ป.ป.ช. ลงนามร่วม ตร. ลุยประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส ITA สู่สถานีตำรวจนครบาล 88 ยกเป็นประเด็น ‘ตรวจราชการ’ บูรณการเชื่อมข้อมูลป้องปรามทุจริต
.................................................................................
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2564 ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) และ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แสดงเจตนารมณ์ร่วมกันระหว่างสำนักงาน ป.ป.ช. และ ตร. ในการขับเคลื่อนการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment: ITA) ลงสู่สถานีตำรวจนครบาล 88 แห่ง ณ ห้องพรหมนอก ชั้น 2 อาคาร 1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พร้อมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการปฏิบัติงานตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 เป็นการลงนามระหว่างสำนักงาน ป.ป.ช. โดยนายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยพลตำรวจเอก สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผ่านระบบการประชุมทางไกล Zoom Cloud Meetings มีนางสุวณา สุวรรณจูฑะ กรรมการ ป.ป.ช. นายอุทิศ บัวศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. นายนิวัติไชย เกษมมงคล รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. นายมนต์ชัย วสุวัต ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. พล.ต.อ.วิสนุ ปราสาททองโอสถ จเรตำรวจแห่งชาติ (จตช.) พล.ต.ท.เชษฐา โกมลวรรธนะ หัวหน้าจเรตำรวจ พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) รวมทั้งผู้กำกับการ รองผู้กำกับการ และเจ้าหน้าที่ของสถานีตำรวจนครบาล เข้าร่วมผ่านระบบการประชุมทางไกล Zoom Cloud Meetings โดยทั้งหมดเป็นไปตามมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) อย่างเคร่งครัด
ทั้งนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ส่งสัญญาณให้จเรตำรวจแห่งชาติขับเคลื่อนและกำกับติดตามการประเมิน ITA ของสถานีตำรวจนครบาลทั้ง 88 แห่ง ผ่านการกำหนดให้เป็นประเด็นการตรวจราชการ อีกทั้งยังมีความพร้อมในการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. และร่วมพัฒนาเตรียมความพร้อมเชื่อมโยงข้อมูลคดีการทุจริต พัฒนาบุคลากร พัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมพนักงานสอบสวนร่วมกันอีกด้วย
โดย พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวตอนหนึ่งว่า อำนาจหน้าที่ของสำนักงาน ป.ป.ช. ในด้านการปราบปรามการทุจริตตามรัฐธรรมนูญปี 2560 และ พ.ร.บ.ป.ป.ช. กำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. สามารถมอบหมายเรื่องกล่าวหาที่มิใช่ความผิดร้ายแรง ให้พนักงานสอบสวนรับไปดำเนินการแทนแล้วรายงานผลการดำเนินการให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทราบ และกำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจมอบหมายพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจหรือพนักงานสอบสวนดำเนินการแทนในกรณีที่ต้องดำเนินการจับและควบคุมตัวบุคคลซึ่งเป็นผู้ถูกกล่าวหา ทั้งนี้ พ.ร.บ.ป.ป.ช. กำหนดให้จัดตั้งกองทุน ป.ป.ช. มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายอื่นใดที่จะเป็นประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่และอำนาจเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ฉะนั้น เพื่อให้การประสานความร่วมมือ (Collaboration) ในการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดผลสัมฤทธิ์ สำนักงาน ป.ป.ช. และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงมีทิศทางในการประสานความร่วมมือ ร่วมกัน ในขอบเขตต่าง ๆ ดังนี้
1. การประสานความร่วมมือเพื่อปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช.
2. การสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้แก่พนักงานสอบสวนเกี่ยวกับปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช.
3. การประสานความร่วมมือในการเชื่อมโยงฐานข้อมูลคอมพิวเตอร์เกี่ยวกับคดีทุจริต
4. การพัฒนาบุคลากรร่วมกัน เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ เสริมสมรรถนะและพัฒนาความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
5. การปฏิบัติงานในด้านอื่นๆ ตามที่สำนักงาน ป.ป.ช.โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้มีการประชุมเพื่อมีหนังสือประสานความร่วมมือกัน
พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวอีกว่า ในด้านการป้องกันการทุจริต คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีหน้าที่และอำนาจในการส่งเสริมการป้องกันการทุจริต ด้วยการจัดให้มีมาตรการและกลไกที่มีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบ ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนอย่างเข้มงวด ที่ผ่านมารัฐบาล และ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ให้ความสำคัญและมุ่งเน้นให้มีการประเมิน ITA เพราะเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการส่งเสริมความโปร่งใส ในการปฏิบัติงานของหน่วยงานภาครัฐในมิติต่าง ๆ อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือเชิงรุกที่ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาคุณภาพการให้บริการบริการประชาชน ที่เป็นรูปธรรมอีกด้วย หลายปีที่ผ่านมา ได้มีการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ มากกว่า 8,300 หน่วยงาน มีฐานะเป็นนิติบุคคลทั่วประเทศ มุ่งเน้นให้หน่วยงานภาครัฐเหล่านั้น มีความโปร่งใสและตรวจสอบได้ โดยสถานีตำรวจนครบาล ถือเป็น หน่วยงานที่สำคัญเชิงพื้นที่ และมีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ ในการให้บริการประชาชนด้วยเช่นกัน คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงเห็นควรสนับสนุนให้เกิดการขยายการประเมิน ITA ลงไปสู่สถานีตำรวจนครบาล โดยจะเริ่มต้นดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ.2565 โดยมุ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเครื่องมือการประเมิน ITA ดังกล่าว จะช่วยเป็นเครื่องมือทางการบริหาร ของท่านผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาล ด้วยการที่สถานีตำรวจนครบาล สามารถนำกรอบและเกณฑ์การประเมินไปส่งเสริมให้เกิด คุณธรรม ความโปร่งใส และตรวจสอบได้ รวมถึงการพัฒนาคุณภาพการให้บริการ และการปฏิบัติงานของสถานีตำรวจนครบาล ในมิติต่างๆ อาทิ งานป้องกัน ปราบปราม สืบสวน สอบสวน งานจราจร งานอำนวยการ รวมถึงเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการบริหารภายในหน่วยงาน เช่น การบริหารงบประมาณ การจัดซื้อจัดจ้าง รวมถึงงานทางด้านการบริหารกำลังพล เป็นต้น
“การที่จะดำเนินการเรื่องดังกล่าวให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ “การแสดงเจตนารมณ์ ความร่วมมือ จากผู้บริหารระดับสูง หรือจากผู้บังคับบัญชาสูงสุด หรือที่เรียกว่า Tone from the top เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง ที่จะเป็นจุดเริ่มต้นในการส่งสัญญาณไปยังผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาล ให้พร้อมรับนำไปขับเคลื่อน รวมถึงเตรียมพร้อมในด้านต่างๆ เช่น การสร้างความเข้าใจให้ทั่วถึง การกำหนดให้มีผู้ที่รับผิดชอบที่ชัดเจน และสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งคือ การสร้างวัฒนธรรมใหม่ในการปฏิบัติงานที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับพี่น้องประชาชาชน จะส่งผลต่อการยกดับความโปร่งใสของประเทศไทย ให้ได้รับการยอมรับในสายตามของนานาชาติมากยิ่งขึ้นอีกด้วย” ประธานกรรมการ ป.ป.ช. กล่าว
ส่วน พล.ต.อ.สุวัฒน์ กล่าวว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พร้อมแสดงเจตนารมณ์ร่วมที่จะดำเนินการในเรื่องดังกล่าว ผ่านการลงนามบันทึกข้อตกลง กับสำนักงาน ป.ป.ช. เรื่อง ความร่วมมือในการปฏิบัติงานตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. สำหรับด้านการประเมิน ITA ของสถานีตำรวจนครบาล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พร้อมรับนโยบายและพร้อมขับเคลื่อนในเรื่องดังกล่าวให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยที่ 1.สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะมอบหมายให้ จเรตำรวจแห่งชาติ ขับเคลื่อนและกำกับติดตามการประเมิน ผ่านการกำหนดให้เป็นประเด็นการตรวจราชการ มีการส่งเสริม และกำกับติดตาม อย่างต่อเนื่อง
2.สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะมอบหมายให้ กองบัญชาการตำรวจนครบาล กำหนดผู้ที่รับผิดชอบที่ชัดเจนในการ “เป็นศูนย์กลาง” ในการประสานสถานีตำรวจนครบาล รวมถึงส่งเสริม และกำกับติดตามอย่างต่อเนื่อง
3. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะมอบหมายให้ สำนักงานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ส่งเสริม ให้คำแนะนำ สถานีตำรวจนครบาล ในด้านการพัฒนา website เพื่อเป็นช่องทางในการเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานต่าง ๆ ของสถานีตำรวจนครบาล ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเกณฑ์การประเมินที่กำหนด
4.สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะมอบหมายให้ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต (ศปท.) ส่งเสริม สนับสนุน องค์ความรู้และให้คำแนะนำ สถานีตำรวจนครบาล ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการประเมิน ITA
5.สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะมอบหมายให้ ผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาล รับนโยบายในการขับเคลื่อนการประเมิน ITA ของสถานีตำรวจนครบาล และให้มีการกำหนดผู้รับผิดชอบการประเมินที่ชัดเจน ทั้งในด้านของกระบวนการประเมิน และกระบวนการพัฒนาคุณภาพการให้บริการประชาชน
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/