ภาคประชาสังคม ออกแถลงการณ์สนับสนุน อภ. เดินหน้าผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ รักษาผู้ป่วยโควิดตามแผนในเดือน ส.ค. แม้บริษัทฟูจิฟิล์ม โทยามะ เคมิคอล ยื่นอุทธรณ์ หวั่นร่างแก้ไข พ.ร.บ.สิทธิบัตรจ่อเข้า ครม. ขวางการเข้าถึงยาในอนาคต ขอกรมทรัพย์สินทางปัญญาแก้ไขถ้อยความดังกล่าว
............................................
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 20 ก.ค.2564 ภาคประชาสังคม ประกอบด้วย มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีหรือเอดส์ และกลุ่มนักวิชาการเพื่อการเข้าถึงยา ออกแถลงการณ์สนับสนุนองค์การเภสัชกรรม เดินหน้าผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ เพื่อใช้รักษาผู้ป่วยโควิดตามแผนในเดือน ส.ค.นี้ แม้บริษัทฟูจิฟิลม์ โทยามะ เคมิคอล จำกัด จะยื่นคำอุทธรณ์กรมทรัพย์สินทางปัญญา ที่มีคำสั่งยกคำขอรับสิทธิบัตรยาฟาวิพิราเวียร์ เลขที่ 1101001988 เมื่อวันที่ 5 ก.ค.2564 พร้อมขอให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาพิจารณาคำอุทธรณ์โดยยึดหลักวิชาการด้านเภสัชศาสตร์และสิทธิบัตร และยืนยันคำตัดสินเดิมให้ยกคำขอ
อนึ่งก่อนหน้านี้เมื่อ 17 ก.ค.2563 มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ยื่นข้อมูลเพี่อประกอบการพิจารณาคำขอรับสิทธิบัตรฉบับนี้ให้กรมทรัพย์สินทางปัญญา และขอให้กรมทรัพย์สินทางปัญญา ยกคำขอรับสิทธิบัตร เพราะคำขอฯ ดังกล่าวไม่มีขั้นตอนการประดิษฐ์ที่สูงขึ้นและไม่ควรได้รับการคุ้มครองสิทธิบัตร ต่อมาในเดือน ม.ค.2564 ผู้แทนภาคประชาสังคมได้เข้าพบอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา และแสดงความกังวลว่าประเทศจำเป็นที่ต้องใช้ยาฟาวิพิราเวียร์จำนวนมากในสถานการณ์การระบาดโควิดจนเมื่อเกิดการระบาดระลอกที่ 3 ในเดือน เม.ย.2564 ซึ่งมีผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมาก ภาคประชาสังคมรณรงค์เรียกร้องให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาเร่งพิจารณาและยกคำขอฯ และสนับสนุนให้องค์การเภสัชกรรมนำเข้าและผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ในราคาที่ถูกกว่า เพื่อให้ผู้ป่วยโควิดได้รับการรักษาอย่างทั่วถึง กรมทรัพย์สินทางปัญญามีคำตัดสินเมื่อวันที่ 5 พ.ค.2564 ให้ยกคำขอรับสิทธิบัตรยาฟาวิพิราเวียร์
หลังจากที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ยกคำขอรับสิทธิบัตร องค์การเภสัชกรรมได้นำเข้ายาฟาวิพิราเวียร์ที่เป็นยาชื่อสามัญมาจากอินเดียในราคาที่ถูกว่ายาต้นแบบของบริษัทฟูจิฟิลม์ โทยามะ เคมิคอล จำกัด ถึง 50% และเร่งวิจัยการผลิตยาฟาวิพิราเวียร์เอง ต่อมาเมื่อวันที่ 13 ก.ค.2564 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อนุมัติการขึ้นทะเบียนยาให้กับยาฟาวิพิราเวียร์ที่ผลิตโดยองค์การเภสัชกรรม และองค์การเภสัชกรรม พร้อมส่งยาฟาวิพิราเวียร์ ที่ผลิตเองให้กับโรงพยาบาลต่างๆ ในเดือน ส.ค. นี้
นอกจากนี้ ภาคประชาสังคมได้เตรียมยื่นข้อมูลเพื่อให้กรมทรัพย์สินทางปัญญา พิจารณาและยกคำขอรับสิทธิบัตรยาเรมดิซิเวียร์ ซึ่งเป็นยารักษาโควิดที่สำคัญอีกชนิด และกำลังจะขาดแคลน เนื่องจากบริษัทยาในประเทศสามารถผลิตยานี้ได้ แต่ติดปัญหาเรื่องสิทธิบัตร
กรณีของยาฟาวิพิราเวียร์ เป็นตัวอย่างของการผูกขาดตลาดยาด้วยระบบสิทธิบัตรที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงการรักษา โดยเฉพาะในยามวิกฤต กรมทรัพย์สินทางปัญญายกร่างแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สิทธิบัตรและเปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็น แต่ข้อเสนอแนะและคำทักท้วงที่ภาคประชาสังคมและนักวิชาการด้านการเข้าถึงยาเกือบ 20 องค์กร ที่ได้ให้ไว้ กลับไม่ได้รับการพิจารณาและไม่ถูกรวมอยู่ในเนื้อหากฎหมายที่จะแก้ไข
โดยประเด็นที่ภาคประชาสังคมกังวลที่สุด คือการแก้ไขมาตราที่เกี่ยวกับการใช้สิทธิโดยรัฐ หรือ มาตรการซีแอล ที่เป็นเครื่องมือสำคัญของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในการแก้ไขปัญหาการเข้าไม่ถึงยา เพราะการผูกขาดด้วยการจดสิทธิบัตรที่ทำให้ไม่มีการแข่งขันและยาราคาแพง ในร่าง พ.ร.บ.สิทธิบัตรฉบับแก้ไขที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาเตรียมยื่นให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา ได้เสนอให้คำสั่งการใช้สิทธิโดยรัฐที่ออกโดยกระทรวง ทบวง และกรม ต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีอีกชั้นหนึ่งก่อน นอกจากนี้เมื่อประกาศการใช้มาตรการซีแอลไปแล้ว บริษัทยาที่เป็นเจ้าของสิทธิบัตรสามารถยื่นขอให้ศาลมีคำสั่งให้ระงับหรือยกเลิกคำสั่งประกาศใช้ซีแอลได้
ในอดีตมาตรการซีแอลช่วยให้ประเทศไทยนำเข้ายาชื่อสามัญสำหรับรักษาเอชไอวี โรคหลอดเลือดอุดตัน และโรคมะเร็งในราคาที่ถูกกว่ายาที่ติดสิทธิบัตร 70-90% ทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศจ่ายยาดังกล่าวให้ผู้ป่วยนับแสนคนผ่านการบริการของโรงพยาบาลต่างๆ ได้ ดังนั้นหากมาตรการซีแอลถูกแก้ไขตามที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้เสนอไป ประเทศไทยอาจไม่มีโอกาสได้ใช้มาตรการซีแอลอีกในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงภาวะวิกฤตด้านสุขภาพอย่างโควิด
ด้วยเหตุดังกล่าว ภาคประชาสังคมต้องการให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาแก้ไขถ้อยความในมาตราที่เกี่ยวกับการใช้สิทธิโดยรัฐ ในร่าง พ.ร.บ.สิทธิบัตรฉบับแก้ไข โดยตัดการที่ต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีและการอนุญาติให้ผู้ทรงสิทธิบัตรฟ้องศาลให้ระงับหรือยกเลิกคำสั่งการใช้สิทธิโดยรัฐออกทั้งหมด รวมถึงการเพิ่มหน่วยงานรัฐอื่นๆ ที่นอกเหนือจากกระทรวง ทบวง กรมให้สามารถประกาศใช้มาตรการซีแอล และต้องไม่แก้ไขให้มีการขอจดสิทธิบัตรในเรื่องการบำบัดรักษาและการป้องกันโรคได้
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage