‘วิจัยกรุงศรี’ ชี้ท่องเที่ยวยังไม่ฟื้น แม้รัฐบาลไฟเขียวเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยไม่ต้องกักตัว เหตุประเทศต้นทางกำหนดไทยเป็นพื้นที่เสี่ยง ระบุไตรมาส 4 มีเม็ดเงินภาครัฐ 1 แสนล้านกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่ EIC คาดส่งออกปี 64 โต 15%
...............................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 26 ต.ค. วิจัยกรุงศรี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เผยแพร่บทวิเคราะห์ประจำสัปดาห์ โดยระบุว่า แม้ว่าทางการมีนโยบายเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยไม่ต้องกักตัว พร้อมยกเลิกเคอร์ฟิวในพื้นที่นำร่องเที่ยว 17 จังหวัด ซึ่งรวมกรุงเทพมหานคร ในช่วงต้นเดือนพ.ย.นี้ และล่าสุดอนุญาตให้เปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยไม่ต้องกักตัวแล้ว 46 ประเทศ
อย่างไรก็ตาม วิจัยกรุงศรีคาดว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะยังไม่ได้เข้ามาทันทีทันใด เนื่องจากยังมีหลายปัจจัยที่ส่งผลต่อนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมา อาทิ นโยบายของประเทศต้นทางที่ยังกำหนดให้ไทยเป็นพื้นที่เสี่ยงมีการระบาดสูง อาจต้องกักตัวเมื่อกลับประเทศ จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ของไทยยังทรงตัวในระดับสูง และความกังวลการกลายพันธุ์ของไวรัสซึ่งอาจส่งผลต่อความเชื่อมั่น
“วิจัยกรุงศรีคาดว่ากิจกรรมท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศในสิ้นปีนี้จะยังอยู่ต่ำกว่าระดับช่วงก่อนเกิดวิกฤต COVID-19 อยู่ที่ 58% ซึ่งต่ำมากเมื่อเทียบกับกิจกรรมทางด้านผลผลิตภาคอุตสาหกรรมและการค้าปลีกที่สิ้นปีนี้จะกลับมาอยู่ที่ 95% และ 92% ของระดับก่อนเกิดวิกฤต COVID-19 ตามลำดับ มาตรการเพิ่มกำลังซื้อของภาครัฐจึงเป็นปัจจัยบวกที่จะช่วยหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังมีความเปราะบาง” บทวิเคราะห์ระบุ
วิจัยกรุงศรี ระบุว่า จากกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติการใช้เงินกู้จากพ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท วงเงิน 54,506 ล้านบาท สำหรับมาตรการเพิ่มกำลังซื้อในช่วงเดือนพ.ย.-ธ.ค. ผ่านโครงการสำคัญ ได้แก่ โครงการคนละครึ่งระยะที่ 3 ,โครงการยิ่งใช้ ยิ่งได้ และโครงการช่วยเหลือค่าครองชีพผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและกลุ่มเปราะบาง
เมื่อรวมกับมาตรการที่ออกมาก่อนหน้าทั้งมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ วงเงินกว่า 1 หมื่นล้านบาท กับมาตรการรักษาระดับการจ้างงานให้แก่ธุรกิจ SMEs วงเงิน 3.75 หมื่นล้านบาทแล้ว โดยรวมแล้วในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ จึงมีเม็ดเงินจากมาตรการภาครัฐหมุนเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท
วิจัยกรุงศรี ยังระบุว่า การที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศผ่อนคลายหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่ออื่นที่เกี่ยวเนื่องกับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (มาตรการ LTV) โดยกำหนดให้เพดานอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV ratio) เป็นร้อยละ 100 (กู้ได้เต็มมูลค่าหลักประกัน) สำหรับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ซึ่งรวมสินเชื่ออื่นนอกเหนือจากเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยและมีที่อยู่อาศัยนั้นเป็นหลักประกันหรือสินเชื่อ Top-up นั้น
นับเป็นอีกหนึ่งมาตรการที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม โดยเน้นการดึงเงินออมส่วนเกิน (excess saving) ของผู้มีกำลังในการใช้จ่าย และสนับสนุนความต้องการซื้อที่อั้นไว้ให้กลับมาเพิ่มขึ้นได้เร็วขึ้น ผ่านการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ที่มีธุรกิจเกี่ยวเนื่องทั้งต้นน้ำและปลายน้ำอยู่จำนวนมาก และเป็นภาคที่มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยคิดเป็นสัดส่วนราว 9.8% ของ GDP รวมถึงมีการจ้างงานอยู่กว่า 2.8 ล้านคน
“เบื้องต้นธปท.ประเมินว่าในช่วงที่มาตรการ LTV มีผลบังคับใช้ผนวกกับมาตรการอื่นๆ ที่ทางการกำลังพิจารณาการต่ออายุ อาทิ การลดค่าโอน และค่าจดจำนองต่างๆ นั้นแล้ว อาจจะช่วยสร้างเม็ดเงินจากการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้ราว 5 หมื่นล้านบาท และจะช่วยให้ภาคอสังหาฯ ที่มีแนวโน้มฟื้นตัวได้ช้ากว่าเศรษฐกิจโดยรวม สามารถกลับมากระเตื้องขึ้นได้บ้าง” วิจัยกรุงศรีระบุ
ด้าน EIC (Economic Intelligence Center) ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้ออกบทวิเคราะห์ฉบับล่าสุด โดยระบุว่า แม้ว่าการส่งออกไทยในเดือน ก.ย.2564 ที่ขยายตัวที่ 17.1% นั้น เป็นสิ่งที่สะท้อนถึงการฟื้นตัวของภาคส่งออกไทย ตามการแพร่ระบาดโควิด-19 ของโลกที่ปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้อุปสงค์มีการฟื้นตัว แต่ปัญหาเงินเฟ้อที่เร่งตัวจากการปรับเพิ่มขึ้นของราคาพลังงานยังเป็นปัจจัยกดดันที่ต้องจับตามองในระยะต่อไป
“แม้การส่งออกจะฟื้นตัวจากสถานการณ์ COVID-19 ที่ปรับดีขึ้น แต่จะยังเผชิญกับปัจจัยกดดันใหม่ในช่วงที่เหลือของปีจากการปรับขึ้นของราคาพลังงานที่นำไปสู่การเร่งขึ้นของอัตราเงินเฟ้อทั่วโลก ซึ่งอาจส่งผลทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภค โดยเฉพาะในประเทศที่พึ่งพาการนำเข้าพลังงานปรับชะลอลงในระยะสั้น นอกจากนี้ ยังต้องจับตาเศรษฐกิจจีนที่มีความเสี่ยงจากวิกฤตพลังงานและภาคอสังหาริมทรัพย์จากกรณี Evergrande ซึ่งอาจกระทบต่อการส่งออกสินค้าของไทยไปจีนในช่วงที่เหลือของปีได้” EIC ระบุ
EIC ระบุว่า แม้การส่งออกไทยยังมีปัจจัยกดดันหลายประการในช่วงที่เหลือของปี 2564 แต่ EIC ยังคงคาดการณ์ว่าการส่งออกไทยปี 2564 จะขยายตัวที่ 15% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (ตัวเลขการส่งออกในระบบดุลการชำระเงิน) เนื่องจากข้อมูลการส่งออกล่าสุดยังสอดคล้องกับคาดการณ์เดิม ที่มองไว้ว่าการส่งออกในช่วงที่เหลือของปี จะฟื้นตัวจากช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค. ที่เป็นช่วงที่มีการระบาดหนักของสายพันธุ์เดลตาทั่วโลก
สำหรับในปี 2565 EIC ประเมินว่า การส่งออกไทยยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องที่ 4.7% ตามเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง ทั้งนี้ การส่งออกไปยังประเทศกำลังพัฒนา จะมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีในปีหน้าตามการเร่งตัวของเศรษฐกิจที่จะได้ผลดีจากความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนที่เพิ่มขึ้น
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage