"...เราทำให้ทุกเดือนเป็นเดือนของ Pride ได้ ไม่จำเป็นต้องเฉพาะเดือนนี้ และมันต้องไปได้มากวว่าเรื่องของเพศ เพศสภาพและเพศวิถี มันต้องยกระดับให้ไปสู่เรื่องของความเท่าเทียมของการเป็นมนุษย์ คิดว่าการโปรโมทเรื่องสิทธิมนุษย์ชนเป็นสิ่งที่ทุกบริษัทควรทำ…"
---------------------------------
เดือนมิถุนายน หรือ เดือนที่ 6 ของปี ที่ถูกเรียกว่า 'Pride Month' หรือ เดือนแห่งความภาคภูมิใจของกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ ทำให้ตลอดทั้งเดือน เราทุกคนจะได้เห็นสัญลักษณ์สีรุ้ง ทั้งในสังคมออนไลน์ แคมเปญ รวมถึงโฆษณาต่างๆ
@ ก่อนสีรุ้ง เริ่มจากความรุนแรง
ในอดีตกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ไม่เป็นที่ยอมรับ ถูกเลือกปฎิบัติอย่างรุนแรง มีการกดขี่ ข่มเหง รังแก ราวกับว่าเป็นการกระทำผิดที่ร้ายแรง การแต่งกายไม่ตรงกับเพศกำเนิด เป็นสิ่งที่ผิดต่อจารีต ประเพณี รวมไปถึงกฎหมายในสังคม เสี่ยงที่จะถูกจับกุมได้ หากมีการเปิดเผยหรือแสดงตัวตนว่าเป็นเพศทางเลือกในที่สาธารณะ ส่งผลให้กลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศถูกกดดันจากสังคมอย่างหนัก จึงมีสถานที่ลับไว้สำหรับปลดปล่อยตัวตน และแสดงออกถึงความชอบที่แท้จริง สถานที่แห่งนั้น มีชื่อว่า 'Stonewall Inn' ย่านกรีนวิชวิลเลจ นิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา
กระทั่งในคืนวันที่ 28 มิ.ย.2512 เกิดเหตุจลาจลของเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มความหลากหลายทางเพศและเจ้าหน้าที่ตำรวจ ถือได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้กลุ่มหลากหลายทางเพศ ยืนหยัดต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม เพื่อปกป้องสิทธิและเสรีภาพของตัวเองเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ จนนำมาสู่การเดินขบวนเรียกร้องสิทธิสำหรับกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ ช่วยปลุกกระแสการรณรงค์เรียกร้องให้เกิดความเท่าเทียม และเคารพเสรีภาพของเกย์ในวงกว้าง และเป็นเหตุการณ์ที่สำคัญที่ส่งผลมาจนปัจจุบัน
@ 6 สีในธงสีรุ้ง
สัญลักษณ์ของกลุ่มหลากหลายทางเพศในปัจจุบัน คือ สายรุ้ง 6 สี ออกแบบโดยนายกิลเบิร์ต เบเคอร์ (Gilbert Baker) ศิลปินและนักเคลื่อนไหว ที่มีแนวคิดว่ากลุ่มหลากหลายทางเพศ ควรมีธงเป็นของตัวเอง และเหตุผลที่เลือกใช้สีรุ้งนั้น เพื่อต้องการสะท้อนความหลากหลายของชุมชนคนหลากหลายทางเพศ โดยความหมายของแต่ละสีในธง คือ
สีแดง หมายถึง ชีวิต
สีส้ม หมายถึง การเยียวยา
สีเหลือง หมายถึง แสงอาทิตย์แห่งความหวัง
สีเขียว หมายถึง ธรรมชาติ
สีฟ้า หมายถึง ศิลปะ
สีม่วง หมายถึง จิตวิญญาณ
@ เพศไม่มีจำกัด และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ปัจจุบันกลุ่มหลากหลายทางเพศ ถูกเรียกอย่างย่อว่า LGBTQIA+ คือ ซึ่งเป็นคำย่อที่ใช้อักษรภาษาอังกฤษตัวแรกของชื่อเพศ และอาจใช้เรียกชื่อแทนกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศในปัจจุบัน โดยแต่ละตัวอักษร มีความหมายดังนี้ L คือ Lesbian , G คือ Gay , B คือ Bisexual , T คือ Transgender หรือ Transsexual , Q คือ Queer , I คือ Intersex , A คือ Asexual และเครื่องหมายบวก (+) ที่ต่อท้ายด้านหลัง หมายถึงเพศอื่นๆ ที่มีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามยุคสมัย
@ พื้นที่การเปิดกว้างทางเพศในสัมคมไทย
สังคมไทยในปัจจุบันมีความเคลื่อนไหวของกลุ่มหลากหลายทางเพศมากขึ้น ทั้งในพื้นที่สถานศึกษา รวมถึงการชุมนุมทางการเมือง ที่ไม่ใช่เพียงแต่การเรียกร้องในเรื่องของการยอมรับในสังคม และเกิดขึ้นเฉพาะในเดือน มิ.ย.เท่านั้น แต่รวมไปถึงการเรียกร้องให้เกิดความเท่าเทียมทั้งจากภาคสังคม และภาครัฐอีกด้วย
'เจษฎา แต้สมบัติ' มูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยไทย (Thai Transgender Alliance) ได้เปิดเผยกับ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ถึงสถานการณ์ความหลากหลายทางเพศในประเทศไทยว่า ในปัจจุบันจะเห็นปรากฎการณ์ที่เยาวชนหรือกลุ่มคนรุ่นใหม่เปิดใจกว้างและยอมรับในเรื่องความหลากหลายทางเพศได้มากขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับในอดีต ยุคเบบี้บูม ซึ่งส่วนใหญ่ อายุประมาณ 50-60 ปี เนื่องจากเติบโตและถูกหล่อหลอมขัดเกลามาในสังคมอีกรