‘วิจัยกรุงศรี’ ชี้เศรษฐกิจครึ่งปีหลังอ่อนแอลงจากการแพร่ระบาดของโควิด คาดผู้ติดเชื้อแตะ 2.6 หมื่นคนต้นเดือน ก.ย. ระบุจีดีพีเสี่ยง ‘ขาลง’ หากมาตรการการคลัง-การเงินไม่เพียงพอ ขณะที่ ‘ศูนย์วิจัยกสิกรไทย’ คาดจีดีพีปี 64 หดตัว -0.5%
...........................
เมื่อวันที่ 17 ส.ค. วิจัยกรุงศรี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยในรายงานวิจัยเศรษฐกิจประจำสัปดาห์ ว่า แม้ว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 2/2564 ขยายตัวได้ 7.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวที่ดีกว่าคาด แต่การระบาดของ COVID-19 ในประเทศที่ยังมีจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันอยู่ในระดับสูง และมากกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ในกรณีฐาน จึงคาดว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มอ่อนแอกว่าช่วงครึ่งปีแรก
ทั้งนี้ ล่าสุดวิจัยกรุงศรีคาดว่าจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันอาจแตะระดับ 26,000 ราย ในช่วงต้นเดือน ก.ย. และจำนวนผู้เสียชีวิตอาจสูงสุดในช่วงสัปดาห์ที่ 2 ของเดือน ก.ย.
ดังนั้น คาดว่ากว่าที่ทางการจะผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์น่าจะเป็นช่วงปลายเดือน ก.ย. เป็นผลให้อุปสงค์ในประเทศและหลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจในไตรมาส 3 มีแนวโน้มซบเซา นอกจากนี้ ภาคการผลิตและภาคส่งออกอาจได้รับความเสี่ยงจากการระบาดที่แพร่ไปสู่ภาคอุตสาหกรรมเป็นวงกว้างขึ้น รวมถึงอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าที่อาจชะลอลงหลังจากหลายประเทศประสบกับการกลับมาระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19
“เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังจึงมีแนวโน้มอ่อนแอลงจากครึ่งปีแรกอย่างชัดเจน ขณะที่ประมาณการ GDP ปีนี้ที่วิจัยกรุงศรีคาดไว้ว่าจะเติบโตที่ 1.2% เผชิญความเสี่ยงขาลงมากขึ้น หากมาตรการทางการคลังและการเงินที่กำลังจะออกมาไม่มากเพียงพอที่จะบรรเทาผลเชิงลบดังกล่าว” วิจัยกรุงศรี ระบุ
วิจัยกรุงศรี ยังระบุว่า การระบาดแพร่ไปสู่ภาคการผลิตเป็นวงกว้างมากขึ้น ซึ่งเสี่ยงกระทบส่งออก ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือน ก.ค.2564 ปรับลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 สู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน มิ.ย.2563 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับลดลงอยู่ที่ 89.3 จาก 90.8 ในเดือน มิ.ย.2564 เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลต่อการระบาดของ COVID-19 ที่ยังไม่คลี่คลาย โดยเฉพาะการระบาดในโรงงานอุตสาหกรรม
“การระบาดแพร่กระจายเป็นวงกว้างในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น อาทิ อุตสาหกรรมอาหาร อิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ โลหะ และพลาสติก ทั้งนี้ หากไม่สามารถควบคุมการระบาดในคลัสเตอร์โรงงานได้ คาดว่าผลกระทบด้านแรงงานอาจบั่นทอนผลผลิตภาคอุตสาหกรรรมและภาคส่งออก ส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจในไตรมาส 3 มีแนวโน้มอ่อนแอลง”
วิจัยกรุงศรี ระบุว่า ด้านเศรษฐกิจโลก การระบาดรอบใหม่จากไวรัสสายพันธุ์เดลต้าสร้างแรงกดดันต่อเศรษฐกิจหลายประเทศ ซึ่งรวมถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐฯที่ร่วงลง แต่ความแข็งแกร่งของตลาดแรงงานยังคงหนุนเฟดประกาศปรับลด QE ในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ ในขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวันพุ่งแตะระดับ 129,705 รายสูงสุดในรอบ 6 เดือน เป็นผลจากการระบาดรุนแรงของไวรัสสายพันธุ์เดลต้าที่อาจกระทบเศรษฐกิจในระยะถัดไป
เช่นเดียวกัน การทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นอาจได้รับผลกระทบจากการระบาดรอบใหม่ที่มีสาเหตุสำคัญจากไวรัสสายพันธุ์เดลต้า โดยจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวันแตะระดับ 15,000 รายสูงสุดนับตั้งแต่โรค COVID-19 เริ่มแพร่ระบาด รัฐบาลญี่ปุ่นได้ประกาศภาวะฉุกเฉินเป็นครั้งที่ 4 เริ่มจากเมืองโอกินาวาในเดือนมิถุนายนและขยายออกไปจนครอบครอบคลุมพื้นที่ 6 จังหวัด รวมทั้งกรุงโตเกียวและนครโอซาก้า
ส่วนเศรษฐกิจจีนอาจชะลอตัวต่อเนื่องจากปัจจัยลบทั้งการแพร่ระบาดของไวรัสเดลต้าและการยกระดับมาตรการควบคุมการเก็งกำไร ในเดือน ก.ค. การส่งออกขยายตัว 19.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ต่ำสุดในรอบ 7 เดือน ขณะที่ยอดจำหน่ายรถยนต์ลดลง 11.9% หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ส่วนอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 1.0% ต่ำสุดในรอบ 3 เดือน ด้านปริมาณสินเชื่อออกใหม่เติบโต 12.3% ทรงตัวจากเดือนก่อน
ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือน (KR-ECI) เดือน ก.ค. 64 ว่า ดัชนีฯปรับลงมาอยู่ที่ 34.7 ต่ำกว่าช่วงการการล็อกดาวน์ทั้งประเทศในเดือน เม.ย.2563 ซึ่งอยู่ที่ 35.1 ขณะที่ดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าก็ปรับลดลงอยู่ที่ 36.6 จาก 38.9 ในเดือน มิ.ย. ซึ่งสะท้อนว่า ครัวเรือนยังคงกังวลกับภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพ โดยเฉพาะภาวะการจ้างงานและรายได้
จากการสำรวจเพิ่มเติมของศูนย์วิจัยกสิกรไทยเกี่ยวกับผลกระทบจากการล็อกดาวน์ใน 10 จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดพบว่า ครัวเรือนมากกว่าครึ่ง (64.2 %) ได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์ โดยส่วนใหญ่ (64.2%) มีรายได้จากการจ้างงานที่ลดลง ขณะที่บางส่วน (14.3%) ธุรกิจปิดกิจการและถูกเลิกจ้าง ขณะที่ผลการสำรวจเกี่ยวกับการเข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐสะท้อนว่า มีครัวเรือนถึง 30.6% ไม่ได้เข้าร่วมทั้งสองโครงการ โดยโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้มีผู้เข้าร่วมเพียง 2.9%
อย่างไรก็ตาม การออกมาตรการเยียวยา 9 กลุ่มอาชีพใน 13 พื้นที่เสี่ยงที่ถูกล็อกดาวน์ น่าจะเข้ามาช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นได้บางส่วน
“ในระยะข้างหน้า ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนยังเผชิญความไม่แน่นอนสูง โดยสถานการณ์การระบาดที่ยืดเยื้อและมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวดขึ้น จะยิ่งเป็นปัจจัยกดดันต่อตลาดแรงงานต่อเนื่องไปจนถึงกำลังซื้อของภาคครัวเรือน ดังนั้น ภาครัฐควรออกมาตรการเยียวยาที่ตรงจุดและเข้าถึงง่ายเพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นควบคู่ไปกับการจัดหา จัดสรร และแจกจ่ายวัคซีนอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงเร่งควบคุมสถานการณ์ เช่น การตรวจเชิงรุกเพราะทุกเวลาที่ผ่านไปคือความสูญเสียที่เกิดขึ้นแก่ภาคประชาชนและประเทศ” ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุ
ก่อนหน้านี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยจากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวที่ 1.0% มาเป็น -0.5% โดยมองว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กำลังเผชิญอยู่มีแนวโน้มรุนแรงและลากยาวขึ้นกว่าที่เคยประเมินไว้เมื่อเดือนกรกฎาคม การประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดที่กำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้คาดว่า จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันจะแตะระดับสูงสุดในเดือน ก.ย. และจะค่อยๆ ลดจำนวนลง แต่กว่าสถานการณ์จะควบคุมได้หรือจำนวนผู้ติดเชื้อจะลดลงต่ำกว่า 1,000 คนต่อวัน คาดว่าไม่เร็วไปกว่าไตรมาสที่ 4 ในปี 2564 นี้
“คาดว่ารัฐบาลจะยังคงมาตรการล็อกดาวน์อย่างเข้มงวดไปไม่ต่ำกว่า 2 เดือน (เริ่ม ก.ค. 2564) ซึ่งจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่ตามมา และแม้ว่าภาครัฐจะมีมาตรการออกมาเพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบกับกลุ่มผู้ประกอบการและลูกจ้างในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากมาตรการล็อกดาวน์ แต่คงไม่สามารถชดเชยผลกระทบได้ทั้งหมด” ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุ
นอกจากนี้ แม้ว่ารัฐบาลอาจมีการทยอยผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ในบางธุรกิจ แต่หากจำนวนผู้ติดเชื้อยังคงอยู่ในระดับสูง ในขณะที่อัตราประชากรที่ได้รับวัคซีนครบโดสยังไม่สูงมากก็จะทำให้ประเด็นความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังไม่กลับมาปกติ ซึ่งจะมีผลต่อเนื่องมายังกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้ยังไม่สามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว
ส่วนผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาท่องเที่ยวในไทยอาจน้อยกว่าที่คาด เนื่องมาจากความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยการแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลต้าส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อกลับมาเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ รวมถึงในประเทศไทย ส่งผลให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาท่องเที่ยวในไทยในปีนี้อาจลดลงอยู่ที่ราว 1.5 แสนคน
ในขณะที่ ภาคการผลิตเผชิญความเสี่ยงที่สูงขึ้นจากการแพร่ระบาดในโรงงาน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกซึ่งเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ นอกจากนี้ อาจทำให้สินค้าในประเทศเกิดภาวะขาดตลาดในบางช่วงจังหวะเวลาอีกด้วย อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐฯ และอียู ประกอบกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่า น่าจะยังส่งผลให้การส่งออกไทยในปีนี้มีแนวโน้มที่จะยังคงขยายตัวได้ในระดับสูง
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage