กรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศฉบับที่ 13 เตือนภาคอีสานมีฝนเพิ่ม จากอิทธิพลพายุ 'ไลออนร็อก' ขณะที่ภาคใต้เจอมรสุมทำให้มีฝนตกหนักบางแห่ง จับตาพายุ อีกลูก 'คมปาซุ' จ่อติด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 9 ต.ค.2564 กรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศฉบับที่ 13 ผ่านเฟซบุ๊ก กรมอุตินิยมวิทยา ระบุว่า พายุโซนร้อน 'ไลออนร็อก' มีศูนย์กลางอยู่บริเวณเกาะไหหลำ ประเทศจีน หรือที่ละติจูด 20.0 องศาเหนือ ลองจิจูด 109.6 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 65 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุนี้เคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกเฉียงเหนืออย่างช้าๆ คาดว่าเคลื่อนลงสู่อ่าวตังเกี๋ยและขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ในช่วงวันที่ 10-11 ต.ค.2564 และจะอ่อนกำลังลงตามลำดับต่อไป ซึ่งจะทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือในช่วงเวลาดังกล่าวจะมีฝนเพิ่มขึ้น ส่วนมากทางตอนบนของภาค
ขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังแรงขึ้น
อนึ่งก่อนหน้านี้กรมอุตุนิยมวิทยาได้อัพเดตสถานการณ์พายุ ระบุด้วยว่า พายุโซนร้อน 'คมปาซุ (KOMPASU)' ยังอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิก กำลังเคลื่อนตัวทางตะวันตกค่อนไปทางเหนือ ติดตามอย่างใกล้ชิด
ส่วนภาพกราฟฟิก แสดงการพยากรณ์ฝนรวมทุกๆ 24 ชั่วโมง 10 วันล่วงหน้า ระหว่างวันที่ 9 - 18 ต.ค.2564 เวลา 07.00น. - 07.00 น.วันรุ่งขึ้น จาก ECMWF 2021100812 พบว่าระยะนี้ยังมีความแปรปรวนของสภาพอากาศ มีหลายปัจจัยที่ทำให้แปรปรวน ตามสภาพภูมิอากาศระยะนี้จะเป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนฤดูจากฤดูฝนเป็นฤดูหนาว ทิศทางลมแปรปรวน ตอนบนเริ่มมีลมเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุม ส่วนฝั่งอันดามันยังมีลมตะวันตก ตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุม
นอกจากนี้ยังมีพายุที่ก่อตัวทั้งในทะเลจีนใต้ตอนบน พายุโซนร้อน'ไลออนร็อก' และมหาสมุทรแปซิฟิก พายุโซนร้อน 'คมปาซุ'และบางช่วง 11 - 15 ต.ค.2564 ร่องมรสุมจะเลื่อนขึ้นไปพาดผ่านบริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง
ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ยังมีกำลังแรง ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้
ขอให้ประชาชนบริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยในบริเวณดังกล่าว ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในระยะนี้ไว้ด้วย สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังแรง โดยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณอ่าวไทยตอนล่างคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร และบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ หลีกเลี่ยงบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง เรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนควรงดจากฝั่งตลอดช่วง
ทั้งนี้ข้อมูลนี้อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงได้ตามข้อมูลที่นำเข้าใหม่ ใช้เป็นแนวทางเพื่อประกอบการตัดสินใจ
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage