ครม.อนุมัติ 166 ล้านบาท เยียวยา ‘แท็กซี่-มอเตอร์ไซค์รับจ้าง’ อายุเกิน 65 ปี ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัด กว่า 1.66 หมื่นคน รายละ 5,000-10,000 บาท จ่ายผ่าน 'พร้อมเพย์' ภายในเดือนพ.ย.นี้
............................
เมื่อวันที่ 12 ต.ค. นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบโครงการช่วยเหลือกลุ่มอาชีพผู้ขับรถยนต์รับจ้าง (รถแท็กซี่) และรถจักรยานยนต์สาธารณะที่มีอายุเกิน 65 ปี ที่อยู่ในกลุ่มแรงงานนอกระบบและไม่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัด แบ่งเป็น ผู้ขับรถยนต์รับจ้าง (รถแท็กซี่) 12,918 คน และผู้ขับรถจักรยานยนต์สาธารณะ 3,776 คน รวม 16,694 คน โดยจะสนับสนุนเงินช่วยเหลือค่าครองชีพ คนละ 5,000 บาทต่อเดือน
สำหรับกลุ่มเป้าหมายที่อยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (พื้นที่สีแดงเข้ม) 13 จังหวัด (กรุงเทพมหานคร ,นครปฐม ,นนทบุรี ,ปทุมธานี ,สมุทรปราการ ,สมุทรสาคร ,ฉะเชิงเทรา ,ชลบุรี ,พระนครศรีอยุธยา,นราธิวาส ,ปัตตานี ,ยะลา ,สงขลา) จะได้รับการสนับสนุนเงินช่วยเหลือค่าครองชีพเป็นระยะเวลา 2 เดือน หรือรายละ 10,000 บาท
ส่วนพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 16 จังหวัดเพิ่มเติม (กาญจนบุรี ,สมุทรสงคราม ,สุพรรณบุรี ,เพชรบุรี ,ประจวบคีรีขันธ์ ,ราชบุรี ,อ่างทอง ,นครนายก ,ปราจีนบุรี ,ลพบุรี ,ระยอง ,สิงห์บุรี ,สระบุรี ,นครราชสีมา ,เพชรบูรณ์ และตาก) สนับสนุนเงินช่วยเหลือค่าครองชีพระยะเวลา 1 เดือน หรือรายละ 5,000 บาท
นายธนกร กล่าวว่า กรมการขนส่งทางบกจะเปิดให้มีการลงทะเบียนตามหลักเกณฑ์ของโครงการฯ และดำเนินการตรวจสอบข้อมูลผู้ประกอบอาชีพขับรถยนต์รับจ้าง (รถแท็กซี่) และรถจักรยานยนต์สาธารณะ ที่มีอายุเกิน 65 ปี จากฐานข้อมูลใบอนุญาตขับรถยนต์สาธารณะ (รถแท็กซี่) และใบอนุญาตขับ รถจักรยานยนต์สาธารณะ
สำหรับกลุ่มผู้ขับรถแท็กซี่เช่าที่ไม่สามารถตรวจสอบพื้นที่ให้บริการได้ จะต้องทำการตรวจสอบยืนยันตัวตนก่อน เช่น ให้นิติบุคคลรถเช่า/สหกรณ์แท็กซี่เป็นผู้รับรอง เป็นต้น ซึ่งกรมการขนส่งทางบกจะจ่ายเงินด้วยวิธีการโอนผ่านบัญชีพร้อมเพย์ (Promptpay) เฉพาะการผูกบัญชีกับเลขบัตรประจำตัวประชาชน หรือตามวิธีการอื่นที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด คาดว่าจะจ่ายเงินรอบแรกระหว่างวันที่ 8-12 พ.ย.2564 และจ่ายเงินรอบที่ 2 ระหว่างวันที่ 22-26 พ.ย.2564
“โครงการฯ ดังกล่าวจะช่วยรักษาคุณภาพชีวิตของกลุ่มผู้ประกอบอาชีพขับรถยนต์รับจ้างและรถจักรยานยนต์สาธารณะ ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พร้อมทั้งเป็นการช่วยกระตุ้นระบบเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ เนื่องจากระบบการขนส่งสาธารณะเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนให้เกิดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อเป็นการรักษาไว้ซึ่งระบบนิเวศน์ธุรกิจด้านการขนส่งด้วยรถสาธารณะ ที่จะส่งผลให้ประชาชนยังคงได้ใช้บริการรถสาธารณะที่มีคุณภาพ มีความครอบคลุมในพื้นที่อย่างปลอดภัยต่อไป” นายธนกรฯ กล่าว
ด้าน น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบโครงการสินเชื่อ EXIM Biz Transformation Loan วงเงินสินเชื่อ 5,000 ล้านบาท และอนุมัติงบประมาณ 575 ล้านบาท แก่ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) เพื่อดำเนินโครงการดังกล่าวตั้งแต่วันนี้–31 ก.ค.2565 ส่วนวงเงินสินเชื่อของโครงการ 5,000 ล้านบาท นั้น ธสน. จะระดมทุนจากการออกตั๋วสัญญาใช้เงิน และการกู้ยืมเงินในตลาดการเงิน
ทั้งนี้ โครงการสินเชื่อ EXIM Biz จะเป็นสนับสนุนการให้สินเชื่อให้ผู้ประกอบการรายละไม่เกิน 100 ล้านบาท ระยะเวลาการให้กู้ยืมไม่เกิน 7 ปี คิดอัตราดอกเบี้ยปีที่ 1-2 คงที่ร้อยละ 2 ปีที่ 3-5 Prime Rate - ร้อยละ 2 และปีที่ 6-7 Prime Rate (ปัจจุบัน ณ 30 ก.ค 64 อัตราดอกเบี้ย Prime Rate อยู่ที่ร้อยละ 5.75) เพื่อใช้ในการปรับปรุงเครื่องจักรหรือลงทุนในเครื่องจักรใหม่ และเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิต รวมทั้งปรับปรุงระบบ Software ดิจิทัลใภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้ประกอบการทุกขนาดธุรกิจ (S/M/L) ที่อยู่ในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม
โดยเน้นอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (S-Curve) และอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เช่น อุตสาหกรรมแปรรูปอาหารและเกษตรแปรรูป อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อตุสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมอนาคต เช่น หุ่นยนต์เพื่อุตสาหกรรม อุตสาหกรรมดิจิทัล อตุสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ เป็นต้น
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/