'หมอธีระ' เตือนคลายล็อก 1 ก.ย. เสี่ยงระบาดหนักหน่วง ชี้ขนาดอเมริกา ประกาศให้นั่งกินในร้าน จากนั้นมีจำนวนติดเชื้อและยอดตายสูงขึ้น หวั่นไทยผ่อนปรนหลายเรื่องพร้อมกัน มีโอกาสเกิดเร็วขึ้นกว่าได้ ดังนั้นต้องป้องกันตัวเองอย่างดี พร้อมเปิดข้อมูลงานวิจัยต่างประเทศ พบอาการโควิดเรื้อรังเกิดได้ราวครึ่งนึงของผู้ป่วย แนะไทยควรเตรียมระบบดูแลรักษาในระยะยาวด้วย
........................................
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 28 ส.ค.2564 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์รายงานสถานการณ์โควิดทั่วโลก ผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ประจำวัน ระบุว่า สถานการณ์ทั่วโลก ทะลุ 216 ล้านไปแล้ว
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 691,071 คน รวมแล้วตอนนี้ 216,143,518 คน ตายเพิ่มอีก 9,717 คน ยอดตายรวม 4,497,495 คน
5 อันดับแรกที่มีจำนวนติดเชื้อต่อวันสูงสุด ยังคงเป็นเช่นเดิมคือ อเมริกา อินเดีย สหราชอาณาจักร อิหร่าน และบราซิล
อเมริกา ติดเชื้อเพิ่ม 173,819 คน รวม 39,523,850 คน ตายเพิ่ม 1,232 คน ยอดเสียชีวิตรวม 653,315 คน อัตราตาย 1.7%
อินเดีย ติดเพิ่ม 46,805 คน รวม 32,649,130 คน ตายเพิ่ม 514 คน ยอดเสียชีวิตรวม 437,403 คน อัตราตาย 1.3%
บราซิล ติดเพิ่ม 27,345 คน รวม 20,703,906 คน ตายเพิ่ม 721 คน ยอดเสียชีวิตรวม 578,326 คน อัตราตาย 2.8%
รัสเซีย ติดเพิ่ม 19,509 คน รวม 6,844,049 คน ตายเพิ่ม 798 คน ยอดเสียชีวิตรวม 180,041 คน อัตราตาย 2.6%
ฝรั่งเศส ติดเพิ่ม 18,249 คน ยอดรวม 6,711,268 คน ตายเพิ่ม 95 คน ยอดเสียชีวิตรวม 114,083 คน อัตราตาย 1.7%
อันดับ 6-10 เป็น สหราชอาณาจักร ตุรกี อาร์เจนติน่า โคลอมเบีย และสเปน ติดกันหลักพันถึงหลายหมื่น
แถบอเมริกาใต้ ยุโรป แอฟริกา เอเชีย หลายต่อหลายประเทศติดกันเพิ่มหลักพันถึงหลักหมื่น
หากรวมทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ พบว่ามีสัดส่วนสูงถึง 89.57% ของจำนวนติดเชื้อใหม่ทั้งหมดต่อวัน
แถบสแกนดิเนเวีย บอลติก และยูเรเชีย ก็มีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นหลักร้อยถึงหลักพัน
แถบตะวันออกกลางส่วนใหญ่ยังติดเพิ่มหลักร้อยถึงหลักพัน ยกเว้นอิหร่านติดเพิ่มหลักหมื่นอย่างต่อเนื่อง
เวียดนามติดเพิ่มเกินหมื่นเหมือนฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และญี่ปุ่น ส่วนเมียนมาร์ และเกาหลีใต้ ติดกันหลักพัน กัมพูชา ออสเตรเลีย และสิงคโปร์ ติดเพิ่มหลักร้อย ส่วนจีน ฮ่องกง และนิวซีแลนด์ ติดเพิ่มหลักสิบ ในขณะที่ไต้หวันติดเพิ่มต่ำกว่าสิบ
มาดูสถานการณ์ของไทยเรา จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ เมื่อวานตัวเลขที่รายงานของทางการ 18,702 คน สูงเป็นอันดับ 10 ของโลก แต่หากรวมจำนวนที่ตรวจด้วย ATK อีก 5,066 คน จะสูงเป็นอันดับ 7 ของโลก
'กล่องทราย'ดังที่เคยบอกไว้แล้วว่า จะเริ่มสังเกตเห็นผลของกล่องทรายชัดเจนตั้งแต่ปลายเดือน ส.ค.2564 ล่าสุดภูเก็ตติดเพิ่มอีก 207 คน กำลังไต่ระดับขึ้นสูงอย่างรวดเร็ว โดยต้องไม่ลืมว่านี่คือผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นทั้งๆ ที่หลายฝ่ายพยายามวางระบบลดความเสี่ยงไว้ล่วงหน้าแล้ว
จึงเป็นหลักฐานตอกย้ำถึงสัจธรรมว่า ตราบใดที่มีการระบาดภายในประเทศอย่างรุนแรง การเปิดให้มีกิจกรรม กิจการ ค้าขาย ท่องเที่ยว ย่อมทำให้เกิดการระบาดมากขึ้นแน่นอน และหากคุมไม่อยู่ จะเปลี่ยนภูมิทัศน์การระบาดของพื้นที่นั้นไปอย่างถาวร ดังที่เห็นในพื้นที่โรงงานที่เคยมีการระบาดหนักมาก่อน แต่ไม่ตัดวงจรการระบาดในขณะนั้น จนทำให้เห็นผลลัพธ์การระบาดหนักและต่อเนื่อง
มาตรการปลดล็อกตั้งแต่ 1 ก.ย.2564 เตือนไว้ล่วงหน้าว่า ยังไม่เห็นที่ใดที่มีการระบาดรุนแรง เป็นหมื่นๆ ต่อวัน กระจายไปทั่ว โดยยังคุมหรือตัดวงจรการระบาดไม่ได้ แล้วปลดล็อกการใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัยครับ
พิจารณาตามหลักวิชาการแพทย์ จะมีโอกาสเกิดการระบาดหนักหน่วงตามมา จะช้าจะเร็วก็รอดูกัน
อเมริกา ประกาศให้นั่งกินในร้าน จากนั้นมีจำนวนติดเชื้อพุ่งสูงขึ้นใน 41-100 วัน และจำนวนตายสูงขึ้นใน 61-100 วัน แต่ของไทยเรา ปลดล็อกหลายเรื่องพร้อมกัน ทั้งร้านอาหาร สถานศึกษา ร้านนวด ห้าง สวนสาธารณะ ฯลฯ ย่อมมีโอกาสเกิดเร็วขึ้นกว่าเค้าได้ ดังนั้นจึงต้องช่วยกันระมัดระวัง ป้องกันตัวให้ดี
หลักในการป้องกันตัวของประชาชน และเจ้าของกิจการ พิจารณาให้ดีว่ากิจการ กิจกรรมที่เรากำลังทำอยู่นั้น มีลักษณะต่อไปนี้หรือไม่ หากมี ก็จงตระหนักว่าเสี่ยงต่อการติดเชื้อและแพร่เชื้อได้ ได้แก่ 1. อยู่ใกล้กัน (Closeness), 2. สัมผัสกับผู้อื่น (Contact) และ 3. พบปะพูดคุย ติดต่อกับคนหลายคนหรือหลายครั้งในแต่ละวัน (Frequency), 4. อยู่กับผู้อื่นในระยะเวลายาวนานกว่า 15 นาที (Duration), 5. มีช่วงที่ไม่ได้ใส่หน้ากากขณะอยู่ในสถานที่ที่มีผู้คนอยู่ (Masking) และ 6. อยู่ในสถานที่สาธารณะที่เป็นระบบปิด หรือระบายอากาศไม่ดี (Ventilation)
ดังนั้นหากจะลดความเสี่ยงติดเชื้อแพร่เชื้อให้แก่กัน ก็คงต้องหาวิธีปรับให้ปลอดภัยที่สุดเท่าที่ตัวท่านจะทำได้
และหากรู้ตัวว่าเสี่ยง ไม่ว่าจะในฐานะผู้ให้บริการ หรือผู้รับบริการ ก็ควรทำการตรวจคัดกรองโรคเป็นระยะ เพื่อตรวจพบได้เร็วและไปรับการดูแลรักษาได้ทัน ไม่แพร่เชื้อต่อไปในวงกว้าง
โควิดติด ไม่ใช่แค่คุณ ติดง่าย ป่วยได้ ตายได้ ฉีดวัคซีนแล้วก็ยังติดได้ และเป็นคนแพร่เชื้อไปยังคนใกล้ชิดในบ้านหรือคนอื่นในสังคมได้ แต่โอกาสป่วยและตายจะลดลง
นอกจากนี้ รศ.นพ.ธีระ ยังระบุอีกด้วยว่า ผ่อนคลาย 1 ก.ย.2564 ทั้งที่ระบาดยังรุนแรง กระจายไปทั่ว คงเริ่มเห็นผลได้ราว 11 ต.ค.2564 หรือ 41 วัน หรืออาจเร็วกว่านั้น เพราะเปิดทีเดียวหลายกิจการกิจกรรม
@เผยอาการโควิดเรื้อรังเกิดได้ราวครึ่งนึงของผู้ป่วย แนะไทยเตรียมระบบดูแลรักษาในระยะยาวด้วย
ในวันเดียวกันนี้ รศ.นพ.ธีระ ยังอัปเดตเรื่องโควิดเรื้อรัง หรือ Long COVID อีกว่า ล่าสุดมีการศึกษาระยะยาว 12 เดือน ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ The Lancet วันที่ 28 ส.ค.2564 ติดตามผู้ติดเชื้อโควิดในประเทศจีน จำนวน 1,276 คน โดยทำการสอบถาม ตรวจร่างกาย และตรวจทางห้องปฏิบัติการ 6 เดือน และ 12 เดือน และทำการเปรียบเทียบกับกลุ่มคนปกติที่ไม่ได้เป็นโควิด
โดยมีตั้งแต่อายุ 49-67 ปี และมีอายุเฉลี่ย 59 ปี เป็นเพศชายมากกว่าหญิงเล็กน้อย คิดเป็น 53% และ 47% ตามลำดับ ในช่วง 6 เดือน มีคนที่ยังมีอาการคงค้างอย่างน้อย 1 อย่าง สูงถึง 68% และยังคงมีอาการคงค้างอยู่ ณ 12 เดือน ถึง 49%
อย่างไรก็ตามแม้จะติดตามไปถึง 12 เดือน ก็ยังพบว่า มีคนที่มีอาการเหนื่อยหรือหายใจลำบากกว่าปกติ สูงถึง 30% และมีอาการเครียดหรือซึมเศร้าราวหนึ่งในสี่
ทั้งนี้คนที่เคยป่วยระดับปานกลาง แม้รักษาหายแล้ว ก็พบว่ามีคนที่ยังคงมีปัญหาผิดปกติเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนออกซิเจนของปอด มากถึง 30% ในขณะที่หากเคยป่วยวิกฤติ จะพบได้ถึง 54% เพศหญิงจะมีโอกาสที่มีอาการคงค้างประเภทอ่อนเพลีย กล้ามเนื้ออ่อนแรง เครียด ซึมเศร้า และความผิดปกติเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนออกซิเจนของปอด มากกว่าเพศชาย ตั้งแต่ 1.43-2.97 เท่า
งานวิจัยข้างต้น ตอกย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของปัญหาระยะยาวของการติดเชื้อโควิด ว่า พบได้บ่อยถึงราวครึ่งหนึ่งของผู้ป่วย และอาการคงค้างนั้นยาวนานไปเป็นปี และอาจนานกว่านั้นหากมีการติดตามต่อไป
สอดคล้องกับในสหราชอาณาจักร ซึ่งมีการสำรวจเมื่อ 4 ก.ค.2564 ที่ผ่านมา พบว่ามีผู้ป่วยโควิดที่มีอาการคงค้างอย่างน้อย 945,000 คน โดยเป็นเด็กอายุ 2-16 ปี ราว 34,000 คน ทั้งนี้ปัญหาอาการโควิดเรื้อรัง หรือ Long COVID นั้น พบมากในกลุ่มอายุ 35-69 ปี เพศหญิง รวมถึงคนที่เศรษฐานะไม่ดี กลุ่มคนที่ทำงานทางการแพทย์ กลุ่มคนพิการ และคนที่มีโรคประจำตัวที่จำกัดการเคลื่อนไหว
ทางหน่วยงาน NICE ของสหราชอาณาจักร ได้ออกแนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วย Long COVID นี้ โดยระบุถึงอาการและอาการแสดงต่างๆ ที่มีหลากหลาย ตั้งแต่อาการทั่วไปอย่างไข้ อ่อนเพลีย ปวดตามบริเวณต่างๆ ของร่างกาย ตลอดจนอาการที่จำเพาะต่อระบบหายใจ เช่น ไอ เหนื่อย, ระบบหัวใจ เช่น แน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก ใจสั่น, ระบบประสาท เช่น ปวดหัว นอนไม่หลับ มีปัญหาด้านความจำ อาการชาหรือเหมือนมีเข็มจิ้ม และอาการทางจิตเวช เครียด ซึมเศร้า, ระบบทางเดินอาหาร เช่น ปวดท้อง ท้องเสีย คลื่นไส้ เบื่ออาหาร ฯลฯ
สำหรับไทยเรา สถานการณ์การระบาดที่รุนแรง จนมีจำนวนติดเชื้อกว่าล้านคน ตายไปกว่าหมื่นคน คาดว่าจะมีจำนวนคนที่มีอาการโควิดเรื้อรัง หรือ Long COVID จำนวนมาก ที่กำลังประสบภาวะนี้ ระบบสาธารณสุขของประเทศจำเป็นต้องมีการจัดระบบบริการดูแลรักษา และติดตามประเมินในระยะยาว เพราะเรื่องนี้ย่อมบั่นทอนสถานะสุขภาพของประชาชน และส่งผลต่อผลิตภาพโดยรวมของประเทศ
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage