ACT ผนึก 14 องค์กรฯ ระดมไอเดีย ขับเคลื่อนข้อตกลงคุณธรรม จี้เปิดเผยข้อมูลให้รับรู้โดยตรง เพื่อการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เพิ่มความโปร่งใส
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2564 โครงการข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Zoom meeting) เรื่องการสร้างความโปร่งใสการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐด้วยข้อตกลงคุณธรรม มีนายวิชัย อัศรัสกร รองประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เป็นประธาน เพื่อระดมความคิดเห็นจากหลาย ๆ มุมมอง จากการดำเนินงานโครงการข้อตกลงคุณธรรม และการทำหน้าที่ของผู้สังเกตการณ์ รวบรวมปัญหาและอุปสรรค พร้อมนำเสนอวิธีแก้ไข และนำผลลัพธ์มาประยุกต์สร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน โดยมีผู้แทนจาก 14 องค์กร ร่วมประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ได้แก่ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ,โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) , สภาวิศวกร (COE), บริษัทแฮนด์วิสาหกิจเพื่อสังคมจำกัด (HAND), สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD), กรมบัญชีกลาง, สำนักงาน ป.ป.ช., สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, ผู้สังเกตการณ์ , สำนักข่าวอิศรา , สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) , สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
นายวิชัย อัศรัสกร รองประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวว่า ขอขอบคุณผู้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นจากทั้ง 14 องค์กร และจะนำไปขยายผลในเวทีระดมความร่วมมือแผนปฏิบัติการธรรมาภิบาลเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Main Forum) ในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2564 ซึ่งจะมีประเด็นการสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ในโครงการข้อตกลงคุณธรรม และโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ CoST เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมที่เป็นรูปธรรมมากที่สุด เท่าที่เคยมีการกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฯ รวมถึงคณะกรรมการ ค.ป.ท. ที่เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการทำงาน นอกจากการป้องกันการทุจริตแล้วยังเป็นการเสริมประสิทธิภาพการทำงานของภาครัฐ ที่เป็นการมุ่งเน้นความคุ้มค่า ความมีคุณภาพ และความสำเร็จ ขนาดนี้ต้องขอชื่นชมภาครัฐและภาคประชาชน ขอบคุณกรมบัญชีกลางที่เป็นหัวใจสำคัญ ที่เกิดความสำเร็จในการทำงานร่วมกันระหว่างภาคประชาชน และภาครัฐ ที่มีกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้อง
สำหรับข้อเสนอที่น่าสนใจในการประชุม ประกอบด้วย
1. การเปิดเผยข้อมูล เพื่อการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ทำอย่างไรจะสามารถเปิดเผยข้อมูลให้กับประชาชนรับรู้ได้โดยตรง กลไกการเพิ่มความโปร่งใสโดยให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น การสร้างมาตรฐานว่าข้อมูลใดควรเปิดเผย และถ้าจะเปิดควรเปิดอย่างไร ซึ่งภาครัฐต้องเปิดเผยให้ประชาชนเข้าถึง เพราะหัวใจหลักของข้อตกลงคุณธรรม คือ การสร้างความโปร่งใส และการมีส่วนร่วมของประชาชน และทุกภาคส่วน
2. การนำข้อตกลงคุณธรรมไปขยายขอบเขตนอกเหนือ พ.ร.บ. การจัดซื้อจัดจ้างตามมติ ครม. ซึ่งครอบคลุมไปถึงกฎหมายอื่น เช่น พ.ร.บ. การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนฯ พ.ร.บ. รักษาความสะอาดฯ พ.ร.บ. เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกฯ ต้องดำเนินการให้มีรูปแบบและทำเป็นมาตราฐานเดียวกันกับข้อตกลงคุณธรรมที่อยู่ภายใต้ พ.ร.บ. จัดซื้อจัดจ้าง
ล่าสุดมีมติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 29 มิถุนายน 2564 ให้นำข้อตกลงคุณธรรมไปใช้ในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โครงการความร่วมมือภาครัฐและภาคเอกชน (PPP) ไปใช้โดยอนุโลม และ ACT ได้รับคัดเลือกจากคณะกรรมการความร่วมมือการป้องกันการทุจริต (คณะกรรมการ ค.ป.ท.) ให้เป็นองค์กรที่ได้รับมอบหมายทำหน้าที่อีก 3 ปี ซึ่งกลไกนี้เป็นสมบัติของชาติ เป็นสิ่งที่เราสร้างด้วยกันและเป็นสิ่งที่เราสร้างขึ้นมา และจะพัฒนาให้เป็นสิ่งที่ยั่งยืนต่อไป
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage