ชมรมเภสัชชนบท ออกจดหมายเปิดผนึกร้อง อย.-กรมวิทย์-สปสช. หนุนให้ประชาชนสามารถเข้าถึงใช้ชุดตรวจโควิดเบื้องต้น Self Swab Rapaid Test เพื่อตรวจสอบการติดเชื้อด้วยตัวเอง
................................
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 9 ก.ค.2564 ภก.สุภนัย ประเสริฐสุข ประธานชมรมเภสัชชนบท ลงนามในจดหมายเปิดผนึก ถึง นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เรื่อง ขอให้พิจารณาใช้ชุดตรวจโควิดเบื้องต้น เบื้องต้น Self Swab Rapaid Test สำหรับประชาชน เมื่อวันที่ 8 ก.ค. 2564 โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
ตามที่ปรากฏเวลานี้ประชาชนประสบภาวะยากลำบากในการรอตรวจโควิด พบว่าต้องเข้าคิวตั้งแต่ช่วงดึกก่อนวันตรวจ พักผ่อนนอนหลับข้างถนน เป็นปรากฎการณ์ที่บ่งบอกถึงความทุกข์ของคนไทยในเวลานี้อย่างยิ่งยวดประกอบกับกระทรวงสาธารณสุขมีแนวทางที่ผลักดันให้เกิดการแยกกักตัวที่บ้าน Home Isolation
ชมรมเภสัชชนบทเห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนและพบว่าท่านสามารถช่วยเหลือประชาชนในเวลานี้ได้ใช้ชุดตรวจโควิดเบื้องต้น Self Swab Rapaid Test เพื่อตรวจสอบการติดเชื้อเบื้องต้นด้วยตัวเอง จึงขอเรียกร้องให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ร่วมกันดำเนินการ
1. ขอให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาโดยกองเครื่องมือแพทย์ ร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
1.1 พิจารณาอนุญาตให้ใช้ชุดตรวจเบื้องตัน Self Swab Rapaid Test สำหรับประชาชนโดยทั่วไป
1.2 พิจารณาอนุญาตและให้มีการนำเข้าฉุกเฉิน โดยให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเป็นผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์ที่มีความไวและความจำเพาะที่ดีมีมาตรฐานเสนอต่อรัฐบาลไปพร้อมกัน โดยไม่ต้องรอเอกชนมายื่นขอนำเข้าแต่เพียงฝ่ายเดียว
1.3 การพิจารณาใดๆของคณะกรรมการต่างๆที่ต้องใช้เวลาหลายวัน ขอให้ปรับเป็นการประชุมออนไลน์ วาระฉุกเฉินเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือประชาชนรวมถึงวันหยุดราชการ(ถ้าต้องทำโดยเป็นไปตามที่กฎหมายรองรับ
2. ขอให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติดำเนินการให้ประชาชนเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมไม่เกิดความเหลื่อมล้ำ
2.1 ร่วมดำเนินการรับผิดชอบค่าใช้จ่าย ไม่ให้เป็นภาระต่อประชาชนในเวลานี้
2.2 จัดช่องทางการกระจายชุดตรวจเบื้องต้นให้ประชาชนเข้าถึงผ่านกลไกร้านยาแผนปัจจุบันที่มีเภสัชกรให้บริการตลอดเวลาที่เปิดทำการ คลินิกเทคนิคการแพทย์และในระดับชุมชนหมู่บ้านผ่านช่องทางโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบล เพื่อช่วยในการแปลผล ให้คำแนะนำและป้องกันการอ่านผลที่คลาดเคลื่อน
2.3 สนับสนุนค่าใช้จ่ายการบริการให้แก่ร้านยา คลินิกเทคนิคการแพทย์และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบล
3. ขอให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เผยแพร่แนวทางการใช้ชุดทดสอบเบื้องต้นสำหรับประชาชนและการแปลผลที่ถูกวิธี
การปฏิบัติตัวเมื่อพบว่าผลตรวจเป็นบวกการดำเนินการของท่านจะช่วยเหลือประชาชนได้ในช่วงเวลานี้และยกระดับมาตรฐานการดูแลป้องกันในภาพรวมของกระทรวงสาธารณสุขให้ดีมากยิ่งขึ้น เพื่อให้คนไทยได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและแบ่งเบาภาระงานบุคลากรด่านหน้าไปได้
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage