‘สศค.’ ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 64 เหลือเติบโต 1.3% เซ่นผลกระทบโควิด-19 ระลอกใหม่ แต่มองปีหน้าจีดีพีจะกลับมาขยายตัวที่ 4-5%
.....................
เมื่อวันที่ 29 ก.ค. น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2564 ว่า เศรษฐกิจไทยปี 2564 คาดว่าจะขยายตัว 1.3% ต่อปี เทียบกับประมาณการครั้งก่อน (เดือน เม.ย.2564) ที่คาดว่าจะขยายตัว 2.3% ต่อปี เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่ของโรคติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทย การเดินทางระหว่างประเทศ และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาประเทศไทย
อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้ามีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก ซึ่งในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2564 มูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัวสูงที่ 14.5% ต่อปี ส่งผลให้คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยในปี 2564 จะขยายตัวที่ 16.6% ต่อปี ปรับเพิ่มขึ้นจากการคาดการณ์ครั้งก่อนที่ 11% ต่อปี
นอกจากนี้ ภาครัฐมีบทบาทสำคัญในการประคับประคองเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่อง ผ่านการดำเนินมาตรการทางการคลังของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงการคนละครึ่งระยะที่ 3 โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 3 โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ และมาตรการด้านการเงินผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ
ประกอบกับการใช้จ่ายเงินกู้จาก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 ในส่วนที่เหลือ และพ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 วงเงิน 5 แสนล้านบาท (พ.ร.ก. กู้เงินฯ เพิ่มเติม) ซึ่งจะมีส่วนช่วยกระตุ้นการบริโภคบรรเทาผลกระทบของภาคธุรกิจ และรักษาระดับการจ้างงานให้สูงขึ้น
โดยคาดว่าการบริโภคภาครัฐและการลงทุนภาครัฐจะขยายตัวที่ 4.2% ต่อปี และ 9.5% ต่อปี ตามลำดับ ส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัวที่ 1.0% ต่อปี และ 4.1% ต่อปี ตามลำดับ ในด้านเสถียรภาพภายในประเทศคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2564 จะอยู่ที่ 1.2% ต่อปี ปรับตัวลดลงจากคาดการณ์ครั้งก่อนที่ 1.4% ต่อปี เนื่องจากภาครัฐมีการดำเนินมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานให้แก่ประชาชนและภาคธุรกิจทั่วประเทศ
ขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจภายนอกประเทศคาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะขาดดุล -2.9 พันล้านเหรียญสหรัฐหรือคิดเป็น -0.5% ของ GDP (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ -1.0% ถึง 0.0% ของ GDP) จากการขาดดุลในดุลบริการเป็นสำคัญ
น.ส.กุลยา ระบุว่า ประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2564 ดังกล่าวอยู่ภายใต้สมมติฐานว่า 1.เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักของไทย 15 ประเทศ ขยายตัว 5.7% ในปี 2564 2.ค่าเงินบาทเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 31.48 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ หรืออยู่ในช่วง 31-32 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ 3.ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 66.7 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล 4.นักท่องเที่ยวต่างชาติมีจำนวน 0.3 ล้านคน และ5.การเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐอยู่ที่ 93.2%
สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2565 กระทรวงการคลังคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวเร่งขึ้นมาอยู่ในช่วง 4.0- 5.0% โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดเริ่มคลี่คลายลงและมีการเดินทางระหว่างประเทศมากขึ้น โดยคาดว่านักท่องเที่ยวต่างประเทศจะเดินทางเข้ามาในประเทศไทย จำนวน12 ล้านคน ในขณะที่การส่งออกสินค้าคาดว่าจะขยายตัวได้ต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการฟื้นตัวของภาคธุรกิจ การจ้างงาน และสนับสนุนการบริโภคภายในประเทศ ส่งผลให้การใช้จ่ายภายในประเทศจะกลับมาฟื้นตัวได้ดี
น.ส.กุลยา กล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดได้แก่ 1.ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 2.ข้อจำกัดในการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 3.ความไม่แน่นอนของตลาดน้ำมันโลก หากปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ในหลายประเทศรุนแรงขึ้น รวมทั้งการปรับเปลี่ยนนโยบายด้านพลังงาน และ 4.ทิศทางนโยบายการเงินโลกที่มีแนวโน้มเข้มงวดขึ้นจะส่งผลต่อเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ
อย่างไรก็ดี ประเทศไทยยังมีฐานะการคลังที่มั่นคงและมีเสถียรภาพทำให้กระทรวงการคลังมีความพร้อมในการดำเนินมาตรการทางการคลังเพิ่มเติมให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปโดยแรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐประกอบกับนโยบายการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจที่เน้นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจะมีส่วนช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวอย่างยั่งยืนของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/