ครม.มีมติปรับกรอบวงเงินเป็น 60,000 ล้านบาท เพื่อเยียวยาแรงงาน-ผู้ประกอบการ 29 จังหวัดพื้นที่สีแดงเข้ม แบ่งเป็น 13 จังหวัดเดิมเยียวยา 2 เดือน - 16 จังหวัดใหม่เยียวยา 1 เดือน
---------------------------------------------------
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 3 ส.ค.2564 นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมเห็นชอบขยายขอบเขตมาตรการเยียวยากลุ่มแรงงาน ผู้ประกอบการ โดยปรับกรอบวงเงินจากเดิม 30,000 ล้านบาท เป้น 60,000 ล้านบาท เพื่อให้ครอบคลุมการช่วยเหลือ 29 จังหวัดที่ถูกปรับให้เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด
ส่วนกลุ่มเป้าหมาย ยังคงครอบคลุมกลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการในกิจการที่ได้รับผลกระทบ ทั้งในส่วนที่อยู่ในระบบประกันสังคมและไม่อยู่นระบบประกันสังคม และยังให้การช่วยเหลือกลุ่ม 9 สาขาอาชีพเดิม คือ 1.กิจการก่อสร้าง 2.กิจการที่พักแรมและบริการด้านอาหาร 3.กิจกรรมศิลปะ ความบันเทิงและนันทนาการ 4.บริการด้านอื่นๆ 5.สาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า สาขาการขายส่ง และการขายปลีก 6.การซ่อมยานยนต์ 7.สาขากิจกรรมการบริหารและบริการสนับสนุน 8.สาขากิจกรรมวิชาชีพ วิทยาศาสตร์และกิจกรรมทางวิชาการ และ 9.สาขาข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร รวมถึงกลุ่มผู้ประกอบการในระบบแอปพลิเคชันถุงเงิน ภายใต้โครงการคนละครึ่งและโครงการเราชนะ
ขณะที่การให้ความช่วยเหลือแรงงงานในระบบประกันสังคมแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
1.กลุ่มแรงงานตาม ม. 33 ในกิจการ 9 หมวด จ่ายเงินชดเชยรายได้ 50% ของรายได้ สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท และจ่ายสมทบให้ลูกจ้างสัญชาติไทยอีก 2,500 บาทต่อคน รวมแล้วได้สูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท
2.ผู้ประกอบการหรือนายจ้างตามหลักการให้ความช่วยเหลือจะได้รับความช่วยเหลือตามจำนวนลูกจ้างสูงสุดไม่เกิน 200 คน ในอัตรา 3,000 บาทต่อคน จำนวน 1 เดือน
3.ผู้ประกันตนตาม ม.39 และ ม.40 สัญชาติไทยที่ยังคงประกอบอาชีพอยู่ในปัจจุบันจะได้รับความช่วยเหลือในอัตรา 5,000 บาทต่อเดือน ผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ไม่ได้เป็นผู้ประกันตน ม.33 , ม.39 และ ม.40 สัญชาติไทยที่ยังคงประกอบอาชีพอยู่ในปัจจุบันให้เตรียมหลักฐานเพื่อลงทะเบียนเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 กับสำนักงานประกันสังคม เพื่อให้สามารถได้รับความช่วยเหลือในอัตรา 5,000บาทจำนวน 1 เดือน
ทั้งนี้ระยะเวลาการเยียวยาจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัด ดังนี้
กลุ่ม 13 จังหวัดเดิม ได้รับการเยียวยา 2 เดือน คือ ก.ค.-ส.ค.2564 ประกอบด้วย กทม. ชลบุรี ฉะเชิงเทรา นครปฐม นราธิวาส นนทบุรี ปทุมธานี ปัตตานี พระนครศรีอยุธยา ยะลา สงขลา สมุทรปราการ และสมุทรสาคร
กลุ่ม 16 จังหวัดใหม่ ได้รับการเยียวยา 1 เดือน คือ ส.ค.2564 ประกอบด้วย กาญจนบุรี ตาก นครนายก นครราชสีมา ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี เพชรบุรี เพชรบูรณ์ ระยอง ราชบุรี ลพบุรี สิงห์บุรี สมุทรสงคราม สระบุรี สุพรรณบุรี และอ่างทอง
“นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานได้รับมอบหมายให้ไปเร่งจัดทำข้อเสนอโครงการเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ขับรถยนต์รับจ้างหรือรถแท็กซี่ และรถจักรยานยนต์สาธารณะที่มีอายุเกิน 65 ปี ที่ไม่สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 ทำให้ไม่สามารถได้รับความช่วยเหลือตามมาตรการลดผลกระทบและให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการที่อยู่ในพื้นที่สถานการณ์ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 64 ใน 29 จังหวัดสีแดงเข้ม เพื่อนำเข้าที่ประชุมเพื่อให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาในโอกาสต่อไป” นายอนุชา กล่าว
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage