รองโฆษกตำรวจแจงข้อสรุปแนวทางแก้ปัญหา ปมถูกดูดเงินออกจากบัญชี หลังประชุมหารือหลายหน่วยงาน เร่งช่วยเหลือเหยื่อกว่า 1 หมื่นราย รวมความเสียหายกว่า 100 ล้านบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 19 ต.ค.2564 พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวชี้แจงถึงข้อสรุปการดำเนินการของผู้ที่ได้รับความเสียหายจากกรณีถูกหักเงินออกจากบัญชีของธนาคารหลายครั้งโดยไม่ทราบสาเหตุ จากกรณีมีการหักเงินจากบัญชีธนาคาร บัตรเดบิต และบัตรเครดิต โดยที่เจ้าของไม่ทราบ ซึ่งทาง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้มีความห่วงใย และกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด ในการดำเนินการสืบสวนสอบสวนหาตัวผู้กระทำผิด และอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการแจ้งความดำเนินคดี
พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้สนองนโยบายของนายกรัฐมนตรี โดยได้สั่งการให้ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ประชุมหารือร่วมกับสมาคมธนาคารไทย, ธนาคารแห่งประเทศไทย, กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, สำนักงานคณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เพื่อร่วมกันวางแผนป้องกันแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง โดยได้จัดให้มีการประชุมเมื่อเวลา 10.00 น. ของวันที่ 19 ต.ค. 2564 และได้ข้อสรุปดังนี้
1. ในขณะนี้ได้รับรายงานจากทางสมาคมธนาคารไทยและธนาคารแห่งประเทศไทย เบื้องต้นบัตรเครดิตที่ได้รับผลกระทบจำนวน 5,700 ใบ และบัตรเดบิต จำนวน 4,800 ใบ มูลค่าความเสียหายรวมกว่า 100 ล้านบาท
2. เฉพาะผู้เสียหายจากกรณีนี้ ทางธนาคารที่เกี่ยวข้องจะรับเป็นตัวแทนผู้เสียหายมาดำเนินการร้องทุกข์กับ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท) เพื่อดำเนินคดีดังกล่าวอย่างถึงที่สุด โดยที่ผู้เสียหาย ไม่ต้องมาแจ้งความร้องทุกข์กับเจ้าหน้าที่ตำรวจเองแต่อย่างใด ซึ่งทางเลขาธิการสมาคมธนาคารไทยได้กล่าวว่า ขอให้ผู้เสียหายแจ้งไปยังธนาคารเจ้าของบัญชีที่ได้รับความเสียหาย จากนั้นทางธนาคารจะดำเนินการตรวจสอบตามขั้นตอนว่าบัญชีนั้น ได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดจริงในกรณีนี้ และจะติดต่อกลับเพื่อคืนเงินในส่วนที่ได้รับความเสียหายภายใน 5 วันหลังจากตรวจสอบเสร็จ สำหรับผู้ที่แจ้งความร้องทุกข์ไปแล้ว ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจะประสานไปยังธนาคารที่เกี่ยวของเพื่อดำเนินคดีและให้ผู้เสียหายได้รับการเยียวยาต่อไป
3. ได้มีการจัดตั้งตัวแทนผู้ประสานงาน (Contact person) ของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การดำเนินคดี รวมถึงการเยียวยา เป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
4. ขอฝากเตือนไปยังผู้ที่รับจ้างเปิดบัญชี ซื้อขายบัญชี หรือบัญชีม้า ว่าหากมีการนำบัญชีไปใช้กระทำความผิด ท่านจะมีความผิดในฐานะการเป็นผู้ร่วมกระทำความผิดหรือผู้สนับสนุนการกระทำความผิด มีโทษสองในสามส่วนของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นๆ และยังเป็นความผิดฐานฟอกเงิน ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี ปรับตั้งแต่ 10,000-200,000 บาท ซึ่งทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะมีการตรวจสอบอย่างจริงจัง เพื่อนำตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมาย
5. ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้เน้นย้ำให้พนักงานสอบสวนทุกสถานีตำรวจทั่วประเทศ รับแจ้งความคดีที่เกิดขึ้นบนอินเตอร์เน็ตทุกรูปแบบ (ที่ไม่เกี่ยวข้องกับคดีนี้) และดำเนินการเบื้องต้นไม่ว่าจะเป็น การลงบันทึกประจำวัน สอบปากคำ ออกเอกสารเพื่อขอพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง และประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการต่อไป
พ.ต.อ.กฤษณะ กล่าวอีกว่า จากกรณีดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือสื่อสังคมออนไลน์ ส่งผลกระทบร้ายแรง กระจายในวงกว้างอย่างรวดเร็ว และเป็นภัยที่ใกล้ตัวกว่าที่คิด จึงขอให้ประชาชนระมัดระวังและใช้วิจารณญาณในการทำธุรกรรมออนไลน์ต่างๆ ให้มากยิ่งขึ้น เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ และขอให้ติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด เพื่อจะได้รู้ทันกลโกงของเหล่ามิจฉาชีพ
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/