"...ยาบ้า มีจำนวนลดลง แม้ว่าจะเป็นยาเสพติดที่การแพร่ระบาดในประเทศมากที่สุด โดยมียอดตรวจยึดได้ 580 ล้านเม็ด ขณะที่ในช่วงก่อนสถานการณ์โควิด มียอดจับกุมสูงถึง 750 ล้านเม็ด นอกเหนือจากนั้นกลับพบการระบาดของยาไอซ์ เฮโรอีน และกัญชาที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้สถานการณ์ดังกล่าวเป็นเพียงการขนย้ายผ่านประเทศไทย ซึ่งไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าจะมีผลกระทบต่อการขยายวงการเสพยาเสพติดของคนไทยหรือไม่..."
........................................................
วันที่ 26 มิ.ย.ของทุกปี ถูกประกาศให้เป็น 'วันต่อต้านยาเสพติดโลก' ตามมติของสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ (UNGA) เพื่อต่อต้านการใช้ยาและค้ายาที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย
แม้การแพร่ระบาดของโควิด จะทำให้รัฐบาลมีมาตรการออกมามากมาย หลายธุรกิจต้องปิดตัวเหมือนใบไม้ร่วง แต่แต่ในทางกลับกัน พบว่าธุรกิจยาเสพติดกลับขยายตัวมากขึ้น โดยข้อมูลจาก สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ณ วันที่ 10 มิ.ย.2564 เปิดเผยว่าผลการจับกุมการค้าเมทแอมเฟตามีน อาทิ ยาบ้า และยาไอซ์ ในพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประจำปี 2563 มีจำนวนรวมกันประมาณ 170 ตัน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2562 ที่ผ่านมาถึง 19%
โดยของกลาง ประเภทเมทแอมเฟตามีนกว่า 71% ถูกตรวจยึดได้ในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีเส้นทางการค้าผ่านลาว ไทย เมียนมาร์ และเวียดนาม สะท้อนให้เห็นว่า พื้นที่สามเหลี่ยมทองคำยังคงเป็นแหล่งผลิตยาเสพติดที่สำคัญของโลกที่มีศักยภาพการผลิตเพิ่มสูงขึ้นด้วย
ทั้งนี้ UNODC ยังรายงานอีกว่า ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้กลุ่มพ่อค้ายาเสพติดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สามารถผลักตลาดซื้อขายยาเสพติดให้เฟื่องฟูได้ในช่วงโควิด มาจากราคาขายที่ต่ำ และกระบวนการส่งออกยังใช้เทคนิคซับซ้อนหลายรูปแบบเพื่อหลีกเลี่ยงเจ้าหน้าที่ เช่น การซ่อนใบยาในถุงชา และลำโพงสเตอริโอ รวมถึงการพัฒนาการสื่อสารในโซเชียลมีเดีย เพื่อซื้อขายและหลบเลี่ยงหน่วยงาน ด้วยราคาขายที่ต่ำลงและการค้าที่เข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น ทำให้ไทยมีจำนวนผู้เสพยาเสพติดเพิ่มขึ้น 10 เท่า ระหว่างปี 2559-2562
นอกเหนือจากการขยายตลาดเมทแอมเฟตามีนแล้ว ตลาดคีตามีนเองก็เติบโตขึ้นอย่างมากเช่นกันในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยในปี 2563 เจ้าหน้าที่สามารถยึดคีตามีนกว่า 5.9 ตัน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 1.9 ตัน ทั่วภูมิภาค ซึ่งสร้างความกังวลให้กับหน่วยงานถึงความอันตรายหากใช้ยาในปริมาณมากเกินไปในเมืองไทยเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะเมื่อมีรายงานการใช้ยาเกินขนาด หรือยาเคนมผงในประเทศไทย ที่มีผู้เสียชีวิตกว่า 10 ราย ในเดือน ม.ค.2564
สถานการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า การขยายตัวของการผลิตยาเสพติดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิดเพิ่มมากขึ้น สร้างความเป็นกังวลต่อในประเทศไทยเองด้วยว่า จะทำให้เกิดการใช้สารเสพติดเพิ่มขึ้นด้วยหรือไม่? สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) พูดคุยกับ นายวิชัย ไชยมงคล เลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส) ถึงสถานการณ์ยาเสพติดภายในประเทศไทยช่วงโควิด มีข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้
นายวิชัย กล่าวว่า หากนับย้อนไปตั้งแต่ช่วงที่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด นับตั้งแต่เดือน ม.ค.2563-พ.ค.2564 การลักลอบยาเสพติดเข้ามาในเมืองไทย พบว่า ‘ยาบ้า’ มีจำนวนลดลง แม้ว่าจะเป็นยาเสพติดที่การแพร่ระบาดในประเทศมากที่สุด โดยมียอดตรวจยึดได้ 580 ล้านเม็ด ขณะที่ในช่วงก่อนสถานการณ์โควิด มียอดจับกุมสูงถึง 750 ล้านเม็ด ดังนั้นจะเห็นได้ว่าโควิดทำให้สถานการณ์ของยาบ้าลดลง
นอกเหนือจากนั้น กลับพบการระบาดของยาไอซ์ เฮโรอีน และกัญชาที่เพิ่มขึ้น โดยสามารถตรวจยึด ‘ยาไอซ์’ ได้เพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิดเป็น 10 ตัน ส่วน ‘เฮโรอีน’ และ ‘กัญชา’ สามารถตรวจยึดได้เพิ่มขึ้นเป็นราว 2 ตันเช่นเดียวกัน สะท้อนให้เห็นว่าการลักลอบยาเสพติดโดยใช้ไทยเป็นทางผ่านมีเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้สถานการณ์ดังกล่าวเป็นเพียงการขนย้ายผ่านประเทศไทย ซึ่งไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าจะมีผลกระทบต่อการขยายวงการเสพยาเสพติดของคนไทยหรือไม่ เนื่องจากการขนย้ายเป็นทางผ่านและการใช้ยาเสพติดเป็นคนละจุดประสงค์กัน
“อย่างไรก็ตามการจะสกัดกั้นไม่ให้เกิดการลักลอบเข้ามาเลยนั้น คงเป็นไปได้ยาก เนื่องจากชายแดนไทยมีพื้นที่ที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นแหล่งผลิต ซึ่งมีพื้นที่ชายแดนยาวเป็นเส้นทางหลายพันกิโลเมตร ทั้งทางน้ำ และทางบก ซึ่งจะต้องใช้กำลังมหาศาล การสกัดกั้นทั้งหมด ไทยคงไม่มีกำลังเพียงไม่พอ ประกอบกับไทยเองที่มีการคมนาคมที่สะดวกรวดเร็ว และมีเส้นทางมากมายที่สามารถใช้ได้ ไทยจึงกลายเป็นทางผ่านทางการค้ายาเสพติดไปยังประเทศปลายทาง” นายวิชัย กล่าว
แต่หากประชาชนที่อยู่ตามแนวชายแดน ร่วมมือกันในการสกัดกั้น คอยช่วยเหลือเฝ้าระวังและจับตาดู เมื่อพบพฤติกรรมน่าสงสัย หรือการรวยแบบผิดปกติ ขอให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่หรือ โทร. 1386 อันนี้จะเป็นอีกส่วนที่จะช่วยในการสกัดกั้นยาเสพติดภายในชุมชน สร้างชุนเข้มแข็งได้อีกแรง
(นายวิชัย ไชยมงคล เลขาธิการ ป.ป.ส.)
@ จัดทำหลักสูตรให้ความรู้ ‘เด็ก-เยาวชน’ ทางแก้ปัญหายาเสพติดระยะยาว
สำหรับแผนการป้องกันยาเสพติดของ สำนักงาน ป.ป.ส ที่ผ่านมา แผนการป้องกันยาเสพติด ส่วนใหญ่จะทำเป็นสื่อเผยแพร่เป็นช่วงเวลา หรือจัดอบรมในช่วงระยะเวลาในระยะสั้น ดังนั้นการที่จะแก้ไขปัญหายาเสพติดในระยะยาว จะต้องจัดให้มีองค์ความรู้เรื่องของยาเสพติดให้อยู่ในหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) โดยจะเริ่มให้ความรู้ตั้งแต่ชั้นระดับประถมไปจนถึงมัธยม เชื่อว่าเด็กและเยาวชนจะซึมซับไปในทีละขั้นๆ จนจบมัธยมปลาย นอกจากนั้นจะมีแนวทางที่จะเพิ่มหลักสูตรต่างๆ เข้าไปในระดับอุดมศึกษาด้วย ซึ่งหลักสูตรองค์ความรู้เรื่องยาเสพติด ทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว และพร้อมที่จะใช้ในการเรียนการสอนปีการศึกษา 2564
นอกจากนี้ ยังมีร่างประมวลกฎหมายยาเสพติดที่อยู่ระหว่างการบรรจุเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา ซึ่งมีสาระสำคัญเกี่ยวกับอัตราโทษใหม่ที่เหมาะสม คือ การยึดทรัพย์ตัดวงจรเครือข่ายยาเสพติดจะทำได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม เป็นเครื่องมือสำคัญให้ทุกภาคส่วน ทั้งทหาร ตำรวจ ป.ป.ส. และ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง). เพราะการยึดทรัพย์คดียาเสพติดจะเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน เมื่อก่อนเราจับกุมผู้ค้า ยาเสพติดไม่ได้สืบสวนต่อ จบแค่นั้นอย่างรวดเร็ว แต่วันนี้เราต้องทำรูปแบบใหม่เพื่อสืบสวนขยายผลด้วย เพื่อการจับกุมได้อย่างครอบคลุมและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
@ ยาเสพติด เป็นภัยต่อผู้เสพ-สังคม-เศรษฐกิจ
นายวิชัย กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า ในวันที่ 26 มิ.ย.2564 เป็นวันต่อต้านยาเสพติดโลก ตามประกาศตามมติของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UNGA) เนื่องจากเป็นวันที่นายอำเภอมณฑลกวางตุ้งของจีน หรือนายหลิน เจ๋อสวี ยกเลิกสัมปทานการค้าฝิ่นให้กับอังกฤษ ซึ่งเป็นการแสดงออกถึงการต่อต้านยาเสพติดที่สำคัญ จึงอยากฝากให้ประชาชนเห็นความสำคัญ และตระหนักถึงพิษภัยของยาเสพติดที่เป็นภัยทั้งต่อผู้เสพ สังคม และเศรษฐกิจด้วย
(รศ.พญ.รัศมน กัลป์ยาศิริ ผู้อำนวยการ ศศก.)
@ ชี้คนเสพ ‘กัญชา-กระท่อม’ มากขึ้นช่วงโควิด
ด้าน รศ.พญ.รัศมน กัลป์ยาศิริ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) กล่าวถึงสถานการณ์ยาเสพติดของประเทศไทยในช่วงโควิดด้วยว่า จากผลสำรวจที่ศูนย์ศึกษาปัญหายาเสพติดได้จัดทำขึ้นเพื่อสำรวจหาผู้ใช้สารเสพติดจากกลุ่มตัวอย่างที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป จำนวนกว่า 1,000 คน พบว่า ผู้ใช้สารเสพติดผิดกฎหมายมีอยู่ด้วยกัน 4.6% จากจำนวนกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด โดยผู้ใช้สารเสพติดดังกล่าวได้ให้การประเมินว่า ในช่วงการระบาดระลอกแรกที่มีการคุมมาตรการโควิดเข้ม จะใช้สารเสพติดน้อยลง 27% และใช้ในปริมาณเท่าเดิม 62% แต่ยังมีบางส่วนคิดเป็น 17% ที่ประเมินว่าจะใช้สารเสพติดเพิ่มมากขึ้น
“จากสถิติข้างต้น แปลว่าผู้ใช้สารเสพติดส่วนใหญ่จะใช้สารเสพติดลดลง แต่อย่างไรก็ตามยังมีกลุ่มคนที่ต้องระวังเป็นพิเศษ แม้จะเป็นกลุ่มที่มีเพียง 17% แต่ก็เป็นกลุ่มที่ละเลยไม่ได้ เราต้องให้ความสนใจและความช่วยเหลือ โดยเขาอาจจะมีความเครียด หรือตกอยู่ในภาวะที่รู้สึกว่าตนเองไม่สามารถทำอะไรได้ ด้วยผลกระทบจากโควิด ทำให้หาทางออกด้วยการใช้สารเสพติด” รศ.พญ.รัศมน กล่าว
รศ.พญ.รัศมน กล่าวอีกว่า แต่ในช่วงที่ยังเกิดการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง มีสิ่งที่น่ากังวลคือ ทั่วโลกได้มีผลสำรวจออกมาว่า ช่วงที่มีการระบาดใหม่ๆ จะมีการใช้สารเสพติดลดลง แต่สักระยะหนึ่งจะมีการกลับมาใช้เท่าเดิม และอาจจะใช้มากขึ้นกว่าเดิมด้วย เนื่องจากประเด็นด้านสุขภาพจิต ด้านเศรษฐกิจ หรืออื่นๆ ที่ทำให้คนแสวงหาทางออกจากผลกระทบของโควิดที่ไม่รู้ว่าจะจบลงเมื่อใด หากหาทางออกดี นับเป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าหาทางออกเชิงสร้างสรรค์ไม่ได้ ไปใช้สารเสพติดในปริมาณสูงขึ้น จะเป็นปัญหาได้
“ตอนนี้ถือว่าผู้ใช้สารเสพติดเริ่มใช้มากขึ้นนะ โดยเฉพาะกัญชาที่พบว่ามีการใช้มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้กระทั่งช่วงการระบาดระลอกแรกก็ตาม โดยใช้เพิ่มขึ้นเป็น 2.9% คิดเป็น 29 คน จากผลสำรวจหาผู้ใช้สารเสพติดจากกลุ่มตัวอย่างที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป หลังจากมีการประกาศปลดล็อกให้พ้นจากยาเสพติดประเภท 5 ประกอบกับการเริ่มมีสื่อต่างๆ ออกมานำเสนอประโยชน์ของกัญชาและกระท่อมมากขึ้น หรือรวบรวมพิกัดร้านอาหารและเครื่องดื่มที่ผสมกัญชา ทำให้ประชาชนรับรู้ว่ากัญชาและกระท่อมนั้นเสี่ยงน้อย ตรงนี้เป็นที่น่ากังวลมากว่า คนจะใช้มาใช้เยอะมากขึ้น ประกอบกับในชณะนี้ยังไม่มีการกำหนดปริมาณการใช้ความเข้มข้นของกัญชาและกระท่อมอย่างชัดเจน อาจมีความสุ่มเสี่ยงต่อเด็กและเยาวชน รวมถึงผู้ที่เป็นโรคประจำตัวได้” รศ.พญ.รัศมน กล่าว
@ ขอรัฐจำกัดและควบคุมการเข้าถึง ‘กัญชา-กระท่อม’ หวั่นเด็กทดลอง
การแก้ปัญหายาเสพติด เป็นปัญหาที่เราต้องมองระยะยาว โดยเฉพาะในช่วงที่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด ที่ส่งผลกระทบเป็นปัญหาเป็นความเครียดต่อทุกคน รศ.พญ.รัศมน แนะนำว่า เราจะต้องพยายามแสวงหาลู่ทางที่จะจัดการกับความเครียดในเชิงสร้างสรรค์ และต้องหมั่นเช็คตัวเองอยู่ตลอดว่า ตอนนี้เรากำลังรู้อะไร รู้สึกเครียดนะ เรากำลังไปกินแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ หรือใช้สารเสพติด เพื่อคลายเครียดหรือเปล่า ถ้าเรารับรู้ตัวเอง แล้วตอบว่าใช่ ขอให้ลองหาวิธีอื่นๆ ดู ที่สร้างสรรค์มากกว่า เช่น การพบปะพูดคุยในหมู่ญาติ การออกกำลังกาย หรือพบปะเพื่อนฝูงที่ไม่ได้ใช้สารเสพติด หาอะไรทำเพลินๆใหม่ๆและรู้สึกสนุกไปกับสิ่งนั้นด้วย ซึ่งตรงนี้สำคัญมากที่จะไม่ให้คนหาทางออกด้วยวิธีเชิงลบ หันไปหาสารเสพติด
นอกจากนั้น รัฐจะต้องมีมาตรการหรือนโยบายต่างๆ ในการจำกัดและควบคุมสารเสพติด ให้เขารู้สึกว่าการเข้าหาสารเสพติดนั้นเป็นเรื่องยาก ซี่งตอนนี้ที่น่ากังวลคงจะเป็นกัญชาและกระท่อม หลังจากมีการปลดล็อก อาจทำให้ประชาชนมีความรู้สึกว่า เขาถึงได้ง่ายมากขึ้น แม้ว่าร้านอาหารหรือเครื่องดื่มจะเริ่มมีเมนูส่วนผสมของกัญชาที่มีความเข้มข้นของสารเสพติดต่ำก็ตาม แต่เมื่อเข้าถึงเยาวชนได้มากขึ้นแล้ว แต่ขาดการจำกัดในการเข้าถึง อันนี้อาจเป็นปัญหาได้ ซึ่งต้องอาศัยมาตรการ หรือนโยบายต่างๆ ทำให้ประชาชนที่รู้สึกเครียดอยู่ เข้าหาสารเสพติดได้ยาก เมื่อเขาเข้าถึงสารเสพติดไม่ได้ เขาจะไปทำกิจกรรมอื่นแทน เพราะเขาไม่เห็นลู่ทางในการเข้าถึงสิ่งเสพติด
รวมถึง การโฆษณาที่จะต้องได้รับการดูแลอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะกัญชาที่เพิ่งได้รับการปลดล็อก หากปล่อยให้มีการโฆษณาโดยทั่วไป เมื่อมีผู้พบเห็น แน่นอนว่าการโฆษณาเป็นการประชาสัมพันธ์รูปแบบหนึ่ง เขาจะมีแนวโน้มปรับทัศนคติแบบใหม่ดูว่า สิ่งนี้เป็นของโก้เก๋ หรือมองว่าสิ่งนี้ควรใช้
ขณะเดียวกันในตัวผลิตภัณฑ์ที่มีสารเสพติดประกอบ อาทิ กัญชา และกระท่อม ขอให้รัฐกำหนดปริมาณการใช้สารเสพติดเป็นส่วนประกอบอย่างชัดเจนด้วย เนื่องจากหากผู้ประกอบการไม่ทราบปริมาณที่ชัดเจน อาจทำให้การขายไม่ได้รัดกุมมาก หากมีเด็กไปซื้ออาจเสี่ยงเกิดปัญหาได้ ซึ่งปัจจุบันจะพบว่าช่วงอายุเด็กที่เริ่มอยากจะทดลองใช้สารเสพติดมีช่วงอายุที่น้อยลง โดยตอนนี้เริ่มที่อายุ 12 ปีขึ้นไป จากเดิมที่จะเริ่มตั้งแต่อายุ 15 ปี โดยอาจเริ่มที่สารเสพติดถูกกฎหมายก่อน เนื่องจากเขาจะมองว่าสารเสพติดนี้หาได้ง่าย เมื่ออยากเริ่มทดลองจึงเริ่มจากเรื่องง่ายๆ ก่อน ก่อนจะพัฒนาไปสู่สารเสพติดผิดกฎหมาย
“มาตรการต่างๆข้างต้น อาจเป็นเพียงส่วนหนึ่งของทางแก้เท่านั้น ซึ่งจะต้องควบคู่ไปกับการให้ความรู้ และการแก้ไขข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง จะเป็นเครื่องป้องกันผลกระทบจากภัยของการรู้ไม่เท่าทันสารเสพติดได้ ทั้งนี้ควรจะมีการปรับเปลี่ยนทัศนคติต่อผู้เสพสารเสพติดที่ตกเป็นเหยื่อพลาดพลั้งไปเข้าเสพด้วย เราต้องมองว่าเขาควรได้รับการช่วยเหลือ หากเขาเลิกยาได้แล้ว ควรชื่นชมเขา และให้กำลังใจ ซึ่งมีผลการสำรวจออกมาว่าชุมชนที่มีปัญหาเรื่องสารเสพติด แต่ถ้ามีการสนับสนุนของคนในชุมชนให้เลิกยา โดยคนในชุมชนด้วยกันเอง ช่วยกันให้กำลังใจ และไม่ลงโทษต่อว่ากัน แต่ส่งเสริมเขาในด้านดีๆ หรือ พัฒนาอาชีพต่างๆให้กับเขา สิ่งนี้จะช่วยจะทำให้ปัญหายาเสพติดในชุมชนเบาบางลงได้ โดยอาศัยกลไกของชุมชนเองช่วยเหลือกัน” รศ.พญ.รัศมน กล่าว
ทั้งหมดนี้ต่างเป็นสถานการณ์ยาเสพติดของประเทศไทยในช่วงการระบาดของโควิด ที่จะพบว่าในช่วงการระบาดระลอกแรกมีการใช้สารเสพติดลดลง แต่หากสถานการณ์ยังคงดำเนินต่อไปอาจทำให้การใช้สารเสพติดกลับมาเพิ่มขึ้นไปด้วย เนื่องจากประเด็นด้านสุขภาพจิต ด้านเศรษฐกิจ หรือปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้คนแสวงหาทางออก หากหาทางออกดี นับเป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าหาทางออกเชิงสร้างสรรค์ไม่ได้ ไปใช้สารเสพติดในปริมาณสูงขึ้น จะเป็นปัญหาได้
อ้างอิงข้อมูลจาก:
รายงานผลการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ประจำปีงบประมาณ 2563
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/