'หมอประสิทธิ์' ย้ำวัคซีนลดติดเชื้อ-ลดเสียชีวิต แจงผลการศึกษาฉีดสลับ ช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน-กระตุ้นเม็ดเลือดขาว ยันไม่มีข้อห้าม เผยไทยเจรจาผู้ผลิตวัคซีนรุ่น 2 หวังใช้ครอบคลุมหลายสายพันธุ์ คาดมาไม่ทันปลายปีนี้แน่ อย่างเร็วต้นปี 2565
------------------------
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 21 ก.ค.2564 ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ปีนี้แตกต่างจากปีที่ผ่านมา เพราะปีนี้มีสายพันธุ์เดลตาที่แพร่ระบาดเร็ว และทั่วโลกเจอเหมือนกัน โดยประเทศไทย ตอนนี้ข้อมูลจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และกรมควบคุมโรค พบว่า ยังมีอัลฟา และเดลตากำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่วนเบตา อยู่บ้างส่วนใหญ่อยู่ทางภาคใต้ ส่วนแลมด้ายังไม่มีเข้ามา
ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า สำหรับวัคซีนป้องกันโควิดในปัจจุบันมีวัคซีนใหญ่ๆ อยู่ 4 แพลตฟอร์ม คือ วัคซีนชนิด mRNA วัคซีนไวรัล เวคเตอร์ วัคซีนโปรตีน ซับยูนิต ยังไม่ได้เข้ามาในไทย และวัคซีนเชื้อตาย ส่วนข้อมูลต่างๆ ที่มีตั้งแต่ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะขณะนั้น ยังไม่มีสายพันธุ์เดลตา อีกทั้งช่วงนั้นต้องหาวัคซีนให้ได้โดยเร็ว เพราะเริ่มมีการแพร่กระจายโรค และเวลานั้น วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ยังไม่ได้ตามต้องการ ขณะนั้นซิโนแวคก็ช่วยเราได้ดี แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงของสายพันธุ์ก็ต้องมีการปรับเปลี่ยน
@ ฉีดสลับช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน กระตุ้นเม็ดเลือดขาว
ศ.นพ.ประสิทธิ์ อธิบายระบบภูมิคุ้มกันที่สำคัญต่อการติดเชื้อไวรัส ว่า โดยระบบการทำงานภูมิคุ้มกันของร่างกายอาศัยการทำงานเม็ดเลือดขาว 2 กลุ่ม โดยกลุ่มที่ 1 เรียกว่า กลุ่มเม็ดเลือดขาว T cells และ อีกกลุ่มเรียกว่า เม็ดเลือดขาว B cells โดยหากไวรัสเข้าไปร่างกาย และหากไปกระตุ้นของ B cells ก็จะสร้างแอนติบอดี เพื่อไปหุ้มไม่ให้ไวรัสเข้าไปติดเชื้อในเซลล์ ภูมิคุ้มกันแบบนี้เป็นหนึ่งในกลไกหลักของวัคซีนส่วนใหญ่ใช้ ซึ่งวัคซีนไข้หวัดใหญ่ก็มีกลไกเช่นนี้ ดังนั้น วัคซีนชนิดเชื้อตาย วัคซีนโปรตีนเบส จะมีกลไกหลักเหล่านี้ ขณะเดียวกันยังมีกลไกกระตุ้นที่เรียกว่า T cells เมื่อไหร่ที่มีการติดเชื้อไวรัส จะไปฆ่าเซลล์ที่มีการติดเชื้อ ซึ่งระยะยาว T cells จะทำหน้าที่สำคัญ ขณะนี้มีอยูในกลุ่มไวรัลเวคเตอร์ mRNA จะทำหน้าที่กระตุ้นภูมิฯได้สองอย่าง แต่วัคซีนชนิดเชื้อตาย วัคซีนโปรตีนเบสก็มีแต่อาจไม่มากเท่า
“จึงเป็นที่มาของการแนะนำการฉีดวัคซีนต่างชนิด โดยเข็มที่ 1 ซิโนแวค ซึ่งเป็นเชื้อตาย ที่กระตุ้น B cells ได้ดี แต่กระตุ้น T cells อาจไม่ดีนัก ดังนั้น หากเอาวัคซีนอีกประเภทที่กระตุ้น T cells ได้ดีมาใช้ ซึ่งก็คือไวรัลเวคเตอร์ อย่างแอสตร้าฯ จึงให้วัคซีนซิโนแวคเข็มที่ 1 และ 3 สัปดาห์ตามด้วยวัคซีนแอสตร้าฯเข็ม 2 โดยทั่วไป 2 สัปดาห์ภูมิฯจะสูงขึ้น เบ็ดเสร็จใช้เวลา 5 สัปดาห์ภูมิคุ้มกันสูงขึ้น" ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว
ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ส่วนอีกสูตรให้แอสตร้าเซนเนก้ากระตุ้นได้ทั้ง T cells และ B cells แต่สิ่งที่เกิดขึ้นแอสตร้าฯ ระหว่างเข็มที่ 1 และ 2 จะเว้นระยะถึง 10-12 สัปดาห์ และหลังจาก 2 สัปดาห์ภูมิคุ้มกันขึ้นสูง หมายความว่า ต้องใช้เวลารวมประมาณ 12-14 สัปดาห์ และมีตัวเลขงานวิจัยต่างประเทศว่า แอสตร้าฯเข็มเดียวไม่พอในการป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์เดลตา จึงต้องฉีดสองเข็ม ทำให้มีคำถามว่า ควรฉีดให้ใกล้ขึ้นหรือไม่ แต่เราพบข้อมูลเมื่อวันที่ 14 ก.ค.2564 ที่ผ่านมาว่า ระหว่างเข็มที่ 1 และเข็ม 2 ห่างกัน 6 สัปดาห์มี พบว่ามีประสิทธิภาพ 55% ยิ่งเว้นห่างออกไป มีแนวโน้มประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อย่างห่างกัน 6-8 สัปดาห์ภูมิฯ 60% หากฉีดห่างกัน 9-11 สัปดาห์มีประสิทธิภาพ 64% และหากห่างกันมากกว่า 12 สัปดาห์มีประสิทธิภาพ 81% และด้วยเหตุนี้จึงต้องเว้นระยะห่างไปถึง 10-12 สัปดาห์ แต่กว่าจะมีภูมิฯ ต้องใช้เวลามาก จึงต้องใช้ข้อมูลทางวิชาการต่างๆ
@ เล็งวัคซีนรุ่น 2 คาดเร็วสุดมาถึงต้นปีหน้า
ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม วัคซีนที่ฉีด คือ วัคซีนรุ่นที่ 1 และกำลังมองหาวัคซีนรุ่นที่ 2 ขณะนี้หลายบริษัทกำลังพัฒนา เพื่อให้ครอบคลุมสายพันธุ์ต่างๆ โดยกลุ่มหนึ่งเป็นวัคซีนใหม่เลย ส่วนใหญ่ยังไม่เข้ามา ยังอยู่ระยะที่ 2 ขณะเดียวกันวัคซีนเดิม ที่คุ้นกับยี่ห้อกำลังพัฒนาวัคซีนรุ่นที่ 2 โดยไทยกำลังติดต่อกับบริษัทเพื่อเจรจาวัคซีนรุ่นที่ 2 สถาบันวัคซีนแห่งชาติดำเนินการอยู่ แต่ที่สำคัญวัคซีนรุ่นที่ 2 ไม่มาปลายปีนี้แน่ แต่อย่างเร็วมาเป็นต้นปีหน้า แต่อีกหลายเดือนนับจากนี้จะทำอย่างไร ให้คนไทยปลอดภัย จึงเป็นที่มาของการศึกษาว่า รุ่นที่ได้ดี ณ เวลานี้ คือ เข็มที่ 1 เป็นซิโนแวค และเข็มที่ 2 เป็นแอสตร้าฯ ซึ่งจะสามารถกระตุ้นได้ทั้ง T cells และ B cells
“การจับคู่ระหว่างเชื้อตาย และไวรัล เวคเตอร์ มีงานวิจัยในต่างประเทศ มีทั้งเรื่องประสิทธิภาพและปลอดภัยสูง อีกสิ่งหนึ่งที่ไทยกำลังทำ เพราะมีคนจำนวนหนึ่งมีคนฉีดซิโนแวคไป 2 เข็ม ที่กังวล เพราะมีการกลายพันธุ์ ก็หลักการเหมือนกัน เมื่อซิโนแวค 2 เข็ม ซึ่งกระตุ้น B cells เป็นหลัก จึงต้องมีการกระตุ้นเข็มที่ 3 ที่มากระตุ้น T cells นี่คือเหตุผลว่าเข็มที่ 3 ต้องเป็น mRNA หรือไวรัล เวคเตอร์ นี่คือเหตุผลที่ต้องดำเนินการ ณ ตอนนี้ ซึ่งมาจากเหตุผลทางด้านวิชาการ ทำให้สอดคล้องกับทรัพยากรที่เรามีอยู่” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว
ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวต่อว่า วัคซีนต้องมีการฉีดมากพอ จึงจะช่วยลดการติดเชื้อ ลดการเสียชีวิต และการจะฉีดวัคซีนได้มากพอนั้น มีองค์ประกอบ 3 อย่าง คือ 1.วัคซีนต้องมากพอ 2.มีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพมากพอ คือ ฉีดวันละ 3-4 แสนคน และ 3.ต้องมีคนมาให้ฉีด พร้อมทั้ง ขอย้ำประชาชนคนไทย เมื่อมีการจับคู่วัคซีน 2 ชนิด และมีหลักฐานทางวิชาการ ซึ่งเมื่อกรมควบคุมโรคมีการจัดวัคซีนในปริมาณเพียงพอ ขอความกรุณามารับวัคซีน
@ ไม่มีข้อห้ามฉีดวัคซีนสลับ
ศ.นพ.ประสิทธิ์ ตอบคำถามกรณีการฉีดวัคซีนไขว้ มีข้อห้ามหรือไม่ ว่า ไม่ได้แตกต่างจากการฉีดวัคซีนชนิดเดียวกัน ข้อห้ามน้อยมาก ยกเว้นแพ้วัคซีนจริงๆ อย่างหากใครรู้ว่าแพ้วัคซีนชนิดใดชนิดหนึ่งไปแล้วก็ไม่ควรฉีด เช่น หากแพ้แอสตร้าฯ จริงๆ มีข้อมูลชัดเจน เข็มสองก็ไม่ควรรับ ส่วนกรณีผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หรือหญิงตั้งครรภ์อายุ 12 สัปดาห์ขึ้นไปไม่มีข้อห้าม ส่วนผลข้างเคียงนั้น ก่อนหน้านี้มีข้อมูลการฉีดไขว้ก่อนหน้านี้ประมาณพันกว่าราย ก็ไม่พบอาการรุนแรง และขณะนี้ยังไม่พบภาวะแทรกซ้อนที่แตกต่างจากการฉีดแบบประเภทเดียวกัน แต่บางคนฉีดแอสตร้าฯ ยิ่งคนหนุ่มสาวมีอาการมากน้อย แต่เมื่อฉีดไขว้ ยิ่งซิโนแวคเข็มแรก อาการกลับน้อยลง ดังนั้น ข้อมูล ณ เวลานี้อาการไม่พึงประสงค์ไม่น่าจะเพิ่มขึ้น แต่ต้องเก็บข้อมูลเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะรายที่เสียชีวิตต้องมีข้อมูลเพื่อให้สังคมเข้าใจมากขึ้น
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage