“...ในการกลายพันธุ์ที่ส่วนของ K417N ที่เกิดขึ้นกับไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลต้านั้น เชื่อกันว่าจึงทำให้ไวรัสสามารถหลบเลี่ยงสารภูมิคุ้มกัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายได้ หรือหมายความว่ามันสามารถทำให้ทั้งวัคซีนและยาแอนติบอดีนั้นมีประสิทธิภาพลดลงและเพิ่มอัตราการติดเชื้อซ้ำได้...”
.........................................
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า ทำให้เกิดความวิตกกังวลไปทั่วโลก เนื่องจากมีการระบาดที่ค่อนข้างรวดเร็ว และในสัปดาห์ที่ผ่านมามีกระแสข่าวการกลายพันธุ์ย่อยที่เรียกกันว่าไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าพลัสเพิ่มขึ้นอีกด้วย
ล่าสุด สำนักข่าวเอบีซี ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้จัดทำรายงานข่าววิเคราะห์ที่มาที่ไปและความอันตรายของไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลต้าพลัส
มีรายละเอียดสำคัญดังต่อไปนี้
@ อะไรคือไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลต้าพลัส
ไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลต้าพลัสที่อยู่ในประเทศอินเดียนั้น มีการรายงานครั้งแรกเมื่อวันที่ 11มิ.ย.ที่ผ่านมา จากข่าวของหน่วยงานสาธารณสุข
โดยไวรัสสายพันธุ์นี้เป็นไวรัสโควิดสายพันธุ์ย่อยของสายพันธุ์เดลต้า มีการกลายพันธุ์เกิดขึ้นที่ส่วนของโปรตีนหนามบริเวณ K417N ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับการกลายพันธุ์ที่เกิดขึ้นกับไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลต้า ที่พบครั้งแรกในแอฟริกาใต้
นักวิทยาศาสตร์ได้แสดงความกังวลว่าการกลายพันธุ์ควบคู่ไปกับคุณสมบัติอื่นๆของไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลต้านั้น อาจทำให้ไวรัสนี้มีการแพร่ระบาดได้ง่ายขึ้น
“ในการกลายพันธุ์ที่ส่วนของ K417N ที่เกิดขึ้นกับไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลต้านั้น เชื่อกันว่าจะทำให้ไวรัสสามารถหลบเลี่ยงสารภูมิคุ้มกัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายได้ หรือหมายความว่ามันสามารถทำให้ทั้งวัคซีนและยาแอนติบอดีนั้นมีประสิทธิภาพลดลงและเพิ่มอัตราการติดเชื้อซ้ำได้” พญ.แซลลี่ คัทเลอร์ นักจุลชีววิทยา จากมหาวิทยาลัยอีสต์ลอนดอนออกมาระบุในช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา
ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขของอินเดียได้แสดงความกังวลเช่นเดียวกัน ระบุว่าแถลงการณ์ว่า “การกลายพันธุ์ที่จุด K417N นั้นเป็นสิ่งที่ต้องจับตามองเพราะมันเป็นสิ่งที่มีอยู่ในไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลต้า (สายพันธุ์ B.1.351) ซึ่งไวรัสตัวนี้มีคุณสมบัติในการหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้”
ด้าน นพ.ชาฮิด จาเมเอล นักไวรัสวิทยาของอินเดีย ได้กล่าวว่าการกลายพันธุ์ที่ K417N นั้นถูกรับรู้ดีว่าเป็นการลดประสิทธิภาพของชุดยาปฏิชีวนะแบบค๊อกเทล (แบบผสม) ที่มักจะใช้เพื่อการรักษาผู้ป่วยไวรัสโควิด-19
การกลายพันธุ์ของไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลต้าพลัส (อ้างอิงวิดีโอจาก CRUX)
@ไวรัสเดลต้าพลัสถูกตรวจพบครั้งแรกที่ไหน
ในช่วงวันที่ 16 มิ.ย.2564 มีรายงานว่ามีผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าพลัส อย่างน้อย 197 ราย ใน 11 ประเทศด้วยกัน ประเทศอังกฤษ 36 ราย,ประเทศแคนาดา 1 ราย,ประเทศอินเดีย 8 ราย,ประเทศญี่ปุ่น 15 ราย,ประเทศเนปาล 3 ราย,ประเทศโปแลนด์ 9 ราย, ประเทศโปรตุเกส 22 ราย,ประเทศรัสเซีย 1 ราย,ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ 18 ราย,ประเทศตุรกี 1 ราย และประเทศสหรัฐอเมริกา 83 ราย
ทั้งนี้ มีรายงานข่าวประเทศอินเดีย พบผู้ที่ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลต้าพลัสจำนวน 40 ราย ในรัฐมหาราษฏระ,รัฐเกรละและรัฐมัธยประเทศ
ส่วนที่ อังกฤษ พบผู้ติดเชื้อจำนวน 5 ราย มาจากการเก็บตัวอย่างเมื่อวันที่ 26 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยทั้ง 5 รายดังกล่าวติดเชื้อจากผู้ที่เดินทางหรือผ่านการเปลี่ยนเครื่องจากที่ตุรกีและเนปาล
แต่จนถึง ณ เวลานี้ยังไม่มีรายงานการเสียชีวิตทั้งในกรณีอังกฤษ และอินเดีย
รายงานข่าวเกี่ยวกับวัคซีนโควิดสายพันธุ์เดลต้าพลัส (อ้างอิงวิดีโอจาก The Economic Times )
@เราควรกังวลมากน้อยแค่ไหน
ณ เวลานี้ กำลังมีการศึกษาทั้งในอินเดียและทั่วโลกเพื่อจะทดสอบในเรื่องของประสิทธิภาพวัคซีนที่มีต่อการกลายของไวรัสสายพันธุ์นี้
“องค์การอนามัยโลกหรือ WHO กำลังติดตามสายพันธุ์ที่ถือว่าเป็นสายพันธุ์ย่อยของสายพันธุ์เดลต้า ซึ่งเป็นสิ่งที่เราทำอยู่แล้วกับไวรัสโควิดสายพันธุ์อื่นๆที่มีความน่ากังวลเกี่ยวกับการกลายพันธุ์” แถลงการณ์ของ WHO ระบุ
WHO ยังเน้นย้ำข้อมูลด้วยว่า “ณ เวลานี้ ไวรัสสายพันธุ์นี้ยังไม่แพร่หลายนัก โดยมีแค่ผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนเพียงเศษเสี้ยวเท่านั้น แต่ไวรัสทั้งสายพันธุ์เดลต้าและสายพันธุ์อื่นๆก็ยังคงเป็นสิ่งที่น่ากังวลต่อระบบสาธารณสุข เนื่องจากมีการเพิ่มขึ้นของการแพร่เชื้อเป็นจำนวนมาก”
ขณะที่ ผู้เชี่ยวชาญบางรายได้เริ่มตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับการทำงานของรัฐบาลอินเดียในประเด็นเรื่องของการประกาศว่าไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลต้าพลัสเป็นสายพันธุ์อันน่ากังวลแล้ว
โดยโต้แย้งว่า ณ เวลานี้ยังไม่มีหลักฐานที่เพียงพอจะแสดงให้เห็นว่าการกลายพันธุ์นี้จะทำให้มีการติดเชื้อหรือความร้ายแรงที่เพิ่มมากขึ้น
“ยังไม่มีหลักฐานที่จะสนับสนุนการประกาศให้ไวรัสสายพันธุ์นี้นั้นเป็นสายพันธุ์อันน่ากังวล ซึ่งคุณต้องการข้อมูลจากทั้งในทางชีววิทยาและทางคลินิกในการนำมาพิจารณาก่อนว่าไวรัสนั้นจะเป็นไวรัสสายพันธุ์อันน่ากังวลหรือไม่” นพ.กากันดีป คัง นักไวรัสวิทยาให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบีบีซี
แต่ล่าสุด ระทรวงสาธารณสุขของอินเดียได้มีการออกประกาศเตือนแล้วว่า ในพื้นที่ที่มีการพบสายพันธุ์เดลต้าพลัสควรจะต้องมีการเพิ่มความเข้มข้นและการตอบสนองในด้านมาตรการทางสาธารณสุข อาทิ การติดตาม,การเพิ่มการตรวจสอบ,การติดตามเหตุติดเชื้ออย่างรวดเร็ว และการมุ่งเน้นไปที่การฉีดวัคซีน
โดยนพ.ทารัน ภัทนาการ์ นักวิทยาศาสตร์ของสภาอินเดียเพื่อการวิจัยทางการแพทย์ของรัฐ กล่าวย้ำว่า การกลายพันธุ์อาจจะทำให้เกิดหรือไม่เกิดการระบาดในระลอก 3 ก็เป็นไปได้ทั้งนั้น
แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการรับมือกับการระบาดด้วยว่าจะเป็นอย่างไร
เรียบเรียงจาก:https://www.abc.net.au/news/2021-06-24/what-you-need-to-know-about-the-delta-plus-coronavirus-variant/100241782
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/