สภาองค์กรของผู้บริโภค กังวลชุดตรวจ ATK ทำให้เกิดผลลวง กระทบประชาชนไม่ได้รับการรักษา หากติดเชื้อ จี้นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจในฐานะประธาน ศบค. สั่งการซื้อชุดตรวจที่มีคุณภาพ และยับยั้งการจัดซื้อผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีคุณภาพ
--------------------------------
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 16 ส.ค.2564 สภาองค์กรผู้บริโภค ออกเอกสารเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี ใช้อำนาจในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด (ศบค.) จัดซื้อชุดตรวจ ATK (Antigen Test Kit) ที่มีคุณภาพ และยับยั้งการจัดซื้อเอทีเคที่ไม่มีคุณภาพ ระบุว่า
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิดที่มีตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นทุกวันนั้น คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จึงมีมติให้จัดซื้อชุดตรวจ Rapid Antigen Test หรือ Antigen Test Kit (ATK) จำนวน 8.5 ล้านชุด เพื่อแจกจ่ายให้ประชาชนได้ตรวจเชื้อโควิดด้วยตนเอง โดยคณะทำงานกำหนดอัตราค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข และ สปสช. ได้กำหนดคุณสมบัติด้านคุณภาพชุดตรวจ ATK เบื้องต้นที่สำคัญ 4 ประการ ดังนี้ 1. มีคุณภาพ-ผลตรวจมีความแม่นยำสูง โดยมีความไวไม่ต่ำกว่าร้อยละ 95 และความจำเพาะไม่น้อยกว่าร้อยละ 98 2. ผ่านการรับรองจากองค์การอนามัยโลก (WHO) 3. มีงานศึกษา งานวิจัยรองรับ และผ่านการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ และ 4. สามารถจัดส่งได้ทันที เพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดการการแพร่ระบาดรุนแรงในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้งประชาชนจะได้เข้าถึงบริการตรวจคัดกรองได้รวดเร็ว
ทั้งนี้ เนื่องจาก สปสช. ไม่สามารถจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ได้ด้วยตนเอง จึงต้องให้ตัวแทนเครือข่ายหน่วยบริการที่ขึ้นทะเบียนกับ สปสช. คือ โรงพยาบาลราชวิถีดำเนินการจัดซื้อแทน ซึ่งโรงพยาบาลราชวิถีมอบหมายให้องค์การเภสัชกรรม (อภ.) เป็นผู้ดำเนินการจัดซื้อ ATK ในครั้งนี้ และพบว่า ได้มีการปรับลดเงื่อนไขลงจากที่ตั้งต้นไว้ โดยเฉพาะเงื่อนไขสำคัญ คือ ชุด ATK ที่จะจัดซื้อ ไม่ต้องผ่านการรับรองจาก WHO เหลือเพียงผ่านการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เท่านั้น
สภาองค์กรของผู้บริโภค มีความวิตกกังวลว่า หากชุดตรวจ ATK ไม่มีคุณภาพตามที่กำหนดไว้ตั้งแต่ต้น จะทำให้เกิดผลลบลวง (False Negative) จำนวนมากขึ้น และหากพิจารณาจากประสิทธิภาพของบริษัทที่ได้รับเลือกจาก อภ. จะทำให้มีประชาชนที่มีผลลบลวงจำนวนสูงถึง 850,000 ราย รวมทั้งทำให้ผู้ติดเชื้อโควิดที่มีผลลบลวงเหล่านี้ขาดโอกาสได้รับการดูแลรักษาพยาบาล โดยเฉพาะการได้รับยาที่จำเป็นอย่างทันการณ์และอาจมีอาการรุนแรงจนต้องเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาล
สิ่งเหล่านี้ผิดไปจากวัตถุประสงค์ที่จะให้ผู้ติดเชื้อโควิด ซึ่งไม่แสดงอาการหรือมีอาการเล็กน้อยได้รับการดูแลแบบ Home Isolation และผู้ติดเชื้อโควิด ที่มีผลลบลวงยังจะทำให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อโรคสู่ชุมชนโดยไม่รู้ตัวจนทำให้ยากต่อการควบคุมโรคให้สงบได้ ขัดกับแนวทางควบคุมโรคที่ต้องการให้มีการควบคุมโรคให้ได้ผลมากที่สุด ดังนั้น จึงต้องได้ชุดตรวจที่ให้ผลลบลวง (False Negative) น้อยที่สุด และมีความแม่นยำมากที่สุด อย่างไรก็ตาม การปล่อยให้มีการเดินหน้าจัดซื้อ ATK ที่มีคุณภาพต่ำจะมีผลกระทบทั้งต่อผู้ติดเชื้อโควิดที่ให้ผลลบลวงและการควบคุมโรคของประเทศดังได้กล่าวข้างต้น
สภาองค์กรของผู้บริโภค จึงมีข้อเสนอและการดำเนินการ ดังนี้
1) ขอให้นายกรัฐมนตรีในฐานะประธานศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส (ศบค.) ใช้ภาวะผู้นำในวิกฤตโควิด ทบทวนการจัดซื้อ ATK โดยเลือกซื้อชุดตรวจที่มีคุณภาพสูงสุด และขอให้นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจในการยับยั้งการจัดซื้อ ATK ที่กำลังดำเนินการโดย อภ.
2) ขอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ สปสช. สามารถจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ได้เอง เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนในการเข้าถึงยาและเวชภัณฑ์ที่มีคุณภาพดีราคาเหมาะสม เนื่องจากการดำเนินการของ สปสช. เป็นการดำเนินการที่มีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย ทั้งประชาชน ผู้ประกอบวิชาชีพ หน่วยงานกระทรวงสาธารณสุข ในการจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ที่มีจำนวนมาก เพื่อต่อรองให้ได้ของที่มีคุณภาพและมีราคาที่เป็นธรรมกับประเทศ
3) สภาองค์กรของผู้บริโภค พร้อมสนับสนุนประชาชนที่ได้รับการตรวจ ATK และได้รับผลลบลวง ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage