กรมเด็กและเยาวชนเผยสถานการณ์เด็กติดเชื้อ สะสม 70,153 ราย ชี้สำรวจ 15 จังหวัด พบโควิดทำให้เด็กกำพร้าแล้ว 35 ราย แจงแผนช่วยเหลือ ย้ำโทรแจ้งสายด่วน 1300 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
-----------------------------
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 6 ส.ค.2564 นางสุภัชชา สุทธิพล อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) เปิดเผยว่า สถานการณ์เด็กและเยาวชนติดเชื้อโควิดพบเด็กติดเชื้อ เพิ่มอีก 2,469 ราย แบ่งเป็น กทม. 533 คน ภูมิภาค 1,936 ราย รวมยอดสะสมตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.- 6 ส.ค.2564 มีจำนวนทั้งสิ้น 70,153 ราย แยกเป็น กทม. 16,535 ราย ภูมิภาค 53,618 ราย อีกทั้ง ยังพบเด็กกำพร้าที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์โควิด เนื่องจากบิดาเสียชีวิต มารดาเสียชีวิต หรือทั้งบิดาและมารดาเสียชีวิต หรือผู้ดูแลผู้ปกครองเสียชีวิต เบื้องต้นที่มีการสำรวจโดยบ้านพักเด็กและครอบครัว 15 จังหวัด พบมีเด็กกำพร้า 35 ราย มีทั้งกำพร้าบิดา กำพร้ามารดา กำพร้าผู้ดูแล ในจำนวนนี้พบกำพร้าทั้งบิดาและมารดา 1 ราย อยู่ที่พระนครศรีอยุธยา จำนวนดังกล่าวเป็นเพียงการสำรวจเบื้องต้นยังไม่ครอบคลุมทุกจังหวัด อยู่ระหว่างรวบรวม คาดว่าจะมีมากกว่านี้
จากสถานการณ์เด็กติดเชื้อมีเพิ่มมากขึ้น จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือดูแลเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อกลุ่มเป้าหมายตามบทบาทหน้าที่ และภารกิจของกรมฯ โดยกรมกิจการเด็กฯ พัฒนามาตรการ กลไก และประสานความร่วมมือหน่วยงาน องค์กร เครือข่ายในการจัดบริการช่วยเหลือเด็ก และครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาด ตั้งแต่ระยะที่ 1 ในต้นปี 2563 จนถึงปัจจุบัน โดยเน้นรูปแบบการดูแลโดยใช้ครอบครัวเป็นฐานและรักษาความสัมพันธ์ภายในครอบครัว เริ่มตั้งแต่กระบวนการรับแจ้ง ตรวจหาเชื้อ และการช่วยเหลือเด็ก
นางสุภัชชา กล่าวว่า สำหรับกระบวนการให้ความช่วยเหลือในพื้นที่ กทม. กรมกิจการเด็กฯ และบ้านพักเด็กและครอบครัว กทม.จะเป็นผู้ดำเนินการ ส่วนต่างจังหวัด One Home จังหวัด จะเป็นผู้ดำเนินการช่วยเหลือตามกระบวนการ แบ่งกลุ่มเด็กได้ ดังนี้
กลุ่มไม่ติดเชื้อ เป็นกลุ่มเด็กที่ได้รับผลกระทบจากโควิด รวมไปถึงถูกเลี้ยงดูไม่เหมาะสม ถูกทารุณกรรม และครอบครัวไม่สามารถเลี้ยงดูได้ จะดำเนินการสงเคราะห์คุ้มครองสวัสดิภาพตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก เพื่อวางแผนร่วมกับทีมสหวิชาชีพ และจัดสวัสดิการสังคมที่เหมาะสมให้กับความต้องการของเด็กในด้านต่างๆ เช่น สุขภาพกาย จิตใจ การศึกษา และกระบวนการยุติธรรม
กลุ่มเด็ก พ่อแม่ ผู้ปกครอง ติดเชื้อ ไม่ว่าจะเป็นกรณี เด็ก พ่อแม่ ผู้ปกครองติดเชื้อ หรือกรณี เด็กติดเชื้อ พ่อแม่ ผู้ปกครองไม่ติดเชื้อ จะดำเนินการประสานศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่ เพื่อดูแลและประเมินอาการผู้ป่วย โดยผู้ป่วยจะต้องลงทะเบียนสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี และลงทะเบียนเข้ารักษาที่บ้านของ สปสช. เพื่อเป็นช่องทางการประสานให้ความช่วยเหลือระหว่างรอเตียงหรือระหว่างการรักษา
กลุ่มเด็กไม่ติดเชื้อ พ่อแม่ ผู้ปกครองติดเชื้อ จะประสานส่งเด็กเข้าสถานที่กักกันตัวแห่งรัฐ (State Quarantine) 14 วัน ถ้าเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 8 ปี จะจัดหาอาสาสมัครในการดูแลเด็ก หลังจากครบ 14 วัน แล้วจะประสานส่งเด็กคืนสู่ครอบครัว หากครอบครัวยังรับกลับไปดูแลไม่ได้ จะประสานไปยังครอบครัวเครือญาติ หรือส่งตัวเด็กเพื่อดูแลเป็นการชั่วคราวในสถานรองรับเด็กในสังกัด
กลุ่มเด็กกำพร้า พ่อ แม่ ผู้ปกครองเสียชีวิตจากการติดเชื้อ จะประสานขอความร่วมมือไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ให้ดำเนินการสำรวจและรายงานเข้าระบบ เพื่อดำเนินการสงเคราะห์คุ้มครองสวัสดิภาพตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ในการจัดบริการการเลี้ยงดูทดแทนในรูปแบบครอบครัวเครือญาติ ครอบครัวอุปถัมภ์ หรือครอบครัวบุญธรรมให้แก่เด็ก
นางสุภัชชา กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ กรมกิจการเด็กฯ ร่วมกับ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต และองค์การยูนิเซฟประเทศไทย ร่วมกันจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือเด็ก covid-19 เพื่อดำเนินการให้ความช่วยเหลือเด็กและครอบครัวที่ได้รับผลกระทบโดยคำนึงถึงความเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหา โดยจะต้องเข้าถึงการช่วยเหลือทุกมิติและได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที ตลอด 24 ชั่วโมง สามารถโทรสายด่วน 1300 หรือดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน 'คุ้มครองเด็ก'
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage