ธปท.เผยยอดอนุมัติสินเชื่อฟื้นฟูล่าสุดอยู่ที่ 5.9 หมื่นล้านบาท มั่นใจภายในเดือน ต.ค. ปล่อยกู้ได้ตามเป้า 1 แสนล้านบาท ขณะที่ยอดอนุมัติ 'พักทรัพย์ฯ' แล้ว 941 ล้านบาท
.........................
เมื่อวันที่ 2 ก.ค. นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 1 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการปล่อยสินเชื่อโครงการสินเชื่อฟื้นฟู ว่า ยอดปล่อยสินเชื่อฟื้นฟู ณ วันที่ 28 มิ.ย.2564 มีจำนวนทั้งสิ้น 59,061 ล้านบาท ครอบคลุมลูกหนี้ 19,427 ราย คิดเป็นวงเงินเฉลี่ย 3 ล้านบาทต่อราย โดยสินเชื่อกระจายตัวได้ดีทั้งในแง่ของขนาด ประเภทธุรกิจและภูมิภาค โดย 46% กระจายไปยัง SMEs ขนาดเล็ก ที่มีวงเงินสินเชื่อเดิมไม่เกิน 5 ล้านบาท ขณะที่ 68% อยู่ในภาคพาณิชย์และบริการ และ 68% เป็นธุรกิจในต่างจังหวัด
"การปล่อยสินเชื่อฟื้นฟูมีแนวโน้มดำเนินการได้ตามเป้าหมายร่วมของ ธปท.และสมาคมธนาคารไทยตั้งไว้ที่ 1 แสนล้านบาท ภายในเดือนตุลาคมนี้" นายจาตุรงค์กล่าว
สำหรับความคืบหน้าโครงการ “พักทรัพย์ พักหนี้” ข้อมูล ณ 28 มิ.ย.2564 มีมูลค่าทรัพย์สินที่ได้รับโอน 941 ล้านบาท จากจำนวนผู้ได้รับความช่วยเหลือ 11 ราย เนื่องจากเป็นโครงการใหม่ ทั้งสถาบันการเงินและลูกหนี้ยังไม่คุ้นเคยกับลักษณะของโครงการ ทำให้ต้องใช้เวลาในการเจรจาหาข้อสรุปในเงื่อนไขต่าง ๆ อาทิ ราคาตีโอน เงื่อนไขการเช่า ผู้ดูแลทรัพย์ และการซื้อคืน เป็นต้น
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีลูกหนี้จำนวนหนึ่งที่สถาบันการเงินอนุมัติในเบื้องต้นแล้ว อยู่ระหว่างการเจรจาข้อตกลงในรายละเอียด ประกอบกับลูกหนี้ยังรอการออกกฎหมายยกเว้นภาษีที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมให้มีผลบังคับใช้ คาดว่าจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการจะทยอยเพิ่มขึ้นในระยะต่อไป
"ธปท. เห็นว่ายังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงหลักเกณฑ์ของโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ ที่ได้ถูกออกแบบมาโดยมีการหารือกับสถาบันการเงินและผู้ประกอบการมาโดยตลอด ดังนั้น ต้องให้เวลาทั้งสองฝ่ายเจรจาเงื่อนไขต่างๆ ตามที่ได้กล่าวไปแล้ว" นายจาตุรงค์ระบุ
นายจาตุรงค์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา ธปท. รับทราบปัญหาในประเด็นต่าง ๆ ของลูกหนี้มาอย่างต่อเนื่อง และได้สื่อสารทำความเข้าใจเพิ่มขึ้น เช่น ผู้ประกอบการไม่จำเป็นต้องมีหลักประกันเพิ่มในการขอสินเชื่อฟื้นฟู เพราะมีกลไกการค้ำประกันโดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย) นอกจากนี้ ก่อนการเจรจากับสถาบันการเงิน ผู้ประกอบการควรเตรียมความพร้อม
อาทิ จัดทำแผนการดำเนินธุรกิจหรือแนวทางการปรับธุรกิจ ที่จะช่วยเพิ่มรายได้ในระยะข้างหน้า หรือประมาณการกระแสเงินสดที่จะเข้ามาในอนาคต เป็นต้น เพื่อเพิ่มโอกาสและความรวดเร็วในการที่จะได้รับสินเชื่อฟื้นฟูจากสถาบันการเงิน
อนึ่ง ในกรณีลูกหนี้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ มีความกังวลว่าจะถูกยึดทรัพย์เมื่อครบกำหนดสัญญานั้น ในทางปฏิบัติ ลูกหนี้และเจ้าหนี้ต้องทำสัญญาเพื่อกำหนดเงื่อนไขต่างๆ ร่วมกัน และทั้งสองฝ่ายต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด โดย ธปท. ได้เข้าไปร่วมพิจารณาสัญญาให้เป็นธรรมโดยการกำหนดถ้อยคำในสัญญามาตรฐาน และให้สถาบันการเงินที่ขอเข้าร่วมโครงการส่งสัญญาตีโอนให้ ธปท. พิจารณาก่อนที่สถาบันการเงินจะเข้าร่วมโครงการนี้ได้
"ธปท. ให้ความสำคัญและตระหนักถึงปัญหาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs และทำงานเชิงรุกร่วมกับสมาคมธนาคารไทย และกับสถาบันการเงินแต่ละแห่ง ในการติดตามความคืบหน้าของมาตรการอย่างใกล้ชิด รวมทั้งร่วมมือกับสมาคม สมาพันธ์ และชมรมต่าง ๆ ของภาคธุรกิจในการสร้างความเข้าใจ แก้ไขข้อจำกัด เพื่อให้ลูกหนี้เข้าถึงมาตรการความช่วยเหลือต่าง ๆ ได้ "รวดเร็ว เพียงพอ และตรงจุด"
นอกจากนี้ ธปท. ได้กำชับให้สถาบันการเงินเร่งรัดกระบวนการพิจารณา และหาข้อสรุปกับลูกหนี้โดยเร็ว รวมถึงสื่อสารทำความเข้าใจกับพนักงานสาขาในการให้ข้อมูลกับผู้ประกอบการได้ทั่วถึงยิ่งขึ้น" นายจาตุรงค์กล่าว
นายจาตุรงค์ ระบุด้วยว่า ธปท. ขอให้ผู้ประกอบการที่ประสบปัญหาความเดือดร้อนอยู่ รีบติดต่อสถาบันการเงินที่ใช้บริการเพื่อร่วมหาแนวทางความช่วยเหลือที่เหมาะสมกับแต่ละราย หากผู้ประกอบการต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อสถาบันการเงินโดยตรง หรือ คอลเซ็นเตอร์ ธปท. โทร 02-2836112
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/