‘บ้านสมเด็จโพลล์’ เผยผลสำรวจการบังคับใช้ ‘พ.ร.บ.การทวงถามหนี้’ พบลูกหนี้ 25.7% เคยถูกทวงหนี้ที่ผิดกฎหมาย โดย 28.5% ถูกประจานให้อับอาย ขณะที่ ‘มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค’ จี้ ‘แบงก์’ เปิดลูกหนี้เจรจาแฮร์คัตหนี้-ปรับโครงสร้างหนี้เป็นธรรม
.........................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ร่วมกับศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา สำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการบังคับใช้ พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ พ.ศ.2558 โดยสำรวจกลุ่มตัวอย่างประชาชนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร 1,135 กลุ่มตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 27-30 มิ.ย.2564
ผศ.สิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ เปิดเผยว่า ผลสำรวจพบว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 83.9 มีหนี้สินหรือการกู้ยืมเงิน โดยเป็นการกู้ซื้อรถยนต์เป็นอันดับหนึ่ง คิดเป็นร้อยละ 36.7 อันดับสอง คือ กู้ซื้อบ้าน ที่พักอาศัย ร้อยละ 33.9 อันดับสาม คือ กู้ยืมจากกองทุน ร้อยละ 21.9 อันดับสี่ คือ กู้ยืมจากหนี้นอกระบบ ร้อยละ 20.6 อันดับห้า คือ กู้ยืมสินเชื่อส่วนบุคคล ร้อยละ 19.2 และอันดับหก คือ กู้ยืมจากสหกรณ์ ร้อยละ 10.5
สำหรับหนี้สินหรือการกู้ยืมเงินนั้น อันดับหนึ่ง เป็นการกู้ยืมผ่านธนาคารพาณิชย์ คิดเป็นร้อยละ 35.8 อันดับสอง คือ บริษัทไฟแนนซ์/ลิสซิ่ง ร้อยละ 30.6 อันดับสาม คือ กองทุน ร้อยละ 23.1 อันดับสี่ คือ บริษัทสินเชื่อเงินด่วน ร้อยละ 20.8 อันดับห้าคือ คนปล่อยกู้ ร้อยละ 18.8 และอันดับหกคือ สหกรณ์ ร้อยละ 12.8
อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจพบว่ากลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 25.7 เคยถูกทวงถามหนี้ที่เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย โดยผลกระทบที่ได้รับจากการทวงหนี้ที่ผิดกฎหมายจากเจ้าหนี้ พบว่าอันดับ 1 หรือ ร้อยละ 28.5 ถูกประจานทำให้อับอาย อันดับที่สอง หรือ ร้อยละ 14.4 ถูกส่งคนติดตาม และอันดับที่สาม หรือ ร้อยละ 13.1 ถูกข่มขู่ ขณะที่ร้อยละ 26.8 ระบุว่า ไม่ได้รับผลกระทบ
ด้าน นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า มูลนิธิฯขอเรียกร้องให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ช่วยเหลือลูกหนี้ ดังนี้ 1.ขอให้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 2.ขอให้ออกมาตรการพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยจนถึงเดือน ธ.ค.2564 เนื่องจากเศรษฐกิจจะยังอยู่ในภาวะชะลอตัวจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19
3.ขอให้มีมาตรการจัดการกับธุรกิจการปล่อยสินเชื่อผ่านแอปพลิเคชันที่ผิดกฎหมาย และ4.ขอให้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ในการช่วยเหลือลูกหนี้ที่เริ่มมีปัญหาในการชำระหนี้โดยไม่ต้องรอให้เป็นลูกหนี้ NPL
“การช่วยเหลือลูกหนี้ขณะนี้คือ พยายามให้ลูกหนี้อยู่ในภาวะที่จะช่วยเหลือตัวเองและมีชีวิตอยู่ได้ โดยที่ไม่ต้องเพิ่มภาระจากการไปกู้เงินมาใช้ หากลูกหนี้ไม่มีงานทำ ไม่มีรายได้ ก็ไม่สามารถชำระหนี้ และไม่สามารถเก็บเงินเพื่อแฮร์คัตได้ ดังนั้น การพักชำระหนี้ควรจะเป็นการพักชำระหนี้ระยะยาว เพราะในสถานการณ์วิกฤตแบบนี้ ตอบไม่ได้เลยว่าลูกหนี้จะฟื้นตัวเมื่อไร” นางนฤมล กล่าว
นางนฤมล เสนอว่า เมื่อใดที่ลูกหนี้สามารถทำงานเก็บเงินมาใช้หนี้ ธนาคารควรเปิดโอกาสให้ลูกหนี้แฮร์คัตหนี้ได้ หรือให้ผ่อนชำระต่อจากหนี้เดิม ไม่ใช่การปรับโครงสร้างหนี้ให้เป็นหนี้ใหม่ ที่เป็นการนำภาระหนี้ทั้งเงินต้น ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมที่ค้างชำระมาทำเป็นเงินต้น และทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งสร้างความไม่เป็นธรรมกับลูกหนี้ รวมทั้งเปิดโอกาสให้ลูกหนี้เจรจาปิดบัญชีภายใต้เงินที่ลูกหนี้มี หรือตามรายได้ที่ลูกหนี้สามารถหาได้ เพื่อเป็นการลดภาระให้ลูกหนี้
นอกจากนี้ ธนาคารจะต้องมีมาตรการสร้างแรงจูงใจในการชำระหนี้ให้ลูกหนี้ที่มีการผ่อนชำระหนี้ที่ดี ซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 แต่ยังสามารถชำระหนี้ได้โดยไม่ผิดนัดชำระ เช่น ลดอัตราดอกเบี้ย เป็นต้น เนื่องจากลูกหนี้กลุ่มนี้อาจจะประสบปัญหาทางการเงินเช่นกัน เพียงแต่ยังหมุนเงินได้ เพราะยังมีอาชีพอยู่ แต่หากในอนาคตเกิดภาวะการเงินตึงตัว ลูกหนี้กลุ่มนี้อาจกลายเป็นลูกหนี้ผิดนัดชำระก็ได้
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage