‘ซีอีโอนกแอร์’ ร่อนหนังสือถึงประธานบอร์ด บสย. ช่วยผลักดันการอนุมัติปล่อยซอฟต์โลน 1,000 ล้านบาท ระบุที่ผ่านมายังไม่เคยได้รับความช่วยเหลือเลย ขณะที่ ‘ศักดิ์สยาม’ สั่ง ‘กพท.’ หาช่องทางช่วยเหลือทางการเงินให้สายการบินเป็นการเร่งด่วน
......................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 5 ส.ค.ที่ผ่านมา นายวุฒิภูมิ จุฬางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOK ทำหนังสือถึงประธานกรรมการบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) โดยขอให้ บสย. พิจารณาช่วยเหลือและผลักดันให้บริษัทฯ ได้รับสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) แบบปลอดหลักทรัพย์ค้ำประกัน วงเงิน 1,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 2% เป็นเวลา 60 เดือน
“ในการนี้ บริษัทฯขอความอนุเคราะห์ประธานกรรมการ บสย. พิจารณาช่วยเหลือและผลักดันให้บริษัทฯได้รับสินเชื่อได้รับสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) แบบปลอดหลักทรัพย์ค้ำประกัน วงเงิน 1,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 2% เป็นเวลา 60 เดือน เริ่มชำระเงินต้นและดอกเบี้ยในวันที่ 1 ม.ค.2565 เป็นต้นไป หรือมาตรการสินเชื่ออื่นๆ เพื่อให้ทุกสายการบินสัญชาติไทยได้รับความช่วยเหลืออย่างเท่าเทียมกัน” หนังสือของ NOK ระบุ
หนังสือดังกล่าว ยังระบุว่า ที่ผ่านมากระทรวงการคลังให้นโยบายแก่ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) ในการช่วยเหลือผู้ประกอบการในธุรกิจการบินที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 แล้วบางส่วน โดให้การช่วยเหลือด้านสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษ พักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย การปรับตารางผ่อนชำระ แต่ NOK ยังไม่ได้รับการพิจารณาช่วยเหลือแต่อย่างใด
รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 3 ส.ค.ที่ผ่านมา นายวุฒิภูมิ ได้ทำหนังสือถึงนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เพื่อขให้ รมว.คลัง พิจารณาอนุมัติมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) แบบปลอดหลักทรัพย์ค้ำประกันให้กับบริษัทฯ วงเงิน 1,000 ล้านบาท ในอัตราดอกเบี้ย 2% เป็นเวลา 60 เดือน เริ่มชำระเงินต้นและดอกเบี้ยในวันที่ 1 ม.ค.2565 เป็นต้นไป
สำหรับ บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOK นั้น ศาลล้มละลายมีคำสั่งให้บริษัทฯ ฟื้นฟูกิจการและแต่งตั้งผู้ทำแผนตามที่บริษัทฯเสนอเมื่อวันที่ 4 พ.ย.2563 และบริษัทฯได้นำส่งแผนฟื้นฟูกิจการในวันที่ 17 พ.ค.2564 ต่อมาวันที่ 4 ส.ค.2564 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้จัดประชุมเจ้าหนี้ ซึ่งที่ประชุมเจ้าหนี้ลงมติยอมรับแผนฟื้นฟูกิจการที่ผู้ทำแผนยื่นต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ และคำร้องขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการอีก 1 ฉบับ
ส่วนผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้บริหารแผนมี 4 ราย ได้แก่ นายวุฒิภูมิ จุฬางกูร ,นายไต้ ชอง อี ,นายปริญญา ไววัฒนา และนายชวลิต อัตถศาสตร์ โดยศาลล้มละลายมีนัดไต่สวนเพื่อพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการในวันที่ 26 ส.ค.นี้
สำนักข่าวอิศรารายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 4 ส.ค.ที่ผ่านมา นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ ในฐานะนายกสมาคมสายการบินประเทศไทย ออกแถลงการณ์ในนามสมาคมฯ โดยระบุว่า ขณะนี้สมาชิกของสมาคมฯ ได้แก่ สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ,ไทยแอร์เอเชีย ,ไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ ,นกแอร์ ,ไทยสมายล์ ,ไทยไลอ้อนแอร์ และไทยเวียตเจ็ท ยังไม่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อเพื่อรักษาสภาพการจ้างงานจากรัฐบาลแต่อย่างใด
ทั้งนี้ สมาคมฯระบุว่า สาเหตุที่สายการบินทั้ง 7 แห่ง ยังไม่ได้รับอนุมัติสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ วงเงินรวม 5,000 ล้านล้านบาท เนื่องจากติดอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาค้ำประกันสินเชื่อจาก บสย.
ขณะที่เมื่อวันที่ 11 ส.ค.ที่ผ่านมา นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ในฐานะประธานกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) สั่งในที่ประชุม กบร. ให้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลผลกระทบต่อโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศที่อาจเกิดขึ้น จากกรณีที่สายการบินประสบสภาวะวิกฤต และยังไม่ได้รับความช่วยเหลืออย่างเพียงพอจนบางรายอาจไม่สามารถประคับประคองให้ดำเนินธุรกิจต่อไปได้
พร้อมทั้งมอบหมายให้ กพท. ร่วมกับสายการบินจัดทำรายงานการวิเคราะห์และความจำเป็นที่สายการบินจะต้องได้รับความช่วยเหลือทางการเงินอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะวงเงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำ (Soft loan) ที่สายการบินร้องขอความช่วยเหลือในขณะนี้ รวมถึงการหารือร่วมกับผู้ประกอบการทุกภาคส่วนเพื่อปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันให้มากที่สุด
นอกจากนี้ ที่ประชุม กบร. มีมติให้ตรึงนโยบายให้ความช่วยเหลือสายการบินในช่วงวิกฤตโควิด-19 ต่อไปอีกจนถึงสิ้นปี 2564 และคาดว่าจะขยายมาตรการช่วยเหลือต่อไปอีกหากสถานการณ์ยังไม่ฟื้นตัวในปี 2565
อ่านประกอบ :
‘การบินไทย’ ประกาศขายทรัพย์ฯ 10 รายการ เลหลัง ‘สนง.หลานหลวง-อาคารรักคุณเท่าฟ้า’
พักหนี้อัตโนมัติ 2.6 หมื่นล.! ศาลรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ ‘นกแอร์’-นัดไต่สวนฯ 27 ต.ค.นี้
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่https://www.facebook.com/isranewsfanpage