ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ฯ ออกคำแนะนำการฉีดไฟเซอร์ในเด็กและวัยรุ่น ย้ำเพศชาย ในกลุ่ม 12 ถึงน้อยกว่า 16 ปี ควรชะลอการฉีดเข็ม 2 จนกว่าจะมีคำแนะนำเพิ่มเติม เพื่อเลี่ยงความเสี่ยงจากกล้ามเนื้อหัวใจและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 24 ก.ย.2564 ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยและสมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย เผยแพร่ คำแนะนำการฉีดวัคซีนโควิด-19 สำหรับเด็กวัยรุ่นตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป (ฉบับที่ 3) ระบุว่า ในระยะแรกของการให้วัคซีนในเด็กและวัยรุ่น ได้กำหนดให้ผู้มีโรคประจำตัวที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรงและอาจเสียชีวิตได้ เป็นผู้มีความเร่งด่วนอันดับต้นให้ได้รับวัคซีนชนิด mRNA ของไฟเซอร์ จำนวน 2 เข็ม ห่างกัน 3 สัปดาห์ขึ้นไป ได้แก่
เด็กและวัยรุ่นอายุ 16 ปี จนถึง 18 ปีทุกรายที่ไม่มีข้อห้ามในการฉีดวัคซีน
เด็กอายุ 12 ปี ถึงน้อยกว่า 16 ปี ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง มีโรคประจำตัวที่อาจเกิดโรคโควิด-19 รุนแรง อาจถึงขั้นเสียชีวิต ได้แก่
-
บุคลที่มีโรคอ้วน (ดัชนีมวลกายมากกว่า 35 กิโลกรัมต่อร่างกาย หรือมีน้ำหนัก 70 กิโลกรัมขึ้นไปในเด็กอายุ 12-13 ปี หรือ น้ำหนัก 80 กิโลกรัมขึ้นไปในเด็กอายุ 13-15 ปี และน้ำหนัก 90 กิโลกรัมขึ้นไปในเด็กอายุ 15-18 ปี หรือเด็กอ้วนที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากภาวะททางเดินหายใจอุดกั้น)
-
โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง รวมทั้งโรคหอบหืดที่มีอาการปานกลางหรือรุนแรง
-
โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง
-
โรคไตวายเรื้อรัง
-
โรคมะเร็งและภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ
-
โรคเบาหวาน
-
กลุ่มโรคพันธุกรรมรวมทั้งกลุ่มอาการดาวน์ เด็กที่มีภาวะบกพร่องทางระบบประสาทอย่างรุนแรง และเด็กที่มีพัฒนาการช้า
ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ได้ติดตามข้อมูลด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีนโควิด-19 ในเด็กและวัยรุ่น เพื่อให้คำแนะนำเพิ่มเติม ทั้งนี้โดยคำนึงถึงความปลอดภัย และประโยชน์ทางด้านสุขภาพของเด็กเป็นสำคัญ ดังนี้
-
เด็กและวัยรุ่นที่มีสุขภาพดี อายุ 12 ปี ถึงน้อยกว่า 16 ปี แนะนำให้ฉีดวัคซีน ชนิด mRNA ของไฟเซอร์
-
เด็กและวัยรุ่นชาย รับวัคซีน เข็มที่ 1 และชะลอการให้เข็มที่ 2 ไปก่อน จนกว่าจะมีคำแนะนำเพิ่มเติม (เนื่องจากการฉีดเข็ม 2 ในเด็กกลุ่มนี้ มีความเสี่ยงสูงกว่าเข็มแรก จากกล้ามเนื้อหัวใจและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ซึ่งพบน้อยมาก
-
เด็กและวัยรุ่นหญิง สามารถรับวัคน 2 เข็มห่างกัน อย่างน้อย 3 สัปดาห์
ทั้งนี้ ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย มีคำแนะนำเพิ่มเติมในการฉีดวัคนป้องกันโรคโควิด-19 สำหรับเด็กและวัยรุ่นอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป ดังต่อไปนี้
แนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิต-19 ที่ได้รับการรับรองโดยองค์การอาหารและยา (อย.) ให้ใช้ในเด็ก และวัยรุ่นตั้งแต่อาย 12 ปีขึ้นไป ซึ่ง ณ วันที่ 22 ก.ย.2564 มีวัคซีนชนิดเดียวที่มีในประเทศไทย คือชนิด mRNA ของไฟเซอร์ และเมื่อวันที่ 10 ก.ย.2564 วัคซีนชนิด mRNA ของโมเดอร์นาได้รับการรับรองเพิ่มเติม แต่ขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนนี้ในประเทศไทย สำหรับวัคซีนชนิดเชื้อตายชิโนแวค และ ชิโนฟาร์ม อยู่ระหว่างการพิจารณาข้อมูลเรื่องการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ประสิทธิภาพและความปลอดภัยในเด็ก และขณะนี้ยังไม่ได้รับการรับรองให้ใช้ในเด็กและวัยรุ่น
แนะนำให้ฉีดวัคซีน mRNA ที่ได้รับการรับรองโดย อย. 2 เข็มห่างกัน 3-4 สัปดาห์ในเด็กและวัยรุ่นทุกคนที่อายุตั้งแต่ 16 ปี ขึ้นไป และเด็กและวัยรุ่นทุกคนที่อายุ 12 ปีขึ้นไปที่มีโรคประจำตัวที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคโควิด-19 รุนแรง ซึ่งเป็นคำแนะนำที่ให้ไว้ตั้งแต่วันที่ 7 ก.ย.2564
แนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิต-19 ชนิด mRNA ที่ได้รับการรับรองโดย อย. 2 เข็มห่างกัน 3-4 สัปดาห์ ในเด็กและวัยรุ่นผู้หญิง ที่แข็งแรงดีอายุตั้งแต่ 12 ปี ถึงน้อยกว่า 16 ปี
สำหรับในเด็กและวัยรุ่น ชายที่แข็งแรงดีในช่วงอายุดังกล่าว แนะนำให้ฉีดวัคซีนเข็มแรกเพียงเข็มแรกเข็มเดียว และชะลอการฉีดเข็มสองไว้ก่อนจนกว่าจะมีข้อมูลความความปลอดภัยของวัคซีนนี้เพิ่มเติม
ทั้งนี้เนื่องจากการฉีดวัคชีนกันป้องกันโรคโควิด-19 ชนิด mRNA มีโอกาสเกิดอาการข้างเคียงเรื่องกล้ามเนื้อและเยื่อหัวใจอักเสบได้สูงสุดในเด็กและวัยรุ่นชายในกลุ่มอายุนี้ และมักพบสัมพันธ์กับภายหลังการฉีดวัคซีนเข็มสอง โดยรายงานจากระบบ Vaccine Adverse Event Reporting System (VAERS) ระหว่างวันที่ 1 ม.ค.2564 – 18 มิ.ย.2564 ในสหรัฐอเมริกา พบรายงานอัตราการเกิดอาการข้างเคียงของระบบหัวใจในเด็กและวัยรุ่นชายในกลุ่มอาย 12 ปี ถึงน้อยกว่า 16 ปี ในอัตรา 162.2 ต่อการฉีดวัดซึนเข็มสองหนึ่งล้านโดส ในขณะที่รายงานอัตราอาการข้างเคียงของระบบหัวใจในเด็กและวัยรุ่นในเด็กหญิงกลุ่มอายุเดียวกันพบในอัตราที่ต่ำกว่ามากคือ 13 ต่อการฉีดวัคซีนเข็มสองหนึ่งล้านโดส
ในขณะที่พบว่าการฉีดวัคซีนชนิด mRNA ของไฟเซอร์ 1 เข็ม และ 2 เข็ม มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคโควิต-19 จากสายพันธุ์เดลต้าได้ 36% และป้องกันการติดโรคโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรงต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลได้สูงถึง 94% และ 96% ตามลำดับ คำแนะนำนี้จึงพิจารณาให้เด็กและวัยรุ่นหญิงได้รับประโยชน์จากวัคซีนเต็มที่จากการฉีด 2 เข็ม ในขณะที่เด็กผู้ชายจะต้องมีการประเมินประโยชน์และความเสี่ยงเพิ่มเติมเมื่อได้ข้อมูลในบริบทของประเทศไทยเพิ่มขึ้น ก่อนจะให้คำแนะนำในการฉีดเข็มต่อไป
แนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิต-19 ในเด็กอายุตั้งแต่ 12 ปี ถึงน้อยกว่า 16 ปี ที่อาศัยร่วมบ้านกับผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง
แนะนำให้มีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 แก่ครูและบุคลากรทุกระดับในโรงเรียนและสถานศึกษาทุกคน และสมาชิกร่วมบ้านของบุคลากรทุกคน และแนะนำให้ฉีดวัคซีนแก่ผู้ปกครองและสมาชิกในครอบครัวของเด็กทุกคน ส่งเสริมให้มีมาตรการการป้องกันโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัดในโรงเรียนและสถานศึกษาตามคำแนะนำของกรมควบคุมโรค
การฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในเด็กและวัยรุ่นเป็นความสมัครใจของตัวเด็กและผู้ปกครอง ซึ่งควรได้รับการยอมรับ เด็กและวัยรุ่นทุกคน ควรได้ไปโรงเรียนและร่วมทำกิจกรรมต่างๆ ของโรงเรียนได้อย่างเท่าเทียม ไม่ว่าเด็กและวัยรุ่นจะได้รับการฉีดวัคซีนหรือไม่ หรือได้รับวัคนชนิดใด โดยต้องรักษามาตรการการป้องกันโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัด
แนะนำให้งดออกกำลังกายอย่างหนักหรือการทำกิจกรรมอย่างหนักเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ภายหลังจากการฉีดวัคซีน ป้องกันโรคโควิด-19 ชนิด mRNA เนื่องจากมีรายงานการเกิดผลข้างเคียงกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบภายหลังการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ชนิด mRNA ซึ่งถึงแม้จะพบในอัตราที่ต่ำ แต่เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงภาวะแทรกช้อน จึงแนะนำให้เด็กและวัยรุ่นทุกราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กและวัยรุ่นชายที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ทั้งโดสที่ 1 และ 2 ให้งดการออกกำลังกายหรือการทำกิจกรรมอย่างหนักเป็นเวลา 1 สัปดาห์ภายหลังจากการฉีดวัคซีน
และในเวลาดังกล่าวนี้หากมีอาการเจ็บแน่นหน้าอก หายใจเหนื่อยหรือหายใจไม่อิ่ม ใจสั่นหน้ามืดเป็นลม ควรรีบไปพบแพทย์ โดยหากแพทย์สงสัย ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจหรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ควรพิจารณาทำการตรวจค้นเพิ่มเติม
หากมีข้อมูลเรื่องประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในเด็กและวัยรุ่นมากขึ้น ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยจะมีคำแนะนำเพิ่มเติมในการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในอนาคตต่อไป สามารถติดตามคำแนะนำของราชวิทยาลัยได้ที่ www.thaipediatrics.org
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage