ผบก.รฟ.เผยความคืบหน้าสอบสวมสิทธิ์ฉีดวัคซีนที่สถานีกลางบางซื่อ คาดอาจมีผู้สวมสิทธิ์ถึง 6,000 ราย แจงกำลังสอบปากคำ 19 อาสาสมัครกลุ่มทรูมีส่วนลงทะเบียนขึ้นระบบ จ่อล้อมคอก 3 ค่ายมือถือ ป้องกันเกิดเหตุซ้ำ-ด้านทรูแจงเป็น Outsource ของบริษัท ก่อนส่งต่อให้กรมการแพทย์เป็นผู้ดำเนินการ ย้ำแจ้งความไปแล้วไม่ให้เกิดเหตุซ้ำอีก
พล.ต.ต.อำนาจ ไตรพจน์ ผู้บังคับการตำรวจรถไฟ (ผบก.รฟ.) กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีที่เจ้าหน้าที่กรมการแพทย์จับทุจริตผู้ที่เข้ามารับบริการฉีดวัคซีนที่สถานีกลางบางซื่อ เขตจตุจักร กทม. หลังพบว่ามีบุคคลทุจริตจองคิวระบบผ่าน บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และเข้าร่วมลงทะเบียนบุคคลให้เข้ามารับวัคซีน นำโควตาไปขายสิทธิ์ และได้ทำมาแล้ว 3 วัน
โดย พล.ต.ต.อำนาจกล่าวว่า กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) เข้ามาทำคดีเพราะเป็นเรื่องที่ซับซ้อน มีการทำกันเป็นขบวนการ จึงจำเป็นต้องให้เจ้าหน้าที่เฉพาะด้านเข้ามาร่วมสืบสวนสอบสวน โดย พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบช.ก. ตั้งคณะทำงานขึ้นมา โดยหลังเกิดเหตุได้สอบปากคำผู้เกี่ยวข้องแล้วกว่า 20 ปาก ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่กรมการแพทย์ พนักงานบริษัทเครือข่ายโทรศัพท์ และผู้ที่สวมสิทธิ์ในการฉีดวัคซิน โดยเป็นการสอบปากคำเบื้องต้น รวมทั้งจะเรียกผู้เกี่ยวข้องมาสอบเพิ่มเติมอีก ยังไม่ได้มีการแจ้งข้อหาดำเนินคดีกับใคร
“ยังไม่สามารถตอบได้ว่ากลุ่มผู้ต้องหาขบวนการนี้มีกี่คน ซึ่งเบื้องต้นได้ตีกรอบผู้กระทำความผิดว่าอาจเป็นบุคลากรภายในและภายนอก ที่ทำการกรอกข้อมูลสวมสิทธิวัคซีน ทั้งนี้ตำรวจบก.ปอท. จะตรวจสอบพิสูจน์ทางเทคนิคเพื่อไขความกระจ่าง อย่างไรก็ตามจากการตรวจสอบพบว่ามีการลักลอบคีย์ข้อมูลนอกเวลาทำการ หลัง 18.00 น. โดยพบว่ามีการกรอกข้อมูลในห้วงเวลา 20.00-22.00 น. ในส่วนของยอดผู้สวมสิทธิ์เบื้องต้นพบว่าอาจมีมากกว่า 5,000-6,000 ราย ในส่วนนี้อาจเกิดความเสียหายหลายล้านบาท” พล.ต.ต.อำนาจ กล่าว
พล.ต.ต.อำนาจ กล่าวต่อว่า พบว่ามีการขายสิทธิในราคา 500-1,000 บาทต่อราย ซึ่งเป็นเรื่องที่รับไม่ได้ในสถานการณ์เช่นนี้ เพราะประชาชนทุกคนควรมีสิทธิและเข้าถึงการฉีดวัคซีนอย่างเท่าเทียม ทั้งนี้หลังเกิดเรื่องได้มีการเรียกผู้ให้บริการทั้งสามเครือข่ายมาประชุมร่วมกัน เพื่อหาแนวทางในการป้องกันเฝ้าระวังไม่ให้เกิดเหตุและในลักษณะนี้อีก
มีรายงานจากชุดสืบสวนว่า เจ้าหน้าที่พบความผิดปกติในระยะที่เริ่มปรับให้มีการวอล์กอิน ลงทะเบียนหน้าศูนย์ฉีดวัคซีนบางซื่อ เจ้าหน้าที่ปิดรับการลงทะเบียนจากหน่วยงาน เหลือแค่กระทรวงการต่างประเทศ โดยเหลือเพียงหน่วยงานเดียวเปิดให้ฉีดได้วันละ 300 คน ประกอบกับหลังช่วงที่มีการปรับระบบให้วอล์กอินลงทะเบียนหน้าศูนย์ และเปิดยูสเซอร์ให้อาสาสมัครมาช่วยลงทะเบียน แต่กลับพบว่าตัวเลขการนัดฉีด เพิ่มขึ้นจากเดิม 10-20 คนต่อวัน จนกระทั่งช่วงวันที่ 28 ก.ค.ที่ผ่านมาปรากฎว่ามีคนจำนวนมายืนรอกันที่บริเวณประตู4 และพบตัวเลขผู้ลงทะเบียนมา 2,000 คน ทั้งที่ตัวเลขนัดหมายมีฉีดวัคซีนของกระทรวงการต่างประเทศแค่ 384 คน เท่านั้น เมื่อเจ้าหน้าที่เห็น ตัดสินใจไม่ยกเลิกการฉีดวัคซีน ปล่อยให้ทั้ง 2,000 คน เดินทางมาตามนัดหมาย ก่อนทำการคัดกรองบุคคลทำให้ทราบว่า มีการเรียกเก็บค่าหัวคิวซื้อโควต้าฉีดวัคซีน หัวละ 400-1,200 บาทรวมเป็นเงิน 120,000-360,000 บาท
อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ได้สอบถามผู้ที่เกี่ยวข้องทราบว่ามีเจ้าหน้าที่อาสาสมัครทำหน้าที่ลงทะเบียนคนฉีดวัคซีนที่ศูนย์ฉีดวัคซีนบางซื่อ 19 คน ซึ่งเป็นคนดูแล 19 ยูสเซอร์ โดยสามารถระบุได้ว่าแน่ชัดว่าอาสาสมัครกลุ่มดังกล่าวมาจากการที่ผู้ให้บริการเครือข่ายทรู ได้จ้างบริษัทย่อยมาช่วยจัดคิวลงทะเบียน ทำให้พบปัญหาเพียงค่ายเดียว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสองหากพบว่า 19 คนนี้มีส่วนเกี่ยวข้องก็จะเข้าข่ายความผิดด้วย
ต่อมาในช่วงบ่ายทางด้านของบริษัท ทรู ได้ออกมาชี้แจงว่ากรณีขบวนการขายคิวจองวัคซีนบางซื่อนี้ไม่เกี่ยวข้องกับ “ระบบ” การจองฉีดวัคซีนของทรู แต่อย่างใด ไม่มีการแฮ็กระบบของทรู อย่างที่มีการรายงานข่าวหรือแชร์ข้อมูลส่งต่อทางอินเทอร์เน็ตโดยกระบวนการที่เกิดความผิดปกติที่ปรากฎชื่อเพิ่มขึ้นนั้น เกิดขึ้นจากการมีชื่อเพิ่มเติมในระบบส่วนกลางของศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับข้อมูลการลงทะเบียนผ่านค่ายมือถือแต่อย่างใด ซึ่งข้อมูลจากระบบทรู ที่ส่งให้กรมการแพทย์รายวันล่วงหน้านั้น ถูกต้องตามโควต้าที่ได้รับ และเป็นการนำส่งข้อมูลทางเมลไปให้กรมการแพทย์เป็นผู้ตรวจสอบและนำไปลงระบบเอง
สำหรับกรณีนี้ กำลังอยู่ในระหว่างการสอบสวนผู้ต้องสงสัยว่ามีการนำข้อมูลเพิ่มเติมเข้าสู่ระบบส่วนกลางได้อย่างไร เพราะจากการตรวจสอบมีรายชื่อถูกเพิ่มเข้าระบบช่วง 4 ทุ่มซึ่งนำไปเพิ่มในโควต้าทรู ซึ่งการเข้าถึงข้อมูลผ่านดาต้าเบสนั้น ไม่ได้ผ่านจากการเจาะระบบโอเปอเรเตอร์ จึงต้องมีการทำความเข้าใจให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้ประชาชนสับสน และทรู เป็นผู้ที่พบความผิดปกติหน้างาน เนื่องจาก 1) ไม่มีQR Code เหมือนทุกคนที่จองผ่านทรู และ 2) ตรวจสอบในระบบของทรู อีกครั้งก็ไม่มีรายชื่อ จึงตั้งข้อสังเกตและส่งเรื่องให้ส่วนกลางกรมการแพทย์ตรวจสอบและเข้าแจ้งความ ซึ่งขณะนี้ยังคงอยู่ในกระบวนการสืบสวนสอบสวนเพื่อหาผู้กระทำผิดดำเนินคดี
ทั้งนี้ การดำเนินการที่ทางค่ายมือถือสนับสนุนกรมการแพทย์นั้น มีทั้งการสนับสนุนพัฒนาระบบการจองผ่านเว็บไซต์และมือถือ การจัดทีมดูแลรับเรื่องการจองคิว การส่ง SMS ยืนยันก่อนวันฉีดวัคซีน รวมทั้งการสนับสนุนว่าจ้างบุคลากรค่ายละ 100 คน เพื่อไปช่วยปฏิบัติงานอำนวยความสะดวกกับผู้เข้ามาฉีดวัคซีนในแต่ละวัน ทรู จึงได้ว่าจ้างจัดหาเจ้าหน้าที่ Outsource เพื่อไปช่วยงานกรมการแพทย์จำนวน 98 คน ตามที่มีการขอสนับสนุน โดยแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ 1.) การปฏิบัติหน้าที่หน้างานภายนอก 30 คน (จุดรับรายงานตัวจุดที่ 1 ทรูเป็นผู้ดูแล ) และ 2.) การปฏิบัติงานภายในส่วนงานของกรมการแพทย์อีก 70 คน ซึ่ง 70 คนนี้อยู่ภายใต้การบริหารจัดการของกรมการแพทย์เอง ซึ่งทรู ได้ว่าจ้างและรับผิดชอบค่าใช้จ่าย 100% แต่ไม่ได้บริหารคนกลุ่มนี้ โดยได้ส่งมอบให้กรมการแพทย์ดูแลตั้งแต่ปลายเดือน พ.ค. 2564 ซึ่งในส่วนของการทำงานของคนที่สามารถลงระบบภายในนั้น กรมการแพทย์จะเป็นผู้กำหนด Username และ Password ให้สำหรับผู้ปฏิบัติงานที่อยู่ด้านในกับกรมการแพทย์ ซึ่งรวมถึงเจ้าหน้าที่ Outsource ที่ทรู ส่งมอบไปแล้ว ดังนั้น เพื่อไม่ให้เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นอีก และเป็นการป้องกันเชิงรุก จึงขอให้กรมการแพทย์เพิ่มขั้นตอนการตรวจสอบการมอบหมายสิทธิ์ในการเข้าถึงข้อมูลส่วนกลาง รวมทั้งควรมีกระบวนการตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ
บริษัทฯจึงขอเรียนว่า ทุกภาคส่วนมีความตั้งใจจริงที่จะเข้าไปช่วยในภาวะวิกฤตด้วยจิตอาสา และบริษัทได้แจ้งความไปแล้ว และจะดำเนินคดีจนถึงที่สุด เพื่อไม่ให้ผู้ที่เอาเปรียบสังคม หลอกลวงประชาชนชาวไทยในสถานการณ์วิกฤตนี้
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage