ครม.เห็นชอบร่างประกาศสำนักนายกฯ หลักเกณฑ์และวิธีตรวจสอบประวัติ-พฤติการณ์บุคคล ของเจ้าหน้าที่รัฐที่เข้าถึงความลับราชการ-มีภารกิจเกี่ยวกับทรัพย์สินของแผ่นดิน ชี้หากพ้นหน้าที่แล้วต้องลงนาม 'บันทึกรับรอง' การรักษาความลับด้วย
...........................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 12 ต.ค. ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการตรวจสอบประวัติและพฤติการณ์บุคคล และการกำหนดแบบเอกสารที่ใช้ในการรักษาความปลอดภัยตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2552 และแบบประวัติบุคคล (รปภ.1) ที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ขอแก้ไข
สาระสำคัญของร่างประกาศฯฉบับดังกล่าว เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมให้ “ผู้ถูกตรวจสอบประวัติและพฤติการณ์บุคคล” เป็น “เจ้าของประวัติ” กรอกรายละเอียดในแบบประวัติบุคคล โดยกำหนดให้หน่วยงานของรัฐจัดให้มีการตรวจสอบประวัติและพฤติการณ์บุคคล ซึ่งได้แก่ ผู้ที่อยู่ระหว่างรอว่าจ้าง บรรจุ หรือแต่งตั้งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือผู้ที่จะได้รับความไว้วางใจให้เข้าถึงสิ่งที่เป็นความลับของทางราชการหรือให้ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวข้องกับภารกิจที่สำคัญหรือทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน
ทั้งนี้ บุคคลเจ้าของประวัติต้องกรอกรายละเอียดในแบบประวัติบุคคล (รปภ.1) ให้ครบถ้วน และอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของเจ้าหน้าที่ควบคุมการรักษาความปลอดภัย หรือเจ้าหน้าที่ผู้ช่วยควบคุมการรักษาความปลอดภัยในหน่วยงานของรัฐนั้น
พร้อมทั้งเพิ่มกระบวนการในการตรวจสอบประวัติและพฤติการณ์ จากเดิมให้ดำเนินการตรวจสอบพิมพ์ลายนิ้วมือ โดยเพิ่มเติมให้ดำเนินการพิสูจน์ยืนยันตัวบุคคลด้วยวิธีการอื่นได้ในกรณีที่ไม่สามารถตรวจสอบลายนิ้วมือได้ โดยกำหนดให้หน่วยงานของรัฐเจ้าของเรื่องทำหนังสือถึงหน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจสอบประวัติและพฤติการณ์ของบุคคล เพื่อดำเนินการพิมพ์ลายนิ้วมือและตรวจสอบลายพิมพ์นิ้วมือ
ส่วนกรณีที่ไม่สามารถตรวจสอบลายนิ้วมือได้ ให้ดำเนินการด้วยวิธีอื่น ในการนี้ให้มีการตรวจสอบประวัติการต้องหาคดีอาญาด้วย ซึ่งอาจตรวจสอบจากหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง แล้วแจ้งผลการดำเนินการถึงหน่วยงานของรัฐเจ้าของเรื่องโดยตรง ทั้งนี้ ให้องค์การรักษาความปลอดภัยร่วมกันพิจารณาวางแนวทางการตรวจสอบพฤติการณ์ เพื่อให้หน่วยงานของรัฐรับไปดำเนินการเป็นการทั่วไปได้ โดยอาจเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมพิจารณาได้
อย่างไรก็ตาม หากผลการตรวจสอบปรากฏว่า บุคคลเจ้าของประวัติมีความผิด หรือมีผลของคดี หรือมีพฤติการณ์ที่ไม่เหมาะสมหรือมีผลกระทบต่อการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ ให้หน่วยงานของรัฐพิจารณาผลการตรวจสอบว่าจะสั่งบรรจุ แต่งตั้ง หรือว่าจ้าง หรือให้บุคคลนั้นพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ และให้ดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป
ร่างประกาศฯฉบับดังกล่าว ยังกำหนดให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมการตรวจสอบประวัติและพฤติการณ์บุคคลโดยละเอียด และให้รวมถึงบุคคลที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน
รวมทั้งกำหนดเพิ่มเติมว่า ในกรณีที่มีความจำเป็น องค์การรักษาความปลอดภัย อาจประสานกับหน่วยงานของรัฐ เพื่อตรวจสอบประวัติและพฤติการณ์โดยละเอียดของบุคคล ที่จะบรรจุเข้ารับราชการ หรือว่าจ้าง หรือมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ในภารกิจหรือตำแหน่งที่สำคัญหรือเข้าถึงสิ่งที่เป็นความลับของทางราชการและทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน หรือบุคคลที่มีพฤติการณ์ที่จะเป็นภัยต่อความมั่นคงและผลประโยชน์แห่งรัฐได้ตามความเหมาะสม
นอกจากนี้ ร่างประกาศฯ ได้กำหนดให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการให้มีการรับรองความไว้วางใจแก่เจ้าหน้าที่ในสังกัดตามระดับความไว้วางใจตามแบบ รปภ.4 และจัดให้มีทะเบียนความไว้วางใจตามแบบ รปภ.5 รวมทั้งกำหนดให้บุคคลใดเมื่อพ้นจากภารกิจหรือตำแหน่งหน้าที่เกี่ยวกับความลับของทางราชการ ให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการให้บุคคลนั้นลงชื่อในบันทึกรับรองการรักษาความลับ เมื่อพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ในภารกิจหรือตำแหน่งหน้าที่ตามแบบ รปภ.6
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage