กรมการแพทย์ไม่หวั่นชี้ระบบเพิ่มความสามารถรองรับผู้ป่วยจำนวนมากได้ เผยยิ่งตรวจเจอเร็ว-แยกตัวผู้ติดเชื้อ ทำให้ควบคุมโรคดีขึ้น เตรียมดึง HA ประเมินคุณภาพ Home Isolation
...................
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2564 นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวในการเสวนาออนไลน์ 'Home Isolation ทางรอดวิถีใหม่ ทำอย่างไรให้รอดจริง' เมื่อวานนี้ (18 ส.ค. 2564) ว่า ในช่วงนี้ก็มีนโยบายการใช้ชุดตรวจ Antigen test kit หรือ ATK เพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจหาเชื้อโควิด-19 ได้เร็วขึ้น ซึ่งจะช่วยให้สามารถแยกตัวผู้ติดเชื้อออกจากคนที่ไม่ติดเชื้อได้เร็ว อย่างไรก็ดี ก็มีบางส่วนที่กังวลว่าหากใช้ ATK ตรวจแล้วเจอผู้ติดเชื้อจำนวนมากๆ ระบบการดูแลแบบ Home Isolation, Community Isolation จะรองรับได้ไหวหรือไม่ ประเด็นนี้ยืนยันว่าทางกรมการแพทย์และฝ่ายที่เกี่ยวข้อง สามารถเพิ่มขีดความสามารถรองรับผู้ป่วยจำนวนมากๆได้ เช่น การใช้บุคลากรจากโรงพยาบาลต่างจังหวัดมาช่วยทำ Telemedicine ติดตามอาการผู้ป่วยได้ โดยให้ส่วนกลางจัดการเรื่องการจัดส่งอุปกรณ์และยาต่างๆให้ หรือทาง กทม.เอง ก็มีการจัดตั้ง Community Isolation ประมาณ 60 แห่งและเท่าที่ติดตามสถานการณ์พบว่ายังมีเตียงว่างอยู่ หรือในส่วนของการรองรับผู้ป่วยสีเหลือง ทางกรมการแพทย์คาดว่าจะสามารถเพิ่มเตียงสนามหรือ Hospitel ได้อีก 2,000-3,000 เตียง ภายในสิ้นเดือนนี้ ดังนั้นจึงไม่ห่วงว่าการตรวจ ATK แล้วเจอผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ในทางกลับกัน การตรวจด้วย ATK จะช่วยแยกคนไข้ได้เร็วและควบคุมโรคได้ดีขึ้น
นพ.สมศักดิ์ กล่าวด้วยว่า โดยหลักการเมื่อตรวจ ATK แล้วผลเป็นบวก กระบวนการต่อไปคือการเข้าสู่ระบบการดูแลแบบ Home Isolation, Community Isolation โดยทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จะสนับสนุนอาหาร 3 มื้อ เครื่องวัดอุณหภูมิ เครื่องวัดออกซิเจนในเลือด ยา และมีแพทย์ติดตามอาการผ่านระบบการดูแลผู้ป่วยทางไกล ซึ่งปัจจุบันมีคนไข้ที่เข้าระบบการดูแลแบบ Home Isolation, Community Isolation แล้วประมาณ 7-8 หมื่นคน และพบว่าจำนวนผู้ติดเชื้อรอเตียงที่เคยสูงถึงหลักหมื่น ปัจจุบันลดจำนวนลงเรื่อยๆ หรือตัวเลขระยะเวลาการรอเตียงของผู้ป่วยสีเหลือง-แดง ที่มากกว่า 1 วัน ก็ลดลงกว่า 50% ข้อมูลเหล่านี้คือสิ่งที่สะท้อนว่ากระบวนการ Home Isolation สามารถเข้ามาแบ่งเบาภาระเตียงในโรงพยาบาลได้อย่างดี
นอกจากนี้ กรมการแพทย์พยายามเน้นย้ำกับหน่วยบริการในเรื่องคุณภาพการดูแลในระบบ Home Isolation เพราะที่ผ่านมายอมรับว่าหลังจากจับคู่ผู้ป่วยเข้า Home Isolation แล้วต้องส่งอุปกรณ์ทางการแพทย์ อาหาร ยา ไปให้ผู้ป่วย เพราะพอลงไปถึงระดับปฏิบัติในพื้นที่ เช่น คลินิกชุมชนอบอุ่น ก็ยังมีความลักลั่นกันอยู่ ในส่วนนี้ได้มีการหารือกันว่าจะดึงสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (HA) มาทำการประเมินคุณภาพในทุกๆระดับ ทั้งโรงพยาบาลและคลินิกชุมชนอบอุ่น จะเป็นหลักประกันใน 2 ส่วนคือ กรณีผู้ป่วยมีอาการแย่ลงหน่วยบริการจะต้องทราบ และช่วยในเรื่องการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ
ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ภารกิจหลักของ สปสช.คือการสนับสนุนงบประมาณแก่หน่วยบริการ เช่นการสนับสนุนอาหาร 3 มื้อ เครื่องวัดอุณหภูมิ เครื่องวัดออกซิเจน ยาต่างๆ รวมทั้งให้สายด่วน 1330 ช่วยจับคู่ผู้ป่วยกับหน่วยบริการ ตลอดจนการส่งยาเบื้องต้นระหว่างผู้ป่วยรอจับคู่กับหน่วยบริการ ขณะที่ในส่วนของการใช้ชุดตรวจ ATK นั้นก็จะเป็นกระบวนการหนึ่งที่จะทำให้ค้นหาผู้ป่วยได้เร็วขึ้นเมื่อเทียบกับการตรวจแบบ RT-PCR
"เมื่อมีนโยบายจะใช้ ATK ทาง สปสช.ก็ได้เตรียมงบประมาณจัดซื้อ ATK สำหรับให้ประชาชนตรวจด้วยตัวเอง อย่างไรก็ดี ขั้นตอนในขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดซื้อโดยองค์การเภสัชกรรม (อภ.) แต่ที่ผ่านมาอาจมีคำถามเรื่องคุณภาพผลิตภัณฑ์ ดังนั้นขอเวลาให้ทีมวิชาการได้สร้างความมั่นใจ และเมื่อจัดซื้อเสร็จแล้ว สปสช.จะรีบกระจาย ATK โดยขณะนี้แม้ชุดตรวจยังไม่มา แต่ก็วางแผนจัดส่งไปตามโรงพยาบาล ศูนย์บริการสาธารณสุข คลินิกชุมชนอบอุ่น หรือแม้แต่ร้านยา หรือแม้แต่การส่งทางไปรษณีย์หรือให้ Rider ขับไปส่ง โดยเน้นในพื้นที่สีแดงที่มีการระบาดมากๆก่อน" นพ.จเด็จ กล่าว
นพ.จเด็จ กล่าวด้วยว่า เมื่อมีการจัดซื้อและจัดส่งให้ประชาชนแล้ว ในกรณีที่ตรวจพบว่ามีผลเป็นบวก วิธีที่ง่ายที่สุดคือติดต่อกลับไปยังหน่วยบริการที่ส่งชุดตรวจมาให้ ทางหน่วยบริการก็จะประสานให้ผู้ป่วยรายนั้นๆเข้าสู่การดูแลแบบ Home Isolation หรืออาจโทรสายด่วน 1330 ต่อ 14 หรือเว็บไซต์ของ สปสช. https://crmsup.nhso.go.th/#TicketHI หรือไลน์ สปสช. เพิ่มเพื่อนที่ @nhso ก็ได้
ขณะที่ พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวถึงแนวทางการใช้สมุนไพรในการดูแลผู้ติดเชื้อในระบบ Home Isolation ว่า ในกรณีที่ผู้ติดเชื้อมีร่างกายแข็งแรง แพทย์ผู้ดูแลสามารถพิจารณาจัดยาสมุนไพรให้ได้หลายตัว โดยแบ่งเป็น 4 กลุ่มใหญ่ 1.กลุ่มยาลดไข้ บรรเทาอาการปวดเมื่อย อาทิ ยาเขียวหอม ยาจันทน์ลีลา ยาประสานจันทน์แดง ยาห้าราก 2.บรรเทาอาการในระบบทางเดินหายใจ เช่น น้ำมูกไหล ไอ เจ็บคอ ได้แก่ ยาแก้ไอผสมกานพลู ยาแก้ไอผสมมะขามป้อม ยาแก้ไอผสมมะนาวดอง ยาตรีผลา 3.บรรเทาอาการในระบบทางเดินอาหาร เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ท้องอืดท้องเฟ้อ ได้แก่ น้ำขิง และ 4.อาการอื่นๆ เช่น อ่อนเพลีย วิงเวียนศีรษะ อาทิ ยาโกฏจุฬารัมภา เป็นต้น อย่างไรก็ดี ต้องย้ำว่ายาเหล่านี้ต้องบอกว่าเป็นยาที่ใช้บรรเทาอาการเท่านั้น และกรณีที่มีการลือกันว่าทานสมุนไพรตัวนั้นตัวนี้แล้วจะป้องกันโควิด-19 ได้ ขอยืนยันว่าขณะนี้ยังไม่มีสมุนไพรตัวใดที่มีการยืนยันว่าป้องกันโควิด-19 ได้ แต่ในแง่การรักษาที่มีการศึกษาแล้วว่าช่วยได้คือฟ้าทะลายโจร และอีกตัวที่มาแรงและอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลการศึกษาในมนุษย์คือกระชาย
"ในส่วนฟ้าทะลายโจรนั้น สามารถใช้ในกลุ่มที่ทำ Home Isolation ที่อาการไม่รุนแรง แต่มีข้อพึงระวังคือหากผู้ป่วยมีโรคประจำตัวเดิม เช่น โรคไต อาจเกิดปัญหาได้ ดังนั้นผู้ป่วยโรคไตต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้สมุนไพรทุกชนิด รวมทั้งผู้ที่เป็นโรคตับ ก็ต้องระวังการใช้และควรปรึกษาแพทย์ก่อน ทั้งนี้ หากประชาชนมีข้อสงสัยในการใช้ยาสมุนไพร สามารถเข้าไปที่ไลน์ @FAH FIRST AID โดยจะมีเจ้าหน้าที่ให้ข้อมูลเพิ่มเติมให้" พญ.อัมพร กล่าว