‘ธปท.’ เปิดธนาคารพาณิชย์สัญชาติ 'มาเลเซีย' ยื่นใบสมัครขอรับใบอนุญาตฯธนาคารพาณิชย์ตามกรอบ QAB ในไทย 1 ราย ขณะที่ ‘แบงก์ไทย’ สามารถไปยื่นขอรับใบอนุญาต QAB ในมาเลเซียได้ 2 ราย
..............................
เมื่อวันที่ 14 ก.ย. ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และธนาคารกลางมาเลเซีย (Bank Negara Malaysia: BNM) ได้เปิดรับสมัคร Qualified ASEAN Bank (QAB) สำหรับธนาคารพาณิชย์สัญชาติมาเลเซียและสัญชาติไทยที่สนใจ ซึ่งเป็นไปตามความตกลง QAB ร่วมกันของทั้งสองประเทศ ภายใต้กรอบการรวมตัวภาคการธนาคารอาเซียน (ABIF) และเป็นส่วนหนึ่งของกรอบความตกลงว่าด้วยการค้าบริการของอาเซียน (AFAS)
สำหรับการจัดตั้ง QAB มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการค้าการลงทุนระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนด้วยกัน ซึ่งเป็นไปตามแผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2025 ในการสร้างเศรษฐกิจอาเซียนให้มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยกำหนดคุณสมบัติของ QAB เพื่อเสถียรภาพของระบบการเงินของประเทศที่ QAB ไปจัดตั้งว่า จะต้องมีฐานะมั่นคงแข็งแกร่ง ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานกำกับดูแลของประเทศตน
รวมทั้งปฏิบัติได้ตามหลักเกณฑ์การกำกับดูแลความมั่นคงของประเทศที่ QAB ไปจัดตั้ง ซึ่ง QAB ที่ผ่านการคัดเลือกและได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจแล้ว จะได้รับสิทธิประโยชน์ตามข้อผูกพันของประเทศคู่เจรจา
“ความตกลงทวิภาคีนี้นับเป็นอีกก้าวสำคัญที่จะนำไปสู่การรวมตัวภาคการเงินอาเซียนตามกรอบ ABIF ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ ธปท. และ BNM ได้เปิดตัวนวัตกรรมด้านการชำระเงินผ่าน QR Code ระหว่างสองประเทศเป็นครั้งแรก” ธปท.ระบุ
นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า ความตกลงทวิภาคีในการจัดตั้ง QAB นี้นับเป็นอีกก้าวสำคัญของความสัมพันธ์อันยาวนานระหว่างประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย และสอดคล้องตามเจตนารมณ์ของอาเซียนในการรวมตัวภาคการเงินของภูมิภาคให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
“การจัดตั้ง QAB ดังกล่าวจะนำมาซึ่งการนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีคุณภาพสูงและหลากหลาย ซึ่งจะช่วยตอบโจทย์ความต้องการของภาคธุรกิจและประชาชนของทั้งสองประเทศให้ดียิ่งขึ้น ธปท. มุ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเห็นบทบาทของ QAB ในการช่วยต่อยอดความร่วมมือด้านการเงินระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนในด้านอื่น ๆ เพื่อสนับสนุนนวัตกรรมทางการเงินรูปแบบใหม่ในภูมิภาค” นายเศรษฐพุฒิ ระบุ
Ms.Nor Shamsiah Yunus ผู้ว่าการ BNM กล่าวว่า ความตกลงระหว่างประเทศไทยและประเทศมาเลเซียนี้แสดงถึงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศที่แน่นแฟ้น และเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชนของทั้งสองประเทศในการเพิ่มความสะดวกสบายในการทำธุรกรรมทางการเงินและการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่หลากหลายBNM กำลังเดินหน้าที่สำคัญในการเข้าสู่การสร้างเศรษฐกิจอาเซียนที่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
“เชื่อมั่นว่าความตกลง QAB นี้จะนำมาซึ่งการสร้างโอกาสทางธุรกิจและกิจกรรมทางเศรษฐกิจระหว่างทั้งสองประเทศ อันจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19” ผู้ว่าการ BNM กล่าว
ด้าน น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. กล่าวในงาน Media Briefing เรื่อง การรวมตัวของภาคการธนาคารภายใต้กรอบอาเซียน (QAB) ว่า ธปท.ได้บรรลุผลการเจรจา Qualified ASEAN Bank (QAB) กับธนาคารกลางมาเลเซีย โดย ธปท. พร้อมรับสมัครธนาคารพาณิชย์รายใหม่สัญชาติมาเลเซีย รวมถึงให้ความเห็นชอบธนาคารพาณิชย์สัญชาติมาเลเซียที่ประกอบธุรกิจในปัจจุบัน ได้รับสิทธิประโยชน์ตามผลการเจรจา
ทั้งนี้ QAB หรือ ธนาคารพาณิชย์สัญชาติอาเซียนที่เปิดทำการในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกัน เป็นหนึ่งในการรวมตัวภาคการเงินตามแผนงานจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community Blueprint) ซึ่งการรวมตัวของภาคการเงินผ่านบทบาทของธนาคารในภูมิภาคจะมีบทบาทช่วยสนับสนุนภาคเศรษฐกิจจริง เพื่อรองรับการค้าการลงทุนในภูมิภาคที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง
ปัจจุบันอาเซียนได้สรุปผลเจรจา QAB แล้วทั้งหมด 3 คู่ ซึ่งเป็นการเจรจาแบบทวิภาคีตามความพร้อมของประเทศสมาชิกอาเซียน ได้แก่ มาเลเซีย-อินโดนีเซีย มาเลเซีย-ไทย และ มาเลเซีย-ฟิลิปปินส์
(ชญาวดี ชัยอนันต์)
สำหรับผลการเจรจา QAB ระหว่างประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย ทั้งสองประเทศได้ตกลงให้สิทธิประโยชน์ตามหลักการต่างตอบแทน ด้วยการให้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์แก่ธนาคารพาณิชย์ที่มีสัญชาติของอีกฝ่ายไม่เกิน 3 ราย โดยให้นับรวมธนาคารพาณิชย์ที่ประกอบธุรกิจอยู่ในปัจจุบันด้วย
ในกรณีของประเทศไทย ธนาคารพาณิชย์สัญชาติมาเลเซียรายใหม่ จะสามารถจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ที่เป็นบริษัทลูกของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ (Subsidiary) ในฐานะ QAB สัญชาติมาเลเซียในประเทศไทยได้เพิ่มอีก 1 ราย เนื่องจากปัจจุบันมีธนาคารพาณิชย์สัญชาติมาเลเซียที่ประกอบธุรกิจในประเทศไทยอยู่แล้ว 2 ราย ได้แก่ ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย และธนาคาร อาร์ เอช บี ซึ่งทั้ง 2 ราย สามารถเข้ามายื่นขอเปลี่ยนใบอนุญาตฯเป็นใบอนุญาตฯ QAB ได้
ขณะที่ธนาคารพาณิชย์สัญชาติไทยรายใหม่ จะสามารถจัดตั้ง Subsidiary ในฐานะ QAB สัญชาติไทยในประเทศมาเลเซียได้เพิ่ม 2 ราย เนื่องจากปัจจุบันมีธนาคารพาณิชย์สัญชาติไทยที่ประกอบธุรกิจในประเทศมาเลเซียอยู่แล้ว 1 ราย คือ บางกอก แบงค์ เบอร์ฮาด
“ธปท. หวังว่า QAB จะช่วยต่อยอดให้เกิดความร่วมมือของภาคการเงินในระดับภูมิภาค และเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดการนำเสนอนวัตกรรมทางการเงินและยกระดับคุณภาพการให้บริการที่ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการทางเงิน รวมถึงช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการไทยในการขยายธุรกิจสู่ภูมิภาคอาเซียนได้สะดวกยิ่งขึ้นในอนาคต” น.ส.ชญาวดี กล่าว
ทั้งนี้ ธนาคารพาณิชย์สัญชาติมาเลเซียที่จะมาเปิดให้บริการในประเทศไทยภายใต้ QAB จะต้องได้รับการสนับสนุนจากธนาคารกลางมาเลเซีย ต้องมีฐานะมั่นคง และมีคุณสมบัติตามที่ ธปท.กำหนด เช่น มีทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ 1.5 หมื่นล้านบาท โดยให้ทยอยนำเข้าภายใน 5 ปี และให้มีจุดให้บริการ 40 จุด ซึ่งจะทยอยเปิดตามสัดส่วนทุนจดทะเบียนที่นำเข้ามา รวมทั้งสามารถจ้างพนักงานสัญชาติอาเซียนได้โดยไม่จำกัดจำนวนและตำแหน่ง
ขณะเดียวกัน ธนาคารพาณิชย์สัญชาติมาเลเซียที่ได้รับใบอนุญาต QAB สามารถถือหุ้นในบริษัทลูกของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ (Subsidiary) ทั้งทางตรงและทางอ้อมได้ 95% ขึ้นไป และไม่มีข้อจำกัดเกี่ยวกับสัดส่วนของสัญชาติกรรมการ รวมทั้งมีความยืดหยุ่นในการขยายธุรกิจในอนาคต เป็นต้น
ส่วนธนาคารพาณิชย์สัญชาติไทยจะไปเปิดให้บริการในประเทศมาเลเซียภายใต้ QAB จะต้องมีคุณสมบัติ เช่น มีทุนจดเบียน 300 ล้านริงกิต หรือ 2,400 ล้านบาท โดยสามารถเปิดจุดบริการได้ 40 จุด จากเกณฑ์ปัจจุบันที่ให้สูงสุด 8 จุด รวมทั้ง QABs ไทยสามารถจ้างพนักงานสัญชาติอาเซียนได้โดยไม่จำกัดจำนวนและตำแหน่งเช่นกัน
น.ส.ชญาวดี ระบุว่า ปัจจุบันนักลงทุนมาเลเซียลงทุนทางตรงในประเทศไทยเป็นอันดับ 2 ในกลุ่มประเทศอาเซียน รองจากสิงคโปร์ และการลงทุนทางตรงของไทยในมาเลเซียเติบโตต่อเนื่อง โดยเป็นรองเพียงสิงคโปร์และเวียดนามเท่านั้น
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage