'ศาลปกครองสูงสุด' นัดอ่านคำสั่งคดี 'ธีระชัย-พวก' ฟ้อง 'นายกฯ-ครม.' อนุมัติทำสัญญารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ขัดกฎหมาย-รัฐเสียเปรียบ
.........................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ในวันที่ 6 ก.ค.นี้ เวลา 10.30 น.ศาลปกครองกลางนัดอ่านคำสั่งศาลปกครองสูงสุดในคดีหมายเลขดำที่ 2542/2562 คดีหมายเลขแดงที่ 58/2563 ระหว่าง นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ที่ 1 กับพวกรวม 2 คน (ผู้ฟ้องคดี) กับ นายกรัฐมนตรี ที่ 1 กับพวกรวม 2 คน (ผู้ถูกฟ้องคดี) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย (อุทธรณ์คำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา)
สำหรับคดีนี้ ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้องศาลปกครองชั้นต้น ว่า ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี) เห็นชอบให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (คณะรัฐมนตรี) อนุมัติโครงการดังกล่าว ซึ่งต่อมา รฟท. ได้ทำสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินดังกล่าว
โดยผู้ฟ้องคดีเห็นว่า เงื่อนไขในสัญญายังขัดต่อกฎหมายและทำให้รัฐเสียเปรียบ เนื่องจากไม่มีการกำหนดค่าปรับกรณีเอกชนไม่สามารถดำเนินการเลื่อนย้ายพวงรางให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 5 ปี ผู้ฟ้องคดีในฐานะผู้เสียภาษีและผู้ใช้บริการของ รฟท. จึงเป็นผู้ถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพโดยตรง และผู้ฟ้องคดีที่ 2 ในฐานะพนักงานบำนาญของ รฟท. มีความเสี่ยงต่อความสามารถของ รฟท. ในการจ่ายเงินบำนาญให้แก่ผู้ฟ้องคดีที่ 2 และพนักงานของ รฟท. ในอนาคต
อย่างไรก็ตาม ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ เนื่องจากศาลฯ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า จากข้อเท็จจริงตามคำฟ้องไม่ปรากฏว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสองอยู่ในบังคับหรือจะอยู่ในบังคับหรือได้รับผลกระทบต่อสิทธิและหน้าที่โดยตรงจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เห็นชอบและผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 อนุมัติให้การรถไฟแห่งประเทศไทย ดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) รวมทั้งการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชนผู้ร่วมลงทุนและร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการดังกล่าว
ส่วนที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองอ้างว่า เป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองในฐานะประชาชนผู้เสียภาษีและเป็นผู้ใช้บริการของการรถไฟแห่งประเทศไทย และผู้ฟ้องคดีที่ 2 ในฐานะพนักงานบำนาญของการรถไฟแห่งประเทศไทย มีความเสี่ยงต่อความสามารถของการรถไฟแห่งประเทศไทยในการจ่ายเงินบำนาญให้แก่ผู้ฟ้องคดีที่ 2 และพนักงานของการรถไฟแห่งประเทศไทยในอนาคตนั้น
เห็นว่า ภาระในการเสียภาษีเงินได้ของผู้ฟ้องคดีทั้งสองขึ้นอยู่กับรายได้ของผู้ฟ้องคดี และการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองตามคำฟ้องไม่ได้มีผลกระทบใดๆ ต่อภาระเกี่ยวกับภาษีของผู้ฟ้องคดีทั้งสอง และผู้ฟ้องคดีที่ 2 จะได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายในการรับเงินบำนาญจากการรถไฟแห่งประเทศไทยหรือไม่ เป็นเรื่องในอนาคตที่ยังไม่มีความชัดเจน
จึงเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสองมิใช่ผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ อันเนื่องจากการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองที่จะมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ผู้ฟ้องคดีทั้งสองจึงยื่นอุทธรณ์คำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นต่อศาลปกครองสูงสุด
อ่านประกอบ :
ครม.ไฟเขียวจัดสรรงบกลาง จ่ายเวนคืนที่ดิน ‘ไฮสปีด 3 สนามบิน’ เพิ่มอีก 568 ล้าน
ครม.ไฟเขียวเพิ่มงบเวนคืนฯ 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' เป็น 5.7 พันล้าน
ไฟเขียวงบ 4.1 พันล้าน! รื้อย้ายสาธารณูปโภคแนว ‘ไฮสปีด 3 สนามบิน’
เซ็นเเล้ว! สัญญารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน คาดเปิดบริการปี 66
ครม.เห็นชอบร่างพรฎ.เวนคืนที่ดิน5จว. สร้างไฮสปีดเทรนเชื่อม3สนามบิน
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/