ที่ประเทศอังกฤษนั้นมีอัตราการเพิ่มขึ้นของไวรัสโควิด-19 เป็นจำนวนถึงร้อยละ 31 ในช่วง 7 วันที่ผ่านมา ทำให้เป็นข้อยืนยันได้ว่าไวรัสสายพันธุ์เดลต้านั้นมีการแพร่เชื้อได้ดีกว่าสายพันธุ์อื่นๆก่อนหน้านี้ และมีโอกาสในการทำให้มีผู้เข้าไปรักษาในโรงพยาบาลได้มากขึ้นเช่นกัน
........................
จากกระแสข่าวการระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า ที่ถูกพบครั้งแรกในประเทศอินเดีย ซึ่ง ณ เวลานี้มีผู้ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์นี้ในไทยเป็นจำนวนกว่า 664 รายแล้ว นับตั้งแต่เดือน เม.ย.ที่ผ่านมา
ทำให้เกิดความกังวลกันว่า ไวรัสโควิดสายพันธุ์นี้อาจจะกลายเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดในไทย และวัคซีนโควิดที่มีอยู่อาจไม่เพียงพอที่จะรับมือกับไวรัสสายพันธุ์นี้ได้
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้สืบค้นฐานข้อมูลโลกออนไลน์ต่างประเทศ พบว่าเว็บไซต์ https://www.medicalnewstoday.com/ ซึ่งเป็นเว็บไซต์รายงานข่าวเกี่ยวกับวงการการแพทย์ได้มีการแจกแจงรายละเอียดประสิทธิภาพของวัคซีนโควิดที่มีการใช้งานในปัจจุบันเอาไว้
มีรายละเอียดดังนี้
จากข้อมูลการวิเคราะห์ของหน่วยงานสาธารณสุขอังกฤษ (PHE) มีการแสดงให้เห็นว่า ที่ประเทศอังกฤษมีอัตราการเพิ่มขึ้นของไวรัสโควิด-19 เป็นจำนวนถึงร้อยละ 31 ในช่วง 7 วันที่ผ่านมา
ทำให้เป็นข้อยืนยันได้ว่าไวรัสสายพันธุ์เดลต้านั้นมีการแพร่เชื้อได้ดีกว่าสายพันธุ์อื่นๆ ก่อนหน้านี้ และมีโอกาสทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ยังมีข่าวดีอยู่บ้าง เพราะจากข้อมูลวิจัยล่าสุดพบว่า วัคซีนโควิดที่มีอยู่ในปัจจุบันนั้น มีประสิทธิภาพเพียงพอในการป้องกันไม่ให้ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลต้าต้องเข้าไปรักษาตัวในโรงพยาบาลได้
ข้อมูลประสิทธิภาพวัคซีนโควิดมีดังต่อไปนี้
@วัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงมากในการป้องกันไม่ให้เข้าโรงพยาบาล
ในรายงานของ PHE ระบุว่า สำหรับกรณีวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้านั้นถ้าหากเป็นการฉีดวัคซีนโดสแรกจะสามารถป้องกันการเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลได้ 71 เปอร์เซ็นต์ ตามมาด้วย 92 เปอร์เซ็นต์ ถ้าหากเป็นการฉีดวัคซีนในโดสที่ 2
ขณะที่วัคซีนจากไฟเซอร์โดสแรกนั้นจะมีประสิทธิภาพอยู่ที่ 94 เปอร์เซ็นต์ในการป้องกันการเข้ารักษาพยาบาล และมีประสิทธิภาพ 96 เปอร์เซ็นต์หลังจากการฉีดโดส 2 ไปแล้ว
โดยประเทศอินเดียเองก็มีวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเป็นของตัวเองชื่อว่าโควิชิลด์เช่นกัน
ล่าสุดมีรายงานอย่างไม่เป็นทางการระบุว่า มีวัคซีนสามารถปกป้องสายพันธุ์เดลต้าได้ดีเทียบเท่ากับไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์อัลฟ่า ที่ค้นพบเป็นครั้งแรกที่ประเทศอังกฤษ ซึ่งวัคซีนตัวนี้มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า B1.1.7
“การค้นพบครั้งนี้บ่งชี้ว่าการฉีดวัคซีนไม่ว่าจะแค่1 หรือ 2 โดสนั้น พบว่ามีอัตราการปกป้องการเข้ารับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลในอัตราที่สูงมาก สำหรับการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า” รายงานระบุ
ทั้งนี้ รายงานดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่มีข้อมูลปรากฎว่า วัคซีนโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นจากแอสตร้าเซนเนก้าหรือจากไฟเซอร์มีประสิทธิภาพน้อยมากต่อโควิดสายพันธุ์เดลต้า เมื่อฉีดแค่โดสแรกเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ในการวิเคราะห์ดังกล่าว ยังไม่ได้มีการทบทวนรายงานผลเป็นทางการ นักวิเคราะห์แค่ตรวจสอบในกรณีการติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอาการเท่านั้น แต่ยังไม่ได้วัดถึงกรณีความรุนแรงของอาการป่วยแต่อย่างใด
ขณะที่ในสหรัฐอเมริกา นพ.สก็อต กอทลีป อดีตผู้อำนวยการองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา ได้ออกมาพูดถึงประสิทธิภาพของวัคซีนจากบริษัทจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ว่ามีประสิทธิภาพต่อโควิดสายพันธุ์เดลต้าอยู่ที่ 60 เปอร์เซ็นต์
ขณะที่วัคซีนไฟเซอร์และวัคซีนโมเดอร์นานั้นมีประสิทธิภาพอยู่ที่ 88 เปอร์เซ็นต์ ถ้าหากฉีดวัคซีนครบ 2 โดสแล้ว
รายงานข่าวประสิทธิภาพวัคซีนไฟเซอร์และวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าที่มีต่อไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลต้า (อ้างอิงวิดีโอจาก Republic World)
@วัคซีนโคแวกซิน
ขณะที่ประเทศอินเดีย ก็มีผลการวิจัยที่ยังไม่ได้ทบทวนจากนักวิทยาศาสตร์ที่สภาวิจัยทางการแพทย์อินเดียและจากบริษัทภารัต ไบโอเทค อินเตอร์เนชั่นแนลเช่นกัน
รายงานข่าวระบุว่า วัคซีนโคแวกซินนั้นมีประสิทธิภาพกับไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลต้าในอัตราที่รับได้ แม้ว่าก่อนหน้านี้นักวิจัยจะค้นพบข้อมูลจากห้องทดลองว่าอัตราสารภูมิคุ้มกันหรือแอนติบอดีจากกลุ่มคนที่ได้รับการฉีดวัคซีนนั้นไม่ได้มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับการติดเชื้อโดยธรรมชาติก็ตาม
อนึ่งสำหรับวัคซีนโคแวกซินนั้นผลิตมาจากการนำเอาไวรัสโควิด (SARS-CoV-2) มาใช้กระบวนการทางเคมีเพื่อป้องกันไม่ให้ไวรัสมีขีดความสามารถในการแบ่งตัวเอง
โดยเมื่อบุคคลได้รับวัคซีนแล้วจะสามารถสร้างแอนติบอดีเพื่อป้องกันส่วนต่างๆของไวรัสได้ ซึ่งแม้ว่าจะมีส่วนหนึ่งของไวรัสกลายพันธุ์ก็จริง แต่แอนติบอดีของร่างกายก็จะยังคงจดจำต่อไวรัสส่วนอื่นๆที่ยังไม่ได้กลายพันธุ์ได้อยู่
อย่างไรก็ตาม การศึกษาวิจัยดังกล่าวนั้นยังอยู่ในวงที่มีขนาดเล็ก และจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับประสิทธิภาพการใช้งานจริงของวัคซีนโคแวกซินกับไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลต้าในการป้องกันการเจ็บป่วยที่รุนแรงต่อไป
รายงานประสิทธิภาพของวัคซีนโคแวกซิน (อ้างอิงวิดีโอจากIndia Today)
@วัคซีนสปุตนิก,โคโรน่าแวค,และซิโนฟาร์ม
ขณะที่ผู้ผลิตวัคซีนสปุตนิกวีจากประเทศรัสเซียเอง ได้มีการประกาศผ่านทางทวิตเตอร์ว่าวัคซีนของพวกเขานั้นก็มีประสิทธิภาพมากกว่าวัคซีนอื่นๆในการป้องกันไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลต้า
