สธ. เผย จัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ให้บุคลากรแพทย์ด่านหน้าครบ 7 แสนโดสแล้ว คาดส่งถึงพื้นที่รอบสุดท้ายไม่เกิน 14 ส.ค.
-----------------------------------------------------------------
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 13 ส.ค.2564 นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรค และภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน ร่วมแถลงข่าวประจำวันของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด (ศบค.) ถึงความก้าวหน้าการบริหารวัคซีนโควิด ว่า การบริหารวัคซีนไฟเซอร์ที่ได้รับบริจาค 1.5 ล้านโดส ขอย้ำว่านโยบายในการบริหารให้มีความโปร่งใส ไม่ต้องกังวลว่าจะมีล็อตไหนที่มีการสูญหาย ได้มีการแบ่งชัดเจนว่าจะไปในกลุ่มใดบ้าง และย้ำว่าไม่มีประเด็นของการฉีดวีไอพี หากประชาชนพบเห็นและมีข้อสงสัย สามารถแจ้งเข้ามาได้เพื่อที่จะได้มีการตรวจสอบ ยืนยันเพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย
นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า วัคซีนดังกล่าวสำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่มีความเสี่ยงที่จะสัมผัสผู้ป่วย จำนวน 700,000 โดส จัดสรรลงพื้นที่ที่มีการระบาด จำนวน 645,000 โดส ใช้สำหรับเพื่อการศึกษาวิจัยจำนวน 5,000 โดส ให้กลุ่มประชากรที่กระทรวงการต่างประเทศดูแล จำนวน 150,000 โดส
"การกระจายวัคซีนไปยัง 77 จังหวัด ส่งเป็น 2 รอบ โดยรอบแรกส่งไปแล้ว 442,800 โดส เริ่ม 4-5 ส.ค. ส่วนรอบที่สอง จำนวน 257,200 โดส เริ่มทยอยส่งมาตั้งแต่วันที่ 8 ส.ค. และมีการติดตามข้อมูลอยู่โดยตลอด เพื่อดูฐานข้อมูลและปริมาณการฉีดของแต่ละที่ที่ได้ไป พื้นที่ก็จะได้ใช้ตรวจสอบ ดังนั้นถ้าใครเข้าใจว่าตัวเองเป็นบุคลากรมีความเสี่ยง แต่ยังไม่มีรายชื่อได้รับจัดสรรก็สามารถแจ้งต่อผู้บริหารเพื่อที่จะดูหลักเกณฑ์และส่งชื่อเข้ามาได้ หากตรงตามหลักเกณฑ์แล้วก็จะได้รับการฉีดครบถ้วนทุกคน ซึ่งคาดว่าการส่งในรอบที่สองนี้จะถึงพื้นที่ไม่เกินวันที่ 14 ส.ค. การทยอยส่งวัคซีนเช่นนี้จะเป็นประโยชน์ เรื่องการจัดเก็บ ดูแล การรักษาอุณหภูมิ "
นพ.เฉวตสรร กล่าวอีกว่า ในส่วนกลุ่ม 608 คือกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 7กลุ่มโรคเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป มีการจัดส่งไปแล้ว 320,880 โดส ใน 13 จังหวัด ซึ่งในส่วนที่เหลือก็จะจัดส่งในช่วงปลายเดือนสิงหาคมนี้ ซึ่งการแยกส่งอย่างนี้จะเป็นประโยชน์ในการบริหารจัดการเพราะวัคซีนที่ส่งไปในกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้นั้น เมื่อฉีดเข็มที่หนึ่ง 3 สัปดาห์ถัดไป จะต้องนัดฉีดเข็มที่สอง ซึ่งถ้าหากส่งไปล็อตเดียวกัน วัคซีนไปจัดเก็บในตู้เย็นที่มีอุณหภูมิ เป็นตู้เย็นปกติจะสามารถเก็บอยู่ได้เพียง 1 เดือน ดังนั้นอาจทำให้วัคซีนเสื่อมสภาพได้ การทยอยส่งจะได้ให้เกิดการบริหารการนัดหมายฉีด และอยู่ในระยะเวลาที่วัคซีนมีคุณภาพดี
นพ.เฉวตสรร กล่าวด้วยว่า สำหรับการฉีดวัคซีนในคนต่างชาติที่พำนักอยู่ในประเทศไทย ในคนไทย หรือนักเรียนที่มีความจำเป็นจะต้องเดินทางไปต่างประเทศ ก็มีความก้าวหน้าในการฉีด โดยฉีดไปแล้ว 280,075 คน คิดเป็น 5.72% ของจำนวนประชากรต่างชาติที่อยู่ในประเทศไทย และมีที่ได้รับวัคซีนสองเข็มไปแล้ว 74,587 คน ผู้สูงอายุ 20,903 คนคิดเป็น 7.5 % ของกลุ่มผู้สูงอายุที่อยู่อาศัยในประเทศไทย ในส่วนของสัญชาติ ได้แก่ เมียนมา ส่วนหนึ่งได้รับการฉีดในพื้นที่ระบาด เพื่อควบคุมการระบาด จำนวน 140,000 กว่าราย จีน โดยมีวัคซีนที่ได้รับบริจาคจากประเทศจีน ที่ฉีดให้ทั้งคนจีนและคนไทยด้วย 37,000 ราย กัมพูชา ลาว ญี่ปุ่น ลดหลั่นลงไป ในส่วนของนักเรียนไทยที่จะต้องเดินทางไปศึกษาต่อต่างประเทศ ฉีดไปแล้ว 2,878 ราย
นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า การฉีดวัคซีนสะสมถึงเมื่อวันที่ 12 สิงหาคมเวลา 18.00 น. ยอดฉีดสะสมทั้งสิ้น 22 ล้าน โดสแล้ว จำนวนผู้ได้รับบักซีนเข็มหนึ่ง 17 ล้านราย(23.9%) เข็มสอง 4.8 ล้านราย เข็มสาม ซึ่งเป็นการกระตุ้นในบุคลากรการแพทย์ 414,066 ราย ถ้าแยกเป็นยี่ห้อวัคซีนไม่ว่าจะเป็นเข็มใดก็ตาม ซิโนแวก 10.7 ล้านโดส แอสตร้าเซนเนก้า 9.6 ล้านโดส ซิโนฟาร์ม 1.7 ล้านโดส ไฟเซอร์ 286,000 โดส
นพ.เฉวตสรร กล่าวด้วยว่า ในช่วงนี้มีกรณีที่เป็นข่าวบุคลากรการแพทย์หลังฉีดวัคซีนไฟเซอร์เข็มที่สาม เป็นบุคลากรที่อยู่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบางคลาน จังหวัดพิจิตร เพศชาย อายุ 44 ปี หลังจากฉีดเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พบว่าเสียชีวิตในวันที่ 11 สิงหาคมซึ่งต้องขอแสดงความเสียใจกับญาติและครอบครัวกับเพื่อนร่วมงาน ซึ่งผู้เสียชีวิตเป็นเจ้าหน้าที่ที่เสียสละทุ่มเทในการทำงานอาจจะด้วยความเสี่ยงด้านสุขภาพ ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตขึ้นมา ทั้งนี้รายละเอียดการชันสูตร ได้รวบรวมข้อมูลนำเข้าคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญอาการไม่พึงประสงค์หลังการฉีดวัคซีนป้องกัน โควิด-19 ต่อไป แล้วจะได้นำมารายงานให้ทราบ
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage