โฆษกศาลยุติธรรม อธิบายละเอียดการบริหารจัดการคดีช่วงโควิด-19 ระบาด ในส่วนคดีแพ่งดำเนินการผ่านระบบออนไลน์ได้ ส่วนอาญาแตกต่างไป เหตุกฎหมายกำหนดคุ้มครองสิทธิจำเลย วิธีออนไลน์ใช้เมื่อราษฎรฟ้องเองไม่ผ่านอัยการ-กรณีรับสารภาพ โทษต่ำกว่า 5 ปีหากหนักกว่านั้นต้องสืบพยาน
เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2564 นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวอธิบายการบริหารจัดการคดีของศาลยุติธรรมในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สามารถกล่าวโดยสรุปได้ว่า ในส่วนคดีแพ่ง
1. การตั้งต้นคดี เช่น ยื่นคำฟ้อง คำร้อง คำขอ หรือเอกสารต่าง ๆ สามารถดำเนินการผ่านระบบทางออนไลน์ของศาลยุติธรรมได้ คือ ระบบอีไฟล์ลิ่ง (e-Filing) และระบบซีออส (CIOS) ตั้งแต่ศาลชั้นต้นไปจนถึงชั้นอุทธรณ์และฎีกา 2 . การมาขึ้นศาลเพื่อไต่สวนหรือสืบพยาน ถ้าคู่ความทุกฝ่ายพร้อมสามารถใช้วิธีการทางออนไลน์ในการพิจารณาคดีแทนการมาศาลได้ตามระบบที่ประสานกับทางศาลยุติธรรมที่มีอำนาจเหนือคดีนั้น โดยสามารถใช้วิธีพิจารณาออนไลน์ได้ทุกคดี 3. ถ้าคู่ความไม่พร้อมที่จะใช้วิธีการทางออนไลน์ และศาลเห็นว่าปลอดภัยก็ดำเนินคดีโดยให้คู่ความและผู้เกี่ยวข้องมาพิจารณาที่ศาลตามปกติได้ แต่ถ้าหากเห็นว่าไม่ปลอดภัยก็จะเลื่อนคดีออกไปก่อน หรือใช้วิธีการทางออนไลน์กับฝ่ายที่มีความพร้อม ส่วนฝ่ายที่ไม่มีความพร้อมที่จะใช้วิธีการทางออนไลน์ก็ให้มาดำเนินการที่ศาลตามปกติ
นายสุริยัณห์ กล่าวอีกว่า สำหรับในส่วนของคดีอาญานั้น เนื่องจากกฎหมายกำหนดวิธีพิจารณาและการคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลยแตกต่างจากคดีแพ่ง การพิจารณาคดีอาญาทางออนไลน์จึงทำได้ในกรณีดังต่อไปนี้ 1. กรณีที่ราษฎรเป็นโจทก์ฟ้องคดีเองไม่ผ่านพนักงานอัยการ ซึ่งต้องมีการไต่สวนมูลฟ้องก่อนว่าฟ้องของโจทก์มีมูลพอที่ศาลจะรับฟ้องไว้พิจารณาพิพากษาหรือไม่ ผู้ที่ถูกฟ้องยังไม่ตกเป็นจำเลยตามกฎหมาย ดังนั้นจะมาฟังการไต่สวนมูลฟ้องหรือไม่ก็ได้ หรือจะตั้งทนายความมาถามค้านพยานโจทก์ก็ได้ กรณีการไต่สวนมูลฟ้องนี้จึงให้ดำเนินการทางออนไลน์ได้ ส่วนผู้ที่ถูกฟ้องซึ่งยังไม่ตกอยู่ในฐานะจำเลยก็มีสิทธิขอฟังการพิจารณาหรือถามค้านพยานผ่านทางออนไลน์ได้เช่นกัน 2. กรณีที่จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องของโจทก์หากเป็นคดีที่มีข้อหาในความผิดซึ่งจำเลยรับสารภาพนั้น กฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป หรือโทษสถานที่หนักกว่านั้นศาลต้องสืบพยานประกอบคำรับสารภาพของจำเลยด้วย (หากอัตราโทษต่ำกว่านั้น ศาลสามารถตัดสินได้เลยไม่ต้องสืบพยาน) ซึ่งการสืบพยานประกอบคำรับสารภาพของจำเลยนี้ ถ้าจำเลยถูกคุมขังระหว่างพิจารณาและเรือนจำไม่สามารถเบิกตัวจำเลยมาศาล ก็สามารถดำเนินการสืบพยานทางออนไลน์ได้ โดยจำเลยสามารถรับฟังการพิจารณาทางออนไลน์และมีสิทธิในการดำเนินคดีต่าง ๆ เหมือนกับได้มาที่ศาล 3. กรณีอื่นๆ ถ้าจำเลยยินยอมและศาลเห็นสมควรก็อาจพิจารณาให้ดำเนินกระบวนพิจารณาทางออนไลน์ได้ โดยจำเลยมีสิทธิต่อสู้คดีเต็มที่
"โดยหลักแล้วศาลยุติธรรมคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนที่มีอรรถคดีในศาลและบุคลากรเป็นสำคัญ เพียงแต่มาตรการดำเนินคดีทางออนไลน์ออกมาเพื่อให้การดำเนินกระบวนพิจารณาคดีเดินหน้าต่อไปได้ ลดการเดินทางมายังศาลให้ได้มากที่สุด และถึงแม้เป็นการพิจารณาคดีทางออนไลน์ แต่ยังคงเป็นการพิจารณาที่เปิดเผย โดยทุกศาลจัดให้มีการถ่ายทอดภาพและเสียงการพิจารณาคดีทางออนไลน์ให้ประชาชนเข้าฟังในห้องพิจารณาของศาลตามปกติ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสถานการณ์จะรุนแรงแต่ภาระหน้าที่ตามกฎหมายที่เราต้องดำเนินการยังมีอยู่และไม่อาจปิดทำการศาลยุติธรรมทั่วประเทศได้ ดังนั้น งานหมายจับ หมายค้น ผัดฟ้อง ฝากขัง พิจารณาพิพากษาคดีที่กฎหมายกำหนดระยะเวลาไว้ ไม่อาจเลื่อนออกไปได้ งานส่วนนี้เราดำเนินการมาโดยตลอด เพียงแต่เราจะบริหารจัดการให้สอดคล้องต่อสภาพความเป็นจริงเพื่อให้ความปลอดภัยและความยุติธรรมก้าวเดินไปพร้อม ๆ กัน" นายสุริยัณห์ กล่าว
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/