ครม.อนุมัติร่าง ‘พ.ร.บ.การขนส่งทางราง’ ให้ 'นายกฯ' นั่งประธานบอร์ดนโยบายการขนส่งทางราง มีอำนาจกำหนด ‘ค่าโดยสาร-ค่าขนส่ง-ค่าธรรมเนียม’ ระบบทางรางทั่วประเทศ พร้อมเห็นชอบ 'กฟผ.' ตั้งบริษัทนวัตกรรมกิจการไฟฟ้า
......................
เมื่อวันที่ 20 ก.ค. น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติหลักการร่างพ.ร.บ.การขนส่งทางราง พ.ศ. ... ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ เพื่อควบคุมและกำกับดูแลกิจการขนส่งทางราง ให้สามารถยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมขนส่งทางรางและการบริหารจัดการการขนส่งทางรางอย่างเป็นระบบ สอดคล้องกับการพัฒนาการขนส่งรูปแบบอื่นๆให้เป็นโครงข่ายเดียวกันอย่างสมบูรณ์
สำหรับร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว การกำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายการขนส่งทางราง ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ มีอำนาจหน้าที่ในการให้ความเห็นชอบแผนการพัฒนาการขนส่งทางรางและโครงการของหน่วยงานรัฐ ,เสนอแนวทางในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่น ที่ได้รับประโยชน์จากการขนส่งทางราง การพัฒนาพื้นที่รอบสถานี การเชื่อมต่อการขนส่งทางรางกับการขนส่งทางอากาศ การขนส่งทางน้ำ สถานีขนส่งทางบก ศูนย์กระจายสินค้า ที่พักสินค้า ท่าเรือบก นิคมอุตสาหกรรม
รวมทั้งมีอำนาจกำหนดอัตราขั้นสูงของค่าโดยสาร ค่าขนส่ง ค่าใช้ประโยชน์จากราง และค่าธรรมเนียมอื่น และการกำหนดประเภทของบุคคลที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องชำระค่าโดยสาร
ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ ยังกำหนดมาตราการคุ้มครองผู้โดยสาร เช่น ผู้ได้รับใบอนุญาตจะเรียกเก็บค่าโดยสาร ค่าขนส่ง ค่าใช้ประโยชน์จากราง และทรัพย์สินที่จำเป็นในการประกอบกิจการขนส่งทางราง และค่าธรรมเนียมอื่นเกินกว่าอัตราที่คณะกรรมการประกาศกำหนดไม่ได้ ,ผู้ได้รับใบอนุญาตต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายให้กับผู้โดยสารเมื่อการเดินรถขนส่งทางรางมีเหตุล่าช้าหรือถูกยกเลิก
ผู้ได้รับใบอนุญาตต้องจัดให้มีการประกันความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ชีวิตและร่างกายของผู้โดยสารและผู้ใช้บริการ และผู้ได้รับใบอนุญาตมีหน้าที่จัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสารและผู้ใช้บริการ โดยเฉพาะผู้ทุพพลภาพ ผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์ และเด็ก ให้มีความเหมาะสมแก่การใช้บริการขนส่งทางราง เป็นต้น
นอกจากนี้ ในกรณีที่ผู้โดยสาร ผู้ใช้บริการ หรือบุคคลอื่น ได้รับความเดือดร้อนจากการประกอบกิจการขนส่งทางรางให้มีสิทธิร้องเรียนต่ออธิบดี และต้องสอบสวนข้อเท็จจริงและมีคำสั่งโดยเร็วไม่เกิน 60 วัน นับตั้งแต่ได้รับเรื่องร้องเรียน
ด้าน น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.มีมติอนุมัติให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ). ดำเนินการจัดตั้งบริษัทนวัตกรรมของกลุ่มการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย โดย กฟผ. ถือหุ้นร้อยละ 40 ระยะเวลา 5 ปี (ปี2564 -2568) เงินลงทุนรวม 1,184 ล้านบาท โดยให้เบิกจ่ายเป็นรายปีจนครบวงเงินลงทุน 1,184 ล้านบาท ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ
ทั้งนี้ การจัดตั้งบริษัทนวัตกรรมในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ ดังนี้
1.ลงทุนใน Disruptive Technology เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่เข้ามาแทนที่เทคโนโลยีเดิม ที่จะส่งผลกระทบต่อ กฟผ. และธุรกิจพลังงานในอนาคต รวมถึงสามารถพัฒนาและต่อยอดงานวิจัยและนวัตกรรมในการแก้ไขปัญหาด้านต่างๆ ให้สามารถใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้
2.สร้างเครือข่ายนักวิจัย สถาบัน Startup และ Smart SMEs ภาคเอกชน ทั้งในและต่างประเทศ ในการดำเนินงานด้านนวัตกรรมและการลงทุนในโครงการนวัตกรรมต่างๆ โดยกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น อุตสาหกรรมการผลิตพลังงานหมุนเวียน การซื้อขายไฟฟ้า ระบบกักเก็บพลังงาน โครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) และยานยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น
สำหรับแผนการลงทุนของบริษัทนวัตกรรมในระยะ 5 ปีแรก (ปี 2564 - 2568) ประกอบด้วย 1.หน่วยงานสนับสนุนแนวคิดทางธุรกิจใหม่ๆ (Collaborator) 2.หน่วยงานเพื่อการบ่มเพาะธุรกิจ (Incubator) และหน่วยงานเพื่อเร่งการเติบโตธุรกิจ (Accelerator) 3.หน่วยงาน Corporate Venture Capital (CVC) เป็นหน่วยงานที่องค์กรด้านพลังงานที่จัดตั้งเพื่อลงทุนในบริษัทคลื่นลูกใหม่ (Startup) ช่วยสร้างรายได้รูปแบบใหม่แก่บริษัทแม่ และสร้างองค์ความรู้ความเชี่ยวชาญทางเทคโนโลยี
4.หน่วยงานเพื่อเตรียมการจัดตั้งโครงการวิจัยและการพัฒนา ซึ่งเป็นการลงทุนในโครงการนวัตกรรมที่เกิดขึ้นจากการวิจัยและพัฒนาของ กฟผ. จำนวน 7 โครงการ ได้แก่ (1) โครงการชุดอุปกรณ์ดัดแปลงยานยนต์ไฟฟ้า EV Kit (2) โครงการระบบตรวจสอบสายส่งอัจฉริยะ (3) โครงการนวัตกรรมเรือกำจัดขยะและผักตบชวา (4) โครงการหุ่นยนต์ทำความสะอาดลูกถ้วย (5) โครงการระบบกักเก็บพลังงาน (6) โครงการโปรแกรมวิเคราะห์และแสดงพิกัด และ (7) โครงการ Regional Energy Trading Company
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/