นิตยสาร ‘ฉลาดซื้อ’ เผยผลทดสอบเครื่องกรองน้ำ 26 ตัวอย่าง พบ 8 รุ่น 6 ยี่ห้อ กรอง ‘แบคทีเรีย’ ไม่ได้ตามที่โฆษณา ขณะที่อีก 6 รุ่น กรอง ‘แบคทีเรีย’ ได้น้อยกว่า 50% ด้าน ‘สภาองค์กรของผู้บริโภค’ จี้ ‘สมอ.’ ออกมาตรฐานบังคับ
.......................
เมื่อวันที่ 30 ก.ค. ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับเครือข่ายนักวิชาการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค สภาองค์กรของผู้บริโภค และโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ เผยแพร่ผลทดสอบคุณสมบัติการกรองแบคทีเรียของเครื่องกรองน้ำ 3 ระบบ ( RO, UF, UV )
ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง นักวิชาการเครือข่ายนักวิชาการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ผู้แทนศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ กล่าวว่า ปัจจุบันระบบการกรองน้ำที่ใช้กันแพร่หลาย และวางจำหน่ายในท้องตลาดมีอยู่ 3 ระบบ ได้แก่ ระบบ Reverse Osmosis (RO) ระบบ Ultra-Filter (UF) และ ระบบ UV (Ultra Violet) ซึ่งแต่ละระบบมีการทำงานที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับพื้นที่ใช้งาน รวมถึงความต้องการการใช้น้ำที่แตกต่างกันไป
ซึ่งการทดสอบของศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อในครั้งนี้ เน้นเลือกเครื่องกรองน้ำที่มีการเปิดเผย หรือเผยแพร่คุณสมบัติจากการโฆษณา จำนวน เครื่อง จาก 3 ระบบการกรอง โดยสุ่มซื้อเก็บตัวอย่างเครื่องกรองน้ำที่มีจำหน่ายในท้องตลาด และจากเว็ปไซต์ห้างค้าปลีกออนไลน์ ในเดือน ธ.ค.2563
สำหรับการทดสอบประสิทธิภาพในการกรองแบคทีเรีย เพื่อเป็นแนวทางเบื้องต้นในการให้ข้อมูลกับผู้บริโภคเพื่อประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ ได้แก่
1.เครื่องกรองน้ำระบบ RO (Reverse Osmosis) จำนวน 11 ตัวอย่าง
2.เครื่องกรองน้ำระบบ Ultrafiltration (UF) จำนวน 8 ตัวอย่าง
3.เครื่องกรองน้ำระบบ Ultraviolet (UV) จำนวน 7 ตัวอย่าง
ผลการทดสอบประสิทธิภาพในการกรองแบคทีเรียของเครื่องกรองน้ำระบบ RO ผลปรากฏดังนี้
-เครื่องกรองน้ำที่มีประสิทธิภาพในการกรองแบคทีเรียมากกว่าร้อยละ 80 ได้แก่ Toshiba รุ่น TWP-N1890UK Stiebel Eltron รุ่น Glacier Filtex รุ่น FT 241 RO Aquatek รุ่น RO 150 GPD และ Mi รุ่น water purifier 1A
-เครื่องกรองน้ำที่มีประสิทธิภาพในการกรองแบคทีเรีย ร้อยละ 50-80 ได้แก่ Mazuma รุ่น RO PURE LI และ Pure รุ่น KT RO
-เครื่องกรองน้ำที่มีประสิทธิภาพในการกรองแบคทีเรียน้อยกว่าร้อยละ 50 ได้แก่ Treatton รุ่น RO 300 GPD และ Turbora รุ่น 5ROC-PRC
-เครื่องกรองน้ำที่ไม่สามารถกรองแบบทีเรียได้ ได้แก่ Carina รุ่น CA-5RO และ Pentair รุ่น GRO-50 System
ส่วนผลการทดสอบประสิทธิภาพในการกรองแบคทีเรียของเครื่องกรองน้ำระบบ UF ผลปรากฎดังนี้
-เครื่องกรองน้ำที่มีประสิทธิภาพในการกรองแบคทีเรียมากกว่าร้อยละ 80 ได้แก่ Stiebel Eltron รุ่น Rain Plus และ Pure รุ่น DM 01
-เครื่องกรองน้ำที่มีประสิทธิภาพในการกรองแบคทีเรีย ร้อยละ 50-80 ได้แก่ Unipure รุ่น BLUE 20”(UF)
-เครื่องกรองน้ำที่มีประสิทธิภาพในการกรองแบคทีเรียน้อยกว่าร้อยละ 50 ได้แก่ Astina รุ่น AP401UF และ Aquatek รุ่น Silver UF
-เครื่องกรองน้ำที่ไม่สามารถกรองแบคทีเรียได้ ได้แก่ Turbora รุ่น BUF-401N , Filtex รุ่น FT-220 และ Mazuma รุ่น AQ 50 UF
ขณะที่ผลการทดสอบประสิทธิภาพในการกรองแบคทีเรียของเครื่องกรองน้ำระบบ UV ผลปรากฏดังนี้
-เครื่องกรองน้ำที่มีประสิทธิภาพในการกรองแบคทีเรียมากกว่าร้อยละ 80 ได้แก่ Mazuma รุ่น AQ-5F-UVS และ Amway รุ่น eSpring
-เครื่องกรองน้ำที่มีประสิทธิภาพในการกรองแบคทีเรียน้อยกว่าร้อยละ 50 ได้แก่ Pure รุ่น DM 01 UV และ Filtex รุ่น FT-229
-เครื่องกรองน้ำที่ไม่สามารถกรองแบคทีเรียได้ ได้แก่ Turbora รุ่น 5PUVPRC ,Carina รุ่น CA-5UV และ Absolute รุ่น Ultraviolet & Ceramic
ทั้งนี้ ผู้บริโภคสามารถใช้ผลการทดสอบประสิทธิภาพการกรองเชื้อแบคทีเรียของครื่องกรองน้ำ เพื่อประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อเครื่องกรองน้ำที่เหมาะสมได้ อย่างไรก็ตามควรพิจารณาคุณสมบัติและ ประสิทธิภาพอื่นๆของเครื่องกรองน้ำประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ด้วย ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการกรองโลหะหนัก ตะกั่ว ปรอท แคดเมียม และสารพิษอื่นๆ เช่น สารตกค้างจากยาฆ่าแมลง สารเคมีกำจัดวัชพืช ที่อาจปนเปื้อนมากับน้ำที่เราใช้สำหรับการบริโภคในครัวเรือนได้
นอกจากนี้ ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อมีข้อแนะนำว่า ผู้บริโภคควรหลีกเลี่ยงเครื่องกรองน้ำที่ไม่สามารถกรองเชื้อแบคทีเรียได้ เพราะอาจทำให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพและอนามัย อันจะนำไปสู่การติดเชื้อและเจ็บป่วยจากการบริโภคน้ำที่ไม่สะอาด ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานาน
นายโสภณ หนูรัตน์ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิ สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) กล่าวว่า มาตรฐานของเครื่องกรองน้ำ ที่กำหนดโดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) นั้น เป็นมาตรฐานทั่วไป ไม่ได้เป็นมาตรฐานบังคับ ทำให้มีเครื่องกรองน้ำที่ไม่ได้มาตรฐานวางจำหน่าย และผู้บริโภคก็ต้องเจอความเสี่ยงต่อสินค้าที่ไม่ปลอดภัยต่อสุขภาพ ผู้บริโภคที่ซื้อเครื่องกรองน้ำก็มุ่งหวังจะได้สินค้าที่ตัวช่วยเพื่อให้ได้บริโภคน้ำที่สะอาด ปลอดภัย
อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคเองก็ไม่สามารถตรวจสอบได้ขณะซื้อและหลังซื้อ ว่าเครื่องกรองน้ำตัวใดกรองเชื้อแบคทีเรียได้หรือไม่ อีกทั้งเครื่องกรองน้ำทุกวันนี้ เน้นทำโฆษณากับผู้บริโภคชวนเชื่อเกี่ยวกับประสิทธิภาพในการกรองสิ่งเจือปนต่างๆ ในเมื่อผู้บริโภคไม่สามารถตรวจสอบประสิทธิภาพของเครื่องกรองน้ำตามคำโฆษณาได้โดยง่าย จึงควรเป็นหน้าที่รัฐที่ต้องจัดการเรื่องนี้อย่างจริงจัง ออกมาตรฐานเครื่องกรองน้ำ เป็นมาตรฐานบังคับเพื่อคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค และสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคต่อสินค้าดังกล่าวด้วย
“สภาองค์กรของผู้บริโภคในฐานะตัวแทนของผู้บริโภคเห็นว่า เพื่อความปลอดภัยต่อผู้บริโภค ประเด็นเครื่องกรองน้ำเป็นสินค้าที่จำเป็นที่หน่วยงานรัฐควรมีการกำกับดูแลและยกระดับมาตรฐานของสินค้าให้สูงขึ้น สภาฯจะมีการทำข้อเสนอแนะนโยบายไปยัง สมอ. เพื่อติดตามการกำหนดมาตรฐานบังคับของเครื่องกรองน้ำเพื่อคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคต่อไป” นายโสภณกล่าว
ทั้งนี้ ผู้บริโภคสามารถอ่านรายละเอียดผลทดสอบเพิ่มเติมได้ที่ ผลการทดสอบประสิทธิภาพการกรองแบคทีเรียของเครื่องกรองน้ำ (1) ระบบ RO https://www.chaladsue.com/article/3771 และ ผลการทดสอบประสิทธิภาพ การกรองแบคทีเรียของเครื่องกรองน้ำ (2) ระบบ UF และ ระบบ UV https://www.chaladsue.com/article/3772
อ่านประกอบ :
จี้สมอ.สอบ! ‘ฉลาดซื้อ’ พบ ‘เครื่องฟอกอากาศ’ 6 ยี่ห้อ ประสิทธิภาพไม่เป็นตามโฆษณา
มูลนิธิผู้บริโภคเตือน อย.แจ้งข้อมูล-คำเตือนให้ครบ หลัง‘ปลดล็อคกัญชา’ใส่ในอาหารได้
ตกค้างในอาหาร!มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคพบ'พาราควอต'ปนเปื้อนในน้ำปู 8 ตัวอย่างภาคเหนือ
'ฉลาดซื้อ'ตรวจไม่พบวิตามินซีในเครื่องดื่มผสมวิตามินซี 8 ยี่ห้อ
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/