‘สถานีวิทยุท้องถิ่น’ ยื่นหนังสือต่อ ป.ป.ช. ตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณี ‘กสทช.’ จัดสรรคลื่นวิทยุใหม่ หลังพบเอื้อประโยชน์สถานีวิทยุของรัฐ-รัฐวิสาหกิจ 313 สถานี
.......................
เมื่อวันที่ 9 ก.ย.ที่ผ่านมา สมาคมสภาวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ และสถานีวิทยุสมาชิกสมาคมสื่อช่อสะอาด ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ขอให้สอบข้อเท็จจริงกรณีการจัดสรรคลื่นความถี่วิทยุกระจายเสียงของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และสำนักงาน กสทช. ซึ่งจะมีขึ้นในปี 2565 เพื่อไม่ให้เกิดการผูกขาดหรือการครอบงำตลาด
นายกิตติธัช ภูธนะโภคิน นายกสมาคมสภาวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 30 ก.ค.ที่ผ่านมา สำนักงาน กสทช. จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นร่างประกาศที่เกี่ยวกับการจัดสรรคลื่นความถี่ จำนวน 6 ฉบับ แต่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า มีการนำข้อมูลของสถานีของรัฐและรัฐวิสาหกิจ 27 หน่วยงาน จำนวน 313 สถานี ซึ่งเป็นสถานีที่มีกำลังส่งสูงตั้งแต่ 700 วัตต์ จนถึง 40,000 วัตต์ มาบรรจุในร่างแผนความถี่ด้วย
“จากกรณีดังกล่าว จะทำให้ช่องคลื่นวิทยุเอฟเอ็มเกินกว่าครึ่งยังอยู่ในการครอบครองของรัฐเป็นส่วนใหญ่ และนำไปให้สัมปทานกับเอกชน ในขณะที่ผู้ทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงที่มีใบอนุญาตฯ ซึ่งเป็นสถานีขนาดเล็ก หรือสถานีวิทยุท้องถิ่น และปัจจุบันมีประมาณ 4,000 สถานีนั้น กลับถูกกติกาใหม่กำหนดให้ลดกำลังส่งเหลือเพียง 50 วัตต์ จากปัจจุบัน 500 วัตต์ ซึ่งแตกต่างจากกำลังส่งของสถานีของรัฐและรัฐวิสาหกิจอย่างมาก” นายกิตติธัช กล่าว
นางมยุรา หาญจิต เลขาธิการสมาคมสื่อช่อสะอาด กล่าวว่า กรณีที่คณะกรรมการ กสทช. มีมติเห็นชอบยกเลิกสถานีวิทยุทดลองภาคประชาชน (กำลังส่ง 500 วัตต์) จำนวนกว่า 4,000 สถานี พร้อมกันในวันที่ 3 เม.ย.2565 เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบการอนุญาต โดยกำหนดเงื่อนไขสำหรับสถานีวิทยุทดลองเดิมให้ใช้งานคลื่นความถี่ระบบเอฟเอ็มกำลังส่งต่ำ กำหนดลดกำลังส่งเหลือ 50 วัตต์นั้น
อาจทำให้แหลือสถานีวิทยุท้องถิ่นที่เดินหน้าตามกติกาใหม่ได้ไม่ถึง 1,000 สถานี และอาจเป็นเจตนาแฝงแต่แรกของ กสทช. ที่ตั้งกติกาที่ไม่เป็นธรรม เนื่องจากในขณะที่ กสทช. ลดกำลังส่งของวิทยุชุมชนลงเหลือ 50 วัตต์นั้น แต่สถานีวิทยุหลักเดิม 313 สถานี ที่มีบริษัทเอกชนรับสัมปทานเช่าเหมาจากรัฐและรัฐวิสาหกิจ ไปทำธุรกิจรับจ้างโฆษณาประชาสัมพันธ์อยู่นั้น ยังคงออกอากาศด้วยกำลังส่งแรงตามเดิม คือ มีกำลังส่ง 700-40,000 วัตต์
“กติกาเหล่านี้จะทำให้ประชาชนขาดโอกาสและเกิดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร พวกเราจึงมายื่นหนังสือให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบการจัดสรรคลื่นความถี่ของ กสทช. ตามมาตรการป้องกันเชิงรุกตามนโยบาย ป.ป.ช.” นางมยุรา กล่าว
นายสนทยา ทิจะยัง นายกสมาคมวิทยุกระจายและนักประชาสัมพันธ์นครสวรรค์ ผู้ประกอบกิจการจังหวัดนครสวรรค์ กล่าวว่า เมื่อตรวจสอบร่างประกาศที่เกี่ยวกับการจัดสรรคลื่นความถี่ 6 ฉบับ พบว่าร่างแผนความถี่ควรเป็นฉบับเดียว แต่ถูกแบ่งเป็น 2 ฉบับที่มีความคล้ายคลึงกัน และยังปรากฎรายชื่อสถานีวิทยุ 313 สถานี พิกัดที่ตั้ง คลื่นความถี่ กำลังส่ง ความสูงสายอากาศ แบบมีนัยสำคัญ โดยมิได้บริหารจัดการทรัพยากรคลื่นความถี่ที่มีอยู่จำกัดให้มีประสิทธิภาพเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนในทุกระดับ
ด้าน นายประเสริฐ หลานรอด ผู้ประกอบกิจการจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า กสทช. ควรเรียกคืนคลื่นเอฟเอ็มทั้งหมด เพื่อนำมาจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่ และต้องดำเนินการอย่างโปร่งใส เป็นธรรม คุ้มค่าต่อทรัพยากรของชาติที่มีอยู่อย่างจำกัด ไม่เลือกปฏิบัติกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอย่างย่อมเล็งเห็นผล เช่น การเอื้อประโยชน์กลุ่มสถานีวิทยุ 313 แห่งสังกัดหน่วยงานรัฐ ซึ่งปัจจุบันให้บริษัทเอกชนรับสัมปทานเช่าเหมาไปทำธุรกิจรับจ้างโฆษณาประชาสัมพันธ์
ขณะที่ นายภุชงค์ รักชาติสกุลไทย ผู้ประกอบกิจการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การที่ กสทช. จัดสรรคลื่นสถานีวิทยุกระจายเสียงในครั้งนี้ จะทำให้สื่อภาคประชาชนอ่อนแอ เพราะขาดโอกาสเข้าถึงข่าวสารความรู้อย่างสม่ำเสมอไม่เท่าทันสถานการณ์ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับประยุกต์เป็นหลักความพอเพียงในการทำงานและป้องกันการทุจริตอย่างยั่งยืน
อ่านประกอบ :
เดือดร้อน 4 พันแห่ง!กสทช.ขีดเส้นสถานีวิทยุชุมชนเข้าสู่ ‘ระบบอนุญาต’ ดีเดย์ 4 เม.ย.65
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage