สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน แถลงการณ์เรียกร้อง ผู้ชุมนุม-เจ้าหน้าที่รัฐ ทบทวนวิธีการชุมนุม-การปฏิบัติต่อผู้ชุมนุม โดยยึดหลักสากล ยุติใช้ความรุนแรงเปิดช่องเจรจาหาทางออกสันติวิธี
--------------------------------
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 13 ส.ค.2564 สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) ออกแถลงการณ์ เรียกร้องผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่รัฐทบทวนวิธีการชุมนุมและการปฏิบัติต่ออผู้ชุมนุม โดยยึดหลักสากลอย่างเหนี่ยวแน่น ระบุว่า สืบเนื่องจากการชุมนุมของประชาชนกลุ่มต่างๆ ในใจกลางกรุงเทพมหานครตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 7 ส.ค. 2564 เป็นต้นมา เพื่อเรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีลาออก ให้นำงบสถาบันและกองทัพมาใช้ในการสู้กับโรคโควิด ให้เปลี่ยนวัคซีนที่ทางกลุ่มระบุว่าเป็นของเจ้าสัว CP มาใช้วัคซีน mRNA นั้น มีเครือข่ายเยาวชนปลดแอก กลุ่ม REDEM ชุมนุมกันในวันแรก ส่วนอีก 3 วันต่อมา กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ได้ร่วมชุมนุมกับกลุ่ม Car Mob โดยรัฐบาลได้เตรียมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนหลายกองร้อยเพื่อรับมือกับมวลชน โดยทั้งสองฝ่ายไม่มีการเสนอตัวแทนเพื่อเจรจาระหว่างการชุมนุม และไม่สามารถกุมสภาพเพื่อหลีกเลี่ยงความรุนแรงจากกลุ่มคนไม่หวังดีนั้น
ข้อเท็จจริงปรากฏว่ามีเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ในจุดต่างๆ ดังเช่น ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ แยกสามเหลี่ยมดินแดง และที่อื่นๆ ต่อมาปรากฏทั้งสองฝ่ายไม่ได้ใช้การเว้นระยะห่างให้เป็นประโยชน์ในการหลีกเลี่ยงความรุนแรง มีการยั่วยุกันไปมา โดยมีข้อเท็จจริงว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ใช้อาวุธ แก๊สน้ำตา กระสุนยาง ยิงจากที่สูงหรือยิงไปที่ผู้ชุมนุมโดยไม่แยกแยะ และไม่ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ใช้มาตรการจากเบาไปหาหนัก ทำให้ทั้งสองฝ่ายรวมทั้งนักข่าวที่แสดงสัญลักษณ์สื่อมวลชนได้รับบาดเจ็บ เกิดการทำลายทรัพย์สินของสถานที่ต่างๆ ตามมา
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) มีความห่วงใยอย่างยิ่งต่อการชุมนุมของกลุ่มประชาชน และการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ขัดหลักสากล ไม่ได้สัดส่วน หากทั้งสองฝ่ายยังคงใช้ยุทธวิธีที่รุนแรงเช่นนี้ต่อไป จำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บ ผู้ถูกจับกุมก็จะเพิ่มมากขึ้น สสส. เห็นว่าข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ที่ผ่านมาซึ่งขอให้ทุกฝ่ายยุติการใช้ความรุนแรง ให้มีช่องทางเจรจาระหว่างผู้จัดชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ และแสวงหาทางออกระยะยาวโดยสันติวิธี เป็นข้อเสนอที่ทุกฝ่ายควรพิจารณาไตร่ตรองเพื่อนำมาสู่การปฏิบัติ บนหลักการกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights : ICCPR) ข้อ 21 กำหนดว่า สิทธิในการชุมนุมโดยสงบย่อมได้รับการรับรอง การจำกัดการใช้สิทธินี้จะกระทำมิได้ นอกจากจะกำหนดโดยกฎหมายและเพียงเท่าที่จำเป็นสำหรับสังคมประชาธิปไตย เพื่อประโยชน์แห่งความมั่นคงของชาติหรือความปลอดภัย ความสงบเรียบร้อย การสาธารณสุข หรือศีลธรรมของประชาชนหรือการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น
ทั้งนี้ยังขอให้ยึดถือหลักการพื้นฐานว่าด้วยการใช้กำลังและอาวุธโดยเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย (Basic Principles of the Use of Force and Firearms by Law Enforcement Officials) ที่รับรองโดยสหประชาชาติครั้งที่ 8 ที่กรุงฮาวานา ประเทศคิวบา ข้อ 12-14 กำหนดว่า ประชาชนมีสิทธิเข้าร่วมการชุมนุมสาธารณะที่ชอบด้วยกฎหมายและโดยสงบ ซึ่งถ้าหากมีการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่รัฐ การใช้กำลังนั้นก็จะต้องเป็นไปอย่างจำกัด
สุดท้ายนี้ สสส.ขอยืนยันหลักการสันติวิธี จำกัดการใช้อาวุธทุกรูปแบบจากทุกฝ่าย สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนยังจำเป็นต้องดำรงอยู่ในสังคมประชาธิปไตยต่อไป และสนับสนุนการทำงานอย่างอิสระของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ในการติดตามสถานการณ์ โดยเฉพาะการทำงานของรัฐบาลและการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ที่อาจกระทบต่อสิทธิมนุษยชน โดยข้อเสนอแนะของ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จะต้องได้รับการพิจารณาจากรัฐบาลและหน่วยงานรัฐอย่างจริงจัง ไม่ควรที่นักการเมืองฝ่ายรัฐบาลหรือรัฐบาลจะละเลย ลดทอน ข่มขู่ หรือควบคุมการทำงานขององค์กรอิสระที่ก่อตั้งขึ้นมาตามรัฐธรรมนูญ
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage