"...สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อกรณี “ทำอย่างไร คนไทยจึงจะเอาชนะโควิด-19 ได้” พบว่า การแก้ปัญหาของรัฐบาลยังไม่ถูกทาง ร้อยละ 66.05 อยากเห็นนักการเมืองทุ่มเททำงาน คำนึงถึงประชาชนเป็นหลัก ร้อยละ 86.84..."
....................
สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อกรณี “ทำอย่างไร คนไทยจึงจะเอาชนะโควิด-19 ได้” กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,744 คน สำรวจวันที่ 28 มิ.ย. – 1 ก.ค. 2564 พบว่า ส่วนใหญ่เห็นว่าโควิด-19 ทำลายเศรษฐกิจ คนตกงาน อยู่อย่างลำบาก ร้อยละ 91.95 การแก้ปัญหาของรัฐบาลยังไม่ถูกทาง ร้อยละ 66.05 ควรเร่งจัดหาวัคซีนที่มีคุณภาพ ให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม ร้อยละ 87.25 อยากให้กรมควบคุมโรคเข้ามาเป็นผู้นำในการบริหารจัดการ ร้อยละ 67.04 อยากเห็นนักการเมืองทุ่มเททำงาน คำนึงถึงประชาชนเป็นหลัก ร้อยละ 86.84
ในวันที่ตัวเลขผู้เสียชีวิตและผู้ติดเชื้อทำสถิติสูงสุด (New high) ภาพประชาชนคนธรรมดาเฝ้ารอเตียงมากขึ้น และจำนวนคนตัดสินใจจบชีวิตมีอย่างต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นว่าการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินในภาวะโควิด-19 แบบ Single Command ไม่ได้ผลที่ดีเท่าใดนัก แม้จะบริหารงานแบบเน้นความยืดหยุ่น แต่ประชาชนกลับรู้สึกว่านั่นเป็นการบริหารแบบไม่วางแผนเสียมากกว่า ณ วันนี้จึงควรหยุดเล่นเกมการเมือง ให้อำนาจเต็มกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำเข้าวัคซีนที่มีคุณภาพ ใช้มาตรการเยียวยาถ้วนหน้า ดูแลทั้งภาคธุรกิจและประชาชนอย่างทั่วถึงเพื่อให้การบริหารครั้งนี้ไปถูกทางโดยเร็ว
โควิด-19 ได้ยกระดับตัวเองจนยากต่อการควบคุมแก้ไขทั้งพื้นที่การระบาด ความรุนแรงและสายพันธุ์ แล้วทำอย่างไรคนไทยจึงจะชนะปัญหานี้ได้ ผลสำรวจของสวนดุสิตโพล สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลต้องทำงานเชิงรุกมากขึ้น ยึดการบริหารที่เน้นผลลัพธ์มากกว่าโครงสร้าง มีแผนและวิธีปฏิบัติที่ชัดเจนให้กับประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ทั้งระยะสั้น กลาง และยาว สลับใช้แผนระหว่างแผนมุ่งเศรษฐกิจและแผนมุ่งสังคมให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในลักษณะนำ-รอง สื่อสารข้อเท็จจริงอย่างทั่วถึงเพื่อให้ประชาชนเข้าใจตรงกันและสามารถวางแผนการใช้ชีวิตต่อไปได้ แนวทางดังกล่าวแม้จะไม่ถูกใจรัฐบาล แต่ในสถานการณ์เช่นนี้จำเป็นต้องยึดหลักความถูกต้อง สร้างวุฒิภาวะทางการเมืองด้วยการเรียนรู้ปัญหาร่วมกันกับทุกฝ่าย หาทางออกที่เกิดประโยชน์แก่สังคม กู้คืนความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลให้กลับคืนมา “นะจ๊ะ”