ง ส.ส. ในต้นปี 2565..."
สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อกรณี ความเคลื่อนไหวของพรรคการเมือง กลุ่มตัวอย่าง 1,186 คน ระหว่างวันที่ 25-28 ตุลาคม 2564 พบว่า ประชาชนมองว่าการเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองต่าง ๆ ณ วันนี้ แสดงให้เห็นถึงความแตกแยกในพรรคการเมือง ร้อยละ 60.09 คิดว่าน่าจะมีการเลือกตั้ง ส.ส. ในต้นปี 2565 ร้อยละ 57.86 หากมีการเลือกตั้งใหม่ก็จะทำให้ได้เปลี่ยนรัฐบาล ร้อยละ 58.31 ถ้ามีการเลือกตั้งคิดว่าพรรคเพื่อไทยน่าจะได้คะแนนเสียงมากที่สุด ร้อยละ 32.94 รองลงมาคือ ก้าวไกล ร้อยละ 25.21 นายกรัฐมนตรีที่อยากได้ คือ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ร้อยละ 28.67 รองลงมาคือ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ร้อยละ 21.27 โดยภาพรวมประชาชนคิดว่าถึงเวลา แล้วที่จะเลือกตั้งใหม่ ร้อยละ 70.29
การขยับตัวของพรรคการเมืองทั้งพรรคเล็กพรรคใหญ่ในช่วงนี้ ดูเหมือนจะเป็นการเตรียมตัวรับการเลือกตั้งใหม่ ที่อาจจะเกิดขึ้นไวกว่ากำหนดเดิม ถึงแม้ประชาชนจะมองว่าการเคลื่อนไหวของแต่ละพรรคในช่วงนี้สะท้อนให้เห็นถึงความแตกแยกภายในพรรคและเป็นเพียงการสร้างกระแส แต่ก็ต้องยอมรับว่าฝ่ายประชาชนเองก็ลุ้นอยากให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว กระแสของพรรคเพื่อไทยยังคงไปได้ด้วยดี แต่กระแสนายกฯจากการสำรวจครั้งนี้กลับเป็นพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ที่มีกระแสดีมากขึ้น ต้องมารอดูกันว่าถ้ามีการเลือกตั้งจะมีการเปลี่ยนขั้วการเมืองได้จริงหรือไม่ เพราะการเมืองเป็นเรื่องที่ไม่แน่นอนเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา และทุกความเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองนั้นก็อยู่ในสายตาของประชาชนเสมอ
ความเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองไทยในช่วงเวลานี้ เช่น การลงพื้นที่ การประกาศตัวว่าที่ผู้สมัครสส. การประกาศตัวว่าที่นายกรัฐมนตรี ล้วนเป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นถึงการยุบสภาและจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ โดยความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังจากที่รัฐสภามีมติเห็นชอบวาระ 3 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสส. โดยกำหนดให้มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบแทนที่การใช้บัตรเลือกตั้งแบบ 1 ใบ รวมถึงมี สส.แบบแบ่งเขต 400 คน (จากเดิม 350 คน) และมี สส.บัญชีรายชื่อ 100 คน (จากเดิม 150 คน) ถึงแม้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีจะออกมายืนยันว่าไม่มีทางยุบสภา แต่การเมืองเป็นเรื่องที่ไม่แน่นอน ทุกสิ่งสามารถเกิดขึ้นได้ โดยตัวเร่งที่เป็นปัจจัยให้นายกรัฐมนตรี จะตัดสินใจยุบสภา คือเหตุภายในสภาเรื่องความแตกแยกภายในพรรคพลังประชารัฐที่ยากเกินจะเยียวยา ความไร้เสถียรภาพของพรรคร่วมรัฐบาล อุบัติเหตุทางการเมือง หรือเหตุภายนอกสภาที่อาจจะเป็นเหตุแทรกแซงได้ทุกเมื่อ