โดยทางผู้ผลิตได้มีการยืนยันว่าพวกเขาได้ส่งข้อมูลเพื่อให้มีการทบทวนในระดับสากลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และหลังจากนี้ก็จะมีการเสนอให้มีการฉีดวัคซีนสำหรับเพิ่มประสิทธิภาพชนิดอื่นๆหรือที่เรียกกันว่าบูสเตอร์ชอตต่อไป
อย่างไรก็ตาม จนกว่าที่ข้อมูลเหล่านี้จะมีการเผยแพร่ต่อสาธารณะ ก็ยังไม่อาจที่จะวางใจได้ว่าวัคซีนนั้นมีประสิทธิภาพจริงตามที่ทางผู้ผลิตสปุตนิกวีได้กล่าวอ้างเอาไว้หรือไม่
ขณะที่วัคซีนโคโรน่าแวคของบริษัทซิโนแวคนั้นก็มีข้อมูลประสิทธิภาพต่อสายพันธุ์เดลต้าออกมาน้อยมากเช่นกัน
ซึ่งจากข้อมูลของสำนักข่าวรอยเตอร์ ระบุว่า มีทีมงานแพทย์อินโดนีเซียจำนวนกว่า 350 คน ติดเชื้อโควิด-19 แม้ว่าจะฉีดวัคซีนโคโรน่าแวคแล้วก็ตาม
ในรายงานยังได้ระบุคำสัมภาษณ์ของ นพ. Badai Ismoyo หัวหน้าสํานักงานสาธารณสุขในเขตคูดุส จ.ชวากลาง ว่า "ทีมงานทางการแพทย์ที่ติดเชื้อส่วนมากนั้นเป็นการติดเชื้อแบบไม่แสดงอาการ และกักตัวเองอยู่ที่บ้าน แต่อย่างไรก็ตาม พบว่ามีผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนอย่างน้อย 12 ราย ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลด้วยอาการไข้ขึ้นสูงและมีระดับออกซิเจนที่ลดลง"
โดยการติดเชื้อดังกล่าว มาจากการที่พื้นที่นี้มีจำนวนผู้ติดเชื้อที่สูง ทำให้ผู้เชี่ยวชาญเชื่อกันว่ามาจากไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลต้านั่นเอง
จึงทำให้ ณ เวลานี้เริ่มมีข้อบ่งชี้ให้เห็นชัดเจนมากขึ้นว่าควรจะมีการศึกษาประสิทธิภาพของวัคซีนโคโรน่าแวคเพิ่มเติมอีกว่า วัคซีนนี้จะสามารถป้องกันอาการป่วยอย่างรุนแรงจากไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลต้าได้มากน้อยแค่ไหน
ส่วนกรณีวัคซีนของรัฐวิสาหกิจซิโนฟาร์มนั้น มีรายงานยืนยันจากนายฮาเวียร์ ปาลาซิโอส (Javier Palacios) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสนับสนุนการจ้างงานของประเทศเปรู ว่า วัคซีนซึ่งมีการใช้งานอยู่ในประเทศทุกชนิด (ซิโนฟาร์ม,แอสตร้าเซนเนก้าและไฟเซอร์) นั้นมีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะนับมือกับโควิดสายพันธุ์เดลต้าได้ แต่ไม่ได้ระบุรายละเอียดในเรื่องนี้มากนัก
ขณะที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มีรายงานว่าผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ในประเทศนั้นกำลังศึกษาประสิทธิภาพของวัคซีนซิโนฟาร์ม ต่อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าเช่นกัน แต่ว่ายังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนเช่นกัน
เรียบเรียงจาก:https://www.medicalnewstoday.com/articles/covid-19-which-vaccines-are-effective-against-the-delta-variant#Sputnik-V-and-CoronaVac,https://andina.pe/Ingles/noticia-covid19-vaccines-administered-in-peru-are-effective-against-delta-variant-849222.aspx,https://www.khaleejtimes.com/coronavirus-pandemic/covid-19-delta-variant-in-gcc-uae-doctors-tell-residents-to-remain-cautious
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/