‘กรมทางหลวง’ ลงนามสัญญากลุ่มกิจการร่วมค้า ‘BGSR’ ร่วมทุนงาน O&M มอเตอร์เวย์ ‘สายบางปะอิน-นครราชสีมา’ และ ‘สายบางใหญ่-กาญจนบุรี’ ระยะเวลา 30 ปี รับค่าตอบแทน 7.6 หมื่นล้านบาท
.............................
เมื่อวันที่ 29 ก.ย. นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาการให้เอกชนร่วมลงทุนในการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 สายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) และโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 81 สายบางใหญ่-กาญจนบุรี (M81) ระหว่างกรมทางหลวง (ทล.) กับกลุ่มกิจการร่วมค้า BGSR ระยะเวลาสัญญา 30 ปี
นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 สายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) และโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 81 สายบางใหญ่-กาญจนบุรี (M81) เป็นโครงการที่เปิดให้เอกชนร่วมลงทุนในส่วนของการดำเนินงานและบำรุงรักษา Operation and Maintenance (O&M) ในรูปแบบ PPP Gross Cost ครั้งแรกในรอบ 20 ปี ซึ่งจะช่วยลดภาระการลงทุนและบุคลากรของภาครัฐได้อย่างมาก
นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง กล่าวว่า สำหรับสัญญาการร่วมทุนในส่วนงาน O&M ระหว่างกรมทางหลวงและกลุ่มกิจการร่วมค้า BGSR ซึ่งประกอบด้วย บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STECON) และบมจ.ราช กรุ๊ป (RATCH) แบ่งเป็น 2 ระยะ ได้แก่
ระยะแรก ระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี กลุ่มกิจการร่วมค้า BGSR จะเป็นผู้ออกแบบและลงทุนก่อสร้างติดตั้งงานระบบและองค์ประกอบที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย การก่อสร้างด่านและติดตั้งระบบจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางแบบไม่มีไม้กั้น M - Flow ระบบควบคุมและบริหารจัดการจราจรอัจฉริยะ ระบบโครงข่ายสื่อสารใยแก้วนำแสงและระบบจ่ายกระแสไฟฟ้าบนสายทาง อาคารศูนย์ควบคุมและอาคารสำนักงานต่างๆ
ระยะที่ 2 เมื่อเปิดเส้นทางให้บริการ กลุ่มกิจการร่วมค้า BGSR จะทำหน้าที่จัดเก็บค่าผ่านทางและนำส่งรายได้ค่าผ่านทางทั้งหมดให้แก่กรมทางหลวง บริหารจัดการและควบคุมการจราจร ซึ่งรวมถึงงานกู้ภัยและช่วยเหลือผู้ใช้ทางตลอด 24 ชั่วโมง ตลอดจนการซ่อมบำรุงรักษาถนนและงานระบบทั้งหมดของโครงการ เป็นระยะเวลา 30 ปี
ทั้งนี้ หลังเปิดให้บริการ กลุ่มกิจการร่วมค้า BGSR จะได้รับค่าตอบแทนสำหรับค่าก่อสร้างงานระบบและค่าตอบแทนสำหรับการดำเนินงาน และบำรุงรักษา โดยจะต้องรักษาระดับการให้บริการให้เป็นไปตามเงื่อนไข KPI ตามที่กรมทางหลวงกำหนดไว้
ขณะที่ตัวแทนของกลุ่มกิจการร่วมค้า BGSR กล่าวว่า กลุ่ม BGSR ได้นำเทคโนโลยีระบบการจัดเก็บค่าผ่านทางแบบไม่มีไม้กั้น หรือ Free Flow มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับระบบมอเตอร์เวย์ เพื่อให้สอดรับกับพฤติกรรมของประชาชนในยุคดิจิทัล ช่วยลดการสัมผัสระหว่างบุคคลตามแนวทางการปฏิบัติของยุค New Normal พร้อมทั้งนำระบบบริหารจัดการจราจรอัจฉริยะ เช่น ระบบตรวจจับและแจ้งเตือนอุบัติเหตุอัตโนมัติ มาช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้ใช้ทาง
“กลุ่ม BGSR พร้อมที่จะเริ่มงานทันทีที่ตรวจรับพื้นที่จากกรมทางหลวงเสร็จสิ้น เพื่อให้กรมทางหลวงสามารถเปิดใช้เส้นทางทั้ง 2 โดยเร็วที่สุด” ตัวแทนกลุ่ม BGSR ระบุ
ทั้งนี้ กรมทางหลวง ตั้งเป้าผลักดันการก่อสร้างโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 สายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) และโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 81 สายบางใหญ่-กาญจนบุรี (M81) ทั้งในส่วนการก่อสร้างงานโยธาและการติดตั้งงานระบบภายใต้สัญญา PPP ให้แล้วเสร็จ และเปิดให้บริการภายในปี 2566
สำนักข่าวอิศรารายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 21 ก.ค.2563 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติผลการคัดเลือกเอกชนโครงการติดตั้งและบริหารระบบเก็บเงิน (Operation and Maintenance : O&M) โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 สายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) โดยกลุ่มกิจการร่วมค้า BGSR เสนอขอรับค่าตอบแทนต่ำสุดเป็นเงิน 41,422 ล้านบาท เมื่อคำนวณเป็นมูลค่าปัจจุบัน (PV) มีค่า 21,308 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในกรอบที่ ครม.อนุมัติเป็นมูลค่า PV ไม่เกิน 33,258 ล้านบาท
ครม.ยังมีมติอนุมัติผลการคัดเลือกเอกชนโครงการติดตั้งและบริหารระบบเก็บเงิน (Operation and Maintenance : O&M) โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 81 สายบางใหญ่-กาญจนบุรี (M81) โดยกลุ่มกิจการร่วมค้า BGSR เสนอขอรับค่าตอบแทนต่ำสุดเป็นเงิน 34,822 ล้านบาท เมื่อคำนวณเป็นมูลค่าปัจจุบัน (PV) มีค่า 17,801 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในกรอบที่ ครม.อนุมัติเป็นมูลค่า PV ไม่เกิน 27,828 ล้านบาท
อ่านประกอบ :
เริ่มต้น10บาท!! ครม.ไฟเขียวเก็บค่าผ่านทาง'มอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช'
ลุ้น BTS- กัลฟ์ -ซิโน-ไทย คว้าสัญญา O&M มอเตอร์เวย์ 2สาย
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage