"...แรงงานในไซต์เป็นแรงงานรายวัน ผู้รับเหมาเลยไม่สามารถเรียกร้อง หรือลงทะเบียนรับการเยียวยาจากทางภาครัฐได้ แต่ทั้งนี้ในส่วนของค่าจ้างแรงงานนั้น ได้มีการถามไถ่จากลูกจ้างเช่นเดียวกัน ซึ่งขณะนี้ทางฝ่ายผู้บริหารกำลังพิจารณาอยู่ว่าจะมีแนวทางการช่วยเหลือหรือจัดสรรอย่างไร..."
---------------------------------------------
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดที่มีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตัวเลขผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้น และพบพื้นที่ระบาดของเชื้อที่เป็นกลุ่มก้อน ส่วนใหญ่เป็นคลัสเตอร์ 'แคมป์คนงานก่อสร้าง' ส่งผลให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด (ศบค.) ออกประกาศข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ฉบับที่ 25 สาระสำคัญส่วนหนึ่งส่งผลให้ต้องปิดแคมป์คนงาน 1 เดือน ในพื้นที่ 6 จังหวัด กทม.และปริมณฑล รวมถึง ห้ามรับประทานอาหารในร้าน รวมกลุ่มสังสรรค์ งานเลี้ยงรื่นเริง และห้างสรรพสินค้าสามารถเปิดได้ถึง 21.00 น.ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 28 มิ.ย.ที่ผ่านมา
นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปิดเผยหลังรัฐบาลมีมติให้ปิดแคมป์คนงานก่อสร้างและงดการเดินทางเคลื่อนย้ายแรงงานในพื้นที่จังหวัดสีแดงเข้ม เป็นเวลา 1 เดือน ว่า ผู้ประกันตนที่เป็นลูกจ้างของสถานประกอบการที่ ศบค.สั่งปิด โดยจะได้รับเงินชดเชย 50% ของค่าจ้าง โดยประกันสังคมจะจ่ายเงินชดเชยให้กับลูกจ้างหรือผู้ประกันตน ตามรายชื่อที่นายจ้างรับรองตลอดเวลาการปิดแคมป์ ทั้งนี้จะมีการตรวจสอบว่าลูกจ้างหรือผู้ประกันตนที่จะได้รับเงินชดเชยนั้น จะต้องพักอาศัยอยู่ในแคมป์ก่อสร้างเท่านั้น หากไม่อยู่หรือมีการเคลื่อนย้ายที่อยู่ จะไม่ได้รับเงินชดเชยดังกล่าว
นายทศพล กล่าวถึงลูกจ้างแรงงานที่ยังไม่ขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน ว่า สำนักงานประกันสังคมในพื้นที่รับผิดชอบจะเข้าไปตรวจสอบและขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องเพื่อให้ลูกจ้างได้รับสิทธิประโยชน์อย่างครบถ้วน และในส่วนของ แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย กรมการจัดหางาน จะเข้าไปให้ความช่วยเหลือนำเข้าสู่ระบบให้ถูกต้องตามกฎหมายต่อไป
"พร้อมขอความร่วมมือสถานประกอบการให้ดูแลเรื่อง อาหารของคนงานทุกมื้อ ตลอด 1 เดือนที่ปิดแคมป์ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรการควบคุมโรคแบบ Bubble and Seal เพื่อไม่ให้คนงานเคลื่อนย้าย และมีการเดินทางข้ามพื้นที่คลัสเตอร์ หรือชุมชนที่มีการแพร่ระบาดอย่างหนัก เช่น โรงงานใน กทม.ละปริมณฑล โดยในพื้นที่ระบาดจะมีการตรวจเชิงรุก และการฉีดวัคซีนให้แก่ผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ได้ขึ้นทะเบียนแจ้งความประสงค์ไว้" นายทศพลกล่าว
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2564 เป็นวันแรกตามคำสั่งปิดแคมป์คนงานก่อสร้าง สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้ลงพื้นที่สำรวจแคมป์ก่อสร้าง และแคมป์ที่พักคนงาน บริเวณพื้นที่ กทม. พบว่า สภาพแคมป์หลายแห่งถูกปิดสนิท ไม่มีผู้คน มีเพียงแต่เจ้าที่รักษาความปลอดภัยเพียง 1-2 คนเท่านั้น
@ สั่งปิดแคมป์ งานชะงัก หวั่นไม่เสร็จตามกำหนด จ่อเสียค่าปรับ
นายสาธร กลับศรี เจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม แคมป์โครงการก่อสร้างโรงพยาบาลราชเวช กทม. เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศราว่า บริเวณแคมป์แห่งนี้ มีการทำงานและก่อสร้างอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2562 มีกำหนดแล้วเสร็จในเดือน ต.ค. 2564 โดยลักษณะของแคมป์ก่อสร้างนี้ เป็นเพียงสถานที่สำหรับทำงานเท่านั้น ไม่มีแคมป์ที่พักอาศัยของคนงานรวมอยู่ด้วย ลูกจ้างแรงงานที่มาทำงาน จึงเป็นลักษณะของลูกจ้างรายวัน แต่หลังจากมีการประกาศมาตรการปิดแคมป์ก่อสร้าง ทำให้แรงงานกว่า 80 คน ไม่ได้เดินมาทำงานตั้งแต่สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา
"แรงงานในไซต์เป็นแรงงานรายวัน ผู้รับเหมาเลยไม่สามารถเรียกร้อง หรือลงทะเบียนรับการเยียวยาจากทางภาครัฐได้ แต่ทั้งนี้ในส่วนของค่าจ้างแรงงานนั้น ได้มีการถามไถ่จากลูกจ้างเช่นเดียวกัน ซึ่งขณะนี้ทางฝ่ายผู้บริหารกำลังพิจารณาอยู่ว่าจะมีแนวทางการช่วยเหลือหรือจัดสรรอย่างไร" นายสาธร กล่าว
นายสาธร กล่าวว่า ขณะนี้มีการก่อสร้างไปแล้วกว่า 80-90% ต้องหยุดชะงักจากการประกาศมาตรการกึ่งล็อกดาวน์ และข้อกำหนดจากภาครัฐ อาจส่งผลให้งานเสร็จล่าช้า ไม่สามารถส่งมอบได้ตามเป้าหมายที่กำหนดได้ และมีผลต่อสัญญาจ้าง ต้องเสียค่าปรับหากล่วงเวลาอีกด้วย
@ ตรึงกำลังคุมเข้มแคมป์คนงาน
สำนักข่าวอิศราได้เดินทางไปยังแคมป์พักคนงานก่อสร้าง ซอยสีลม 9 เขตบางรัก พบว่า บรรยากาศโดยบริเวณรอบแคมป์ค่อนข้างเงียบเหงา ไม่มีผู้คน มีเพียงเจ้าหน้าภาครัฐตรึงกำลังรักษาความปลอดภัยภายนอก จำนวน 6 นายเท่านั้น ประกอบด้วย เทศกิจ 2 นาย ทหาร 2 นาย และตำรวจ 2 นาย
เจ้าหน้าที่เทศกิจ เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา ว่า แคมป์ที่พักคนงานสีลมนี้ ปิดและกวดขันมาตรการต่างๆ มาตั้งแต่การตรวจพบผู้ติดเชื้อครั้งแรกตั้งแต่เดือน เม.ย.ที่ผ่านมา โดยควบคุม ห้ามเข้าออกโดยเด็ดขาด แต่อนุญาตให้คนงานที่รักษาหายแล้วกลับเข้าไปได้
ในส่วนเรื่องอาหารและวิถีชีวิตของคนงานในแคมป์ เจ้าหน้าที่เทศกิจกล่าวว่า ทางภาครัฐและบริษัทฯ ได้มีการเข้ามาดูแลในส่วนของเรื่องอาหาร มีการส่งมอบอาหารให้คนในแคมป์ทั้ง 3 มื้อ และในบางครั้งก็มีการแจกจ่ายถุงยังชีพ หรือข้าวของเครื่องใช้ตามความจำเป็นอีกด้วย
ผู้สื่อข่าว สอบถามร้านค้าบริเวณใกล้เคียง พบว่า แต่เดิมบริเวณดังกล่าวมีผู้คนพลุกพล่าน มีกลุ่มคนงานมาจับจ่ายใช้สอย แต่เมื่อมีการตรวจคัดกรองหาเชื้อเชิงรุก พบว่าแคมป์ที่พักคนงานมีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ทำให้ภาครัฐเข้ามาควบคุมดูแล ไม่มีการเข้าออก
@ สั่งห้ามคนงานกลับบ้าน-ให้กักตัวในแคมป์
นายชนะพล กาบคำ เจ้าหน้าที่ผู้ดูแลคนงานและประสานงาน บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวลลอปเม้นท์ มหาชน จำกัด เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศราผ่านการพูดคุยทางโทรศัพท์ว่า หลังจากที่มีประกาศคำสั่งปิดแคมป์ก่อสร้าง ทางบริษัทฯ ได้มีประกาศห้ามพนักงานแรงงานเดินทางกลับบ้านหรือภูมิลำเนา โดยให้พักอาศัยที่แคมป์ที่พัก และมีมาตรการคุมเข้มการเช้า-ออกอย่างเข้มงวด
นายชนะพล กล่าวว่า ขณะนี้มีแรงงานที่อยู่ในความดูแลประมาณ 1,000 กว่าราย แบ่งเป็น แรงงานไทย ประมาณ 900 กว่าราย และแรงงานต่างด้าวอีกประมาณ 283 ราย โดยบริษัทฯ ให้ความดูแลในด้านความเป็นอยู่ รวมถึงอาหารการกินของแรงงาน และครอบครัว ทั้งนี้ ในส่วนของค่าจ้าง ทางภาครัฐ กระทรวงแรงงานได้ช่วยเหลือจ่ายค่าจ้างให้ครึ่งนึง ในอัตรา 50 เปอร์เซ็นต์ แต่ในส่วนที่เหลือ อยู่ในขั้นตอนการประชุมของผู้บริหารว่าจะช่วยเหลือเพิ่มเติมอีกเท่าไหร่
"เราคุมเข้มเรื่องการเข้าออกแคมป์ ห้ามคนภายนอกเข้า-ออกโดยเด็ดขาด และประกาศห้ามกลับบ้าน เป็นประกาศที่ค่อนข้างกระชั้นชิด คนงานไปทำงานไม่ได้ ต้องกักตัวในแคมป์ จึงมีการจัดอาหารให้คนงาน 3 มื้อ รวมถึงจัดแจงเรื่องข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ไม่เพียงแต่สำหรับคนงาน แต่รวมไปถึงครอบครัว ลูกเมีย พ่อแม่ที่พักอาศัยอยู่รวมกันอีกด้วย และให้บริการด้านอื่นๆ เช่น จัดรถรับส่งไปหาหมอ หรืออื่นๆ ตามความจำเป็น" นายชนะพลกล่าว
นายชนะพล กล่าวถึงเรื่องการก่อสร้างอาจจะล้าช้าไม่เป็นไปตามกำหนดนั้น ว่า ในส่วนงานที่รับผิดชอบเป็นการก่อสร้างที่เป็นโครงการใหญ่ มีมูลค่ากว่า 2,000 ล้านบาท ซึ่งอาจจะล่าช้า ไม่เสร็จตามกำหนด เนื่องจากไม่สามารถทำงานได้ แต่ทั้งนี้จะต้องเป็นเรื่องของผู้บริหารที่จะต้องเจรจากับคู่สัญญา
@ บางแห่งติดเชื้อน้อย จึงยังไม่ได้รับการตรวจเชิงรุก
นายไก่ นามสมติ ผู้ควบคุมการทำงานบริเวณหน้างานโครงการก่อสร้างแห่งหนึ่ง เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศราผ่านทางโทรศัพท์ ว่า ตั้งแต่ได้รับข่าวว่าจะมีการปิดแคมป์คนงานเมื่อวันที่ 25 มิ.ย.ที่ผ่านมา ทางฝ่ายบริหารได้มีการประชุมวางแผนดูแลแคมป์คนงานเรียบร้อยแล้ว แบ่งเป็น 3 ประเด็นหลัก คือ 1) การปฏิบัติตามข้อกำหนดของภาครัฐ 2) การขอผ่อนผันกับรัฐในแรงงานบางส่วน ให้สามารถดำเนินงานได้ เนื่องจากการก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จ จำเป็นจะต้องมีคนเข้าไปทำงานเพื่อเฝ้าระวังไม่ให้เกิดความเสียหาย เช่น เฝ้าปั๊มน้ำ ไม่ให้น้ำท่วม หรือต้องคอยเช็คระบบไฟ ไม่ให้ล่ม และ 3) การบริหารจัดการอาหารสำหรับแรงงาน เนื่องจากแรงงานได้ร่วมน้ำใจกัน ช่วยลดภาระให้แคมป์ โดยแรงงานได้บอกว่าพวกเขามีข้าวแล้ว อยากได้เพียงแค่กับข้าว โดยในส่วนนี้ทางบริษัทฯ จึงได้จัดเตรียมทีมงานบางส่วนเพื่อดูแลทำหน้าที่ทำกับข้าว และมัดใส่ถุงไปแจกจ่ายให้
นายไก่ กล่าวถึงสถานการณ์ภายในแคมป์ ว่า เนื่องจากแคมป์ที่ดูแลเคยพบผุ้ติดเชื้อมาก่อนตั้งแต่ ธ.ค.2563 และได้มีการประสานกับหน่วยงานภาครัฐมาโดยตลอด เมื่อพบผู้ติดเชื้อ 1-2 ราย ก็จะทำการแจ้งให้หน่วยงานเข้ามาช่วยดูแล ทั้งนี้หน่วยงานที่เข้ามาดูแล ได้แจ้งว่าแคมป์คนงานได้มาตรฐาน มีห้องน้ำ มีขยะ มีการทำความสะอาด แต่ไม่ได้ลงมาตรวจคัดกรองเชิงรุกหาผู้ติดเชื้อให้ โดยให้เหตุผลว่าพบผู้ติดเชื้อแค่ 1-2 คน ยังไม่พอ โดยประเด็นดังกล่าวได้สร้างความกังวลใจว่าแม้จะประสานกับภาครัฐได้ และมีการเข้ามาดูแล แต่ทางหน่วยงานไม่สามารถมาตรวจคัดกรองให้ได้
"ต่อมาพอเกิดการระบาดระลอกที่ 3 กทม.จึงได้ตั้งจุดตรวจ เราก็ต้องพาคนงานไปตรวจเอง ตรงนี้ก็เป็นความยากลำบากเหมือนกัน เคยยืนหนังสือไปแล้ว ว่าขอให้มาตรวจ แต่เขาก็ยังยืนยันคำเดิมว่า เราพบการติดเชื้อน้อย เขาก็เลยปล่อยมือเรา ไม่มาตรวจ" นายไก่กล่าว
ส่วนในเรื่องของค่าจ้างของแรงงาน นายไก่ กล่าวว่า มีเจ้าหน้าที่ของรัฐติดต่อมาสอบถามรายชื่อคนงานแล้ว และให้ทางบริษัทฯ จัดส่งภายในเที่ยงนี้ คาดว่าอีกไม่นานคงจะได้รับการเยียวยา ทั้งนี้แรงงานในแคมป์ส่วนใหญ่ เป็นชาวไทย มีชาวต่างชาติเล็กน้อย และได้มีการทยอยให้เข้าขึ้นทะเบียนกันเยอะแล้ว มีแค่บางส่วนเท่านั้นที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน ซึ่งทำให้อุ่นใจว่าแรงงานก็จะได้รับเยียวยาจากรัฐ
"ทั้งนี้ยืนยันว่าแคมป์เราไม่มีคนงานกลับบ้าน เพราะว่าทุกคนอยู่ภายในแคมป์มาตั้งนานแล้ว แล้วส่วนใหญ่ก็เป็นคนในระบบประกันสังคมเขาเลยไม่ได้กังวลใจใดๆ จนต้องกลับภูมิลำเนา" นายไก่กล่าว
ทั้งหมดนี้ คือเสียงสะท้อนส่วนหนึ่งของแรงงาน หรือผู้ควบคุมแรงงานในแคมป์คนงานก่อสร้าง หรือแคมป์ที่พักคนงานที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการสั่งปิดแคมป์เป็นเวลา 1 เดือนของทางภาครัฐ จะต้องติดตามกันต่อไปว่าทางภาครัฐจะมีแนวทางการเยียวยาหรือช่วยอะไรต่อไป เพราะไม่เพียงแต่การหยุดชะงักของการก่อสร้างนั้น ที่ส่งผลกระทบต่อแรงงาน แต่ยังมีผลกระทบในด้านอื่นๆ ที่ทุกหน่วยงาน ผู้รับผิดชอบจะต้องตระหนักถึงเช่นกัน
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage