"...อว.ได้มอบนโยบายให้สถาบันอุดมศึกษาดูแลช่วยเหลือนักศึกษาอย่างเต็มที่และให้เตรียมความพร้อมเพื่อจัดการเรียนการสอนแบบผสมผสาน โดยให้คำนึงถึงความปลอดภัยของนิสิตนักศึกษา ขณะนี้สถาบันอุดมศึกษาหลายแห่ง ได้มีประกาศมาตรการให้ความช่วยเหลือนิสิตนักศึกษา ในเรื่องลดและผ่อนผันค่าลงทะเบียนเรียนและคืนค่าธรรมเนียมต่างๆ แล้ว..."
--------------------------------------------
จากสถานการณ์โควิด มีแนวโน้มที่รุนแรงมากขึ้น ยอดผู้ติดเชื้อพุ่งสูง ทำให้สถานศึกษาส่วนใหญ่ต้องปรับการเรียนการสอนเป็นรูปแบบออนไลน์เกือบทุกระดับชั้น ตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาจนถึงระดับอุดมศึกษา เพื่อป้องกันการติดเชื้อที่เสี่ยงต่อการเป็นคลัสเตอร์กลุ่มใหม่
ก่อนหน้านี้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ออกประกาศแนวปฏิบัติการเก็บเงินบำรุงการศึกษา ค่าธรรมเนียมการศึกษา ค่าธรรมเนียมการเรียน และค่าธรรมเนียมอื่น ที่ให้โรงเรียนหรือสถานศึกษาในสังกัดเพื่อช่วยเหลือลดภาระค่าใช้จ่ายและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ปกครอง (อ่านข่าวประกอบ: ศธ.ออกประกาศแนวปฏิบัติเก็บค่าเทอม ลดภาระผู้ปกครองยุคโควิด)
เช่นเดียวกับ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ที่กำหนดกรอบนโยบายในการให้ความช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ปกครองในช่วงสถานการณ์ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อวันที่ 30 ม.ค. 2564 ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดเผยว่า อว. ได้มีการกำหนดมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวตามประกาศ อว. ตั้งแต่เดือน มี.ค. 2563 ที่ผ่านมา
"การระบาดระลอกใหม่นี้ อว.ได้ประชุมหารือกับผู้บริหารของสถาบันอุดมศึกษาทุกแห่งไปแล้ว พร้อมมอบนโยบายให้สถาบันอุดมศึกษาดูแลช่วยเหลือนักศึกษาอย่างเต็มที่และให้เตรียมความพร้อมเพื่อจัดการเรียนการสอนแบบผสมผสาน โดยให้คำนึงถึงความปลอดภัยของนิสิตนักศึกษา ซึ่งขณะนี้สถาบันอุดมศึกษาหลายแห่ง ได้มีประกาศมาตรการให้ความช่วยเหลือนิสิตนักศึกษา ในเรื่องลดและผ่อนผันค่าลงทะเบียนเรียนและคืนค่าธรรมเนียมต่างๆ แล้ว อว.ต้องขอขอบคุณทุกภาคส่วนในสังคมที่ให้ความห่วงใยนิสิตนักศึกษา ช่วยกันเสนอแนะแนวทางที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัย เพราะนิสิตนักศึกษาเป็นกลุ่มเยาวชนที่จะเติบโตไปกำหนดอนาคตของประเทศ" ศ.นพ.สิริฤกษ์ กล่าว
ต่อมาวันที่ 18 พ.ค. 2564 นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ออกประกาศกระทรวง เรื่องมาตรการและการเฝ้าระวังการระบดาของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโควิด ฉบับที่ 13 ระบุถึงมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรค โดยขอความร่วมมือให้สถบันอุดมศึกษาและหน่วยงานภายในกระทรวงพิจารณาดำเนินการ ดังนี้
1.ลดค่าเล่าเรียน ค่าธรรมเนียม และค่าใช้จ่ายต่าง 1 ของสถาบันอุดมศึกษาที่เรียกเก็บจากนิสิต นักศึกษาเป็นกรณีพิเศษ
2.ลดค่าเช่าพื้นที่แก่ผู้ประกอบการรายย่อย หรือลดค่าบริการต่าง ๆ ที่เรียกเก็บจากประชาชนตามความเหมาะสม
3.กำหนดมาตรการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวเพิ่มเติมตามความเหมาะสม
@ ทปอ.วางแนวช่วยเหลือนักศึกษา-ผ่อนผันเกณฑ์กู้ กยศ.
ด้าน ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ได้มีการกำหนดแนวทางในการช่วยเหลือด้านการศึกษาแก่นิสิตนักศึกษาเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ดังนี้
1.การช่วยเหลือเยียวยานิสิตนักศึกษาและผู้ปกครองที่ได้รับผลกระทบในวงกว้าง โดยการช่วยเหลือค่าเล่าเรียนและค่าธรรมเนียมการศึกษาในปีการศึกษา 2563-2564 รวมทั้งการผ่อนผันการชำระค่าเล่าเรียน
และค่าธรรมเนียมการศึกษา ทั้งนี้การบริหารจัดการจะเป็นรูปแบบใดเพื่อช่วยในการเยียวยาและมุ่งตรงไปยังกลุ่มเป้าหมายนิสิต นักศึกษาที่ได้รับผลกระทบอย่างแท้จริง เป็นอำนาจของสภามหาวิทยาลัยที่จะพิจารณา
2.การช่วยเหลือเยียวยานิสิตนักศึกษาที่ได้รับผลกระทบชั่วคราวและสามารถฟื้นตัวได้ในระยะเวลาอันสั้น โดยการจัดตั้งกองทุนเยียวยานิสิตนักศึกษา เป็นการให้เงินกู้ไม่มีดอกเบี้ย
3.การช่วยเหลือเยียวยานิสิตนักศึกษามุ่งเป้าไปที่ผู้ได้รับผลกระทบระยะยาว โดยการจัดตั้งกองทุนการศึกษาให้นิสิตนักศึกษาได้เล่าเรียนจนสำเร็จการศึกษา การจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือการจ้างงาน การหางาน
สำหรับผู้สำเร็จการศึกษา
4.การช่วยเหลือนิสิตนักศึกษา อาจารย์ บุคลากร ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในสถาบันอุดมศึกษา ชุมชน และสังคม โดยการเตรียมความพร้อมในการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม สถานที่กักกัน หน่วยฉีดวัคซีน จัดตั้งกลุ่มจิต
อาสา การผลิตแอลกอฮอล์เจล หน้ากากอนามัย การสนับสนุนงบวิจัยเร่งด่วน การสร้างนวัตกรรมทางการแพทย์อย่างหลากหลาย การทำประกันสุขภาพโรคโควิด การจัดการเรียนการสอนออนไลน์ รวมทั้ง
การคืนค่าธรรมเนียมต่าง ๆ เช่น ค่าธรรมเนียมหอพัก ค่าธรรมเนียมการรักษาสภาพ และค่าธรรมเนียมอื่น ๆ
ทั้งนี้ สำนักงานปลัดกระทรวง อว. ได้จัดทำข้อเสนอไปยัง กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เพื่อขอผ่อนผันเกณฑ์การกู้ยืมเงินจาก กยศ. ในหลักสูตรที่ยังอยู่ในระหว่างการดำเนินงานพิจารณาความสอดคล้องของหลักสูตรกับเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตร ที่อยู่ในกระบวนการพิจารณาฯ จะส่งผลให้นักศึกษาใหม่ที่เข้าศึกษาในปีการศึกษา 2564 จะได้รับการกู้ยืมเงินจาก กยศ.ได้เป็นจำนวนมากขึ้น
นอกจากมาตรการจากทางภาครัฐแล้ว สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รวบรวมข้อมูลแนวทางการช่วยเหลือนิสิตนักศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาที่น่าสนใจ ดังนี้
@ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จากการสืบค้นข้อมูล ยังไม่พบมาตรการเยียวยาช่วยเหลือสำหรับนิสิตในปีการศึกษา 2564 นี้ แต่ในปีการศึกษา 2563 ที่ผ่านมา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ออกนโยบาย '10 พลัส พลัส' ในภาคการศึกษาปลาย เป็นการให้ความช่วยเหลือนิสิตที่ได้รับผลกระทบจากโควิด แบ่งออกเป็นประเภทต่างๆ ดังนี้
1.ลดค่าเล่าเรียน ร้อยละ 10 แก่นิสิตทุกคณะทุกหลักสูตร ดำเนินการต่อจากโครงการ 10 พลัส
2.ให้ทุนสนับสนุนการศึกษาประกอบด้วย ทุนการศึกษาระดับปริญญาตรี ทุนนิสิตช่วยงาน เพื่อสนับสนุนนิสิตให้มีงานทำ โดนเน้นงานที่ทำออนไลน์ ได้ค่าตอบแทนชั่วโมงละ 100 บาท ไม่เกิน 500 บาทต่อวัน
3.ทุนสนับสนุนค่าใช้จ่ายต่างๆ ประกอบด้วย ทุนสงเคราะห์สวัสดิภาพนิสิต หรือทุนโควิดเพื่อลดภาระด้านการเงินของนิสิต เริ่มต้นให้การช่วยเหลือนิสิตรายละ 5,000 – 10,000 บาท โดยมอบให้กับนิสิตรายเดิมที่เคยได้รับทุนผ่านการยืนยันจากฝ่ายกิจการนิสิตของคณะต่างๆ และมอบให้กับนิสิตรายใหม่ที่ขอทุนเข้ามาด้วย
4.นิสิตหอพัก โดยยกเว้นค่าธรรมเนียมหอพักในเดือน ม.ค. 2564 ให้กับนิสิตหอพักทุกคน และพิจารณาให้ทุนยกเว้นหรือลดค่าธรรมเนียมหอพัก ในช่วงมหาวิทยาลัยปิดทำการหรือนิสิตเรียนออนไลน์ที่บ้าน
5.ซิมอินเทอร์เน็ตฟรี 2,500 ซิม เพื่อให้นิสิตสามารถเรียนออนไลน์จากที่พักอาศัยได้อย่างสะดวก โดยได้ดำเนินการต่ออายุการใช้งาน SIM Card เดิมให้ใช้ได้จนถึงสิ้นภาคการศึกษาปลาย นอกจากนี้ยังมีบริการให้นิสิตยืมคอมพิวเตอร์กลับไปใช้ที่บ้านได้อีกด้วย
6.ทำประกันโควิด สำหรับนิสิต 37,000 คน
นอกจากนั้น สำนักงานการทะเบียน ได้ออกประกาศเมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2564 เรื่อง การชำระค่าเล่าเรียนและกำหนดการลงทะเบียนเรียนในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด เพื่อเป็นการลดผลกระทบที่จะเกิดแก่นิสิตทั้งด้านค่าใช้จ่ายและการลงทะเบียนเรียน ดังนี้
1. การชำระค่าเล่าเรียน นิสิตทุกระดับ ทุกชั้นปีและทุกหลักสูตรสามารถชำระค่าเล่าเรียนได้จนถึงวันที่ 28 ก.พ.2564
2. การลงทะเบียนเรียน นิสิตทุกระดับ ทุกชั้นปีและทุกหลักสูตร สามารถลงทะเบียนเรียนได้จนถึงวันที่ 15 ก.พ. 2564 โดยไม่มีค่าปรับ
@ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
มหาวิทลัยแม่ฟ้าหลวง ได้กำหนดมาตรการเยียวยานักศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด ปีการศึกษา 2564 ทั้ง 2 ภาคเรียน ทุกระดับการศึกษา โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้
นักศึกษาปัจจุบัน ทุกระดับการศึกษา มหาวิทยาลัยจะดำเนินการ ดังนี้
1.ลดค่าธรรมเนียมการศึกษา (ค่าเทอม) ร้อยละ 10
2.สามารถผ่อนผันการชำระค่าธรรมเนียมการศึกษาได้
3.จัดเก็บค่าบริการและค่าบำรุงกิจการสาธารณะ เมื่อมีการเรียนการสอนที่มหาวิทยาลัย และจัดเก็บเฉลี่ยตามเดือนที่เหลือ
4.งดเว้นการจัดเก็บค่าปรับการลงทะเบียนล่าช้า
5.จัดเก็บค่าหอพักตามที่อยู่จริง
สำหรับนักศึกษาใหม่ จะดำเนินการ ดังนี้
1.งดเว้นการจัดเก็บโครงการเตรียมความพร้อมก่อนเข้ามหาวิทยาลัย (How to Live and Learn on Campus 2021)
2.งดเว้นการจัดเก็บค่าประกันของเสียหายทั่วไป
3.ลดค่าธรรมเนียมการศึกษา (ค่าเทอม) ร้อยละ 10
4.ลดค่าธรรมเนียมการลงทะเบียนรายวิชาภาษาอังกฤษเร่งรัด ร้อยละ 50
5.ลดค่าธรรมเนียมการลงทะเบียนรายวิชาภาษาจีนเร่งรัด ร้อยละ 50
6.จัดเก็บค่าบริการและค่าบำรุงกิจการสาธารณะ เมื่อมีการเรียนการสอนที่มหาวิทยาลัย และจัดเก็บเฉลี่ยตามเดือนที่เหลือ
ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาการแพร่ระบาดของโควิดที่ผ่านมาในปี 2563 มหาวิทยาลัยได้ออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือนักศึกษา ตั้งแต่ได้มีการประกาศยกเลิกการเรียนในชั้นเรียน ปรับรูปแบบเป็นการเรียนออนไลน์เพื่อป้องกันความเสี่ยงในการติดเชื้อ รวมทั้งออกมาตรการต่างๆ ให้ครอบคลุมกับความจำเป็นในการเรียนการสอน เช่น สนับสนุนฟรีอินเทอร์เน็ต เป็นระยะเวลา 3 เดือน ให้ทุนการศึกษา การคืนค่าบริการ-ค่าบำรุงกิจการสาธารณะ ค่าหอพักภายในมหาวิทยาลัย ร้อยละ 50 รวมถึงจัดหน่วยงานให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนการเรียนการสอนออนไลน์ และการจัดหน่วยงานให้ความช่วยเหลือนักศึกษาต่างชาติโดยเฉพาะอีกด้วย
@ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ได้มีนโยบายพิจารณาลดค่าธรรมเนียม ค่าบำรุงการศึกษาต่างๆ รวมถึงลดค่าหอพัก พร้อมจัดตั้งกองทุนสวัสดิการช่วยเหลือ เป็นกรณีพิเศษ โดยกำหนดมาตรการต่างๆ ในการให้ความช่วยเหลือและบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของนักศึกษาและผู้ปกครองที่ได้รับผลกระทบจากพิษเศรษฐกิจและผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของโควิดในปีการศึกษา 2563 และ 2564 นี้ โดยสภามหาวิทยาลัย ประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ครั้งที่ 4/2564 เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2564 มีมติเห็นชอบให้ลดค่าเทอม ค่าหอพัก และจัดตั้งกองทุนสวัสดิการช่วยเหลือนักศึกษาและบุคลากรจากการแพร่ระบาดโรคโควิด มีรายละเอียดดังนี้
ภาคเรียนภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2563
1.การลดค่าเทอม ในระดับ ปวช. และระดับปริญญาตรี ร้อยละ 50
2.การลดค่าเทอม ในระดับบัณฑิตศึกษา ร้อยละ 25
ทั้งนี้ ไม่เรียกเก็บค่าคืนสภาพนักศึกษา 2/2563 (กรณีไม่ลงทะเบียน) และไม่เรียกเก็บค่าปรับล่าช้า Summer 2563
ภาคการศึกษาที่ 1 และ 2 ปีการศึกษา 2564
1.การลดค่าธรรมเนียม ร้อยละ 10 ยกเว้นนักศึกษาใหม่ ปีการศึกษา 2564 ลดเฉพาะค่าเทอมในภาคการศึกษาที่ 2/2564 ร้อยละ 20
2.การลดค่าหอพักนักศึกษา ร้อยละ 50
นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยได้จัดตั้ง 'กองทุนสวัสดิการช่วยเหลือนักศึกษาและบุคลากรจากการแพร่ระบาดโรคโควิด' คือ การเบิกค่ารักษาพยาบาลในการรักษาโรคติดเชื้อโควิค เป็นค่าส่วนต่าง หรือกรณีที่ไม่สามารถเบิกค่าใช้จ่ายจากแหล่งเงินอื่นได้ จ่ายตามจริงไม่เกิน จำนวน 10,000 บาท รวมถึงการเบิกจ่ายเงินช่วยเหลือบุคคลที่ติดเชื้อโควิค คนละไม่เกิน จำนวน 5,000 บาท
@ มหาวิทยาลัยมหิดล
มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กำหนดมาตรการช่วยเหลือนักศึกษาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดตั้งแต่ปีการศึกษา 2563 และยังคงดำเนินนโยบายต่อในปีการศึกษา 2564 มีรายละเอียดดังนี้
1.ให้บริการ Internet Package สำหรับนักศึกษาทุกคน เพื่อการเรียนการสอนออนไลน์
2.มอบทุนช่วยเหลือจำนวน 200 ทุน ทุนละ 5,000 บาท สำหรับนักศึกษาก่อนปริญญาตรี และปริญญาตรี
3.จัดทำประกันอุบัติเหตุและโควิด วงเงินคุ้มครองโควิด 50,000 บาท คุ้มครองอุบัติเหตุ 10,000 บาท สำหรับนักศึกษาทุกคน
4.ลดอัตราค่าธรรมเนียมการศึกษา ประมาณร้อยละ 10 ของค่าเทอม 2/2563 สำหรับนักศึกษาหลักสูตรปริญญาตรี ภาคภาษาไทย ส่วนหลักสูตรนานาชาติ และบัณฑิตศึกษา ลดหย่อนอัตราคนละ 5,000 บาท
5.สำหรับค่าหอพักนักศึกษา คืนค่าหอเต็มจำนวน กรณีขอยกเลิกการพักอาศัย ก่อน 1 ก.พ. 64 และ ฟรีค่าธรรมเนียมการใช้ไฟฟ้าเทอม 2/2563
6.จัดตั้ง MU Hotline สายด่วนสุขภาพใจ บริการตลอด 24 ชั่วโมง
7.ให้คำปรึกษาออนไลน์ โดยจิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยาผ่านทางแพลตฟอร์ม ooca
8.ขยายสิทธิการเบิกค่ารักษาในโรงพยาบาลของรัฐ
9.เงินช่วยเหลือนักศึกษาช่วยงาน สำหรับการทำงานพิเศษ วันละ 300 บาท
10.ให้บริการเงินยืมปลอดดอกเบี้ยไม่เกิน 5,000 บาทต่อครั้ง สำหรับนักศึกษาปริญญาตรี
@ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
รศ.ประยุกต์ ศรีวิไล อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้ออกประกาศมหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 12 พ.ค. 2564 เรื่อง มาตราการช่วยเหลือและเยียวยานิสิตที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาเของเชื้อโรคโควิด ฉบับที่ 3 ประกอบด้วย
ด้านค่าธรรมเนียมการศึกษาและค่าหน่วยกิต นิสิตระดับบัณฑิตศึกษาทุกชั้นปี ดังนี้
1.ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2563 (3/2563) ลดค่าธรรมเนียมการศึกษาและค่าหน่วยกิต ร้อยละ 15
2.ภาคการศึกษา 1/2564 ลดค่าธรรมเนียมการศึกษาและค่าหน่วยกิต ร้อยละ 10 โดยนิสิตสามารถแบ่งชำระค่าธรรมเนียมการศึกษาและค่าหน่วยกิต เป็น 3 งวด ดังนี้ งวดที่ 1 ร้อยละ 50 งวดที่ 2 ร้อยละ 20 และงวดที่ 3 ร้อยละ 30
3.นิสิตระดับบัณฑิตศึกษา สามารถขยายระยะเวลาการสำเร็จการศึกษาเพิ่มได้ 1 ปีการศึกษา
ด้านหอพักมหาวิทยาลัยมหาสารคาม สำหรับภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2563 (3/2563) และภาคการศึกษา 1/2564 ลดค่าเช่าหอพักของมหาวิทยาลัยในอัตราร้อยละ 50
ด้านสุขภาพ นิสิตที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคโควิด และได้รับการวินิจฉัยจากเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลสุทธาเวชว่าอยู่ในกลุ่มเสี่ยง สามารถข้ารับการตรวจได้ที่โรงพยาบาลสุทธาเวช โดยมหาวิทยาลัยมหาสารคามจะ
รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการตรวจหาเชื้อ
@ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
นายจงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ออกประกาศ เรื่อง การลดหย่อนค่าธรรมเนียมการศึกษา ประจำภาคต้น ปีการศึกษา 2564 สำหรับนิสิตปริญญาตรี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดตามมติประชุมคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (ก.บ.ม.) ในการประชุมครั้งที่ 5/2564 เมื่อที่ 11 พ.ค.2564 ได้อนุมมัติการลดหย่อนค่าธรรมเนียมการศึกษาในอัตรา ร้อยละ 10 ให้กับนิสิตทุกประเภทและทุกระดับปริญญา
ทั้งหมดนี้ เป็นการรวบรวมข้อมูลการกำหนดนโยบายของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รวมถึงที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศ รวมถึงมาตรการแนวทางเยียวยาและช่วยเหลือของแต่สถาบันอุดมศึกษา โดยจะต้องติดตามกันต่อว่า แนวโน้มสถานการณ์โควิดจะเป็นเช่นไร สถาบันการศึกษาจะสามารถกลับมาเปิดเรียนได้ตามปกติอีกครั้ง
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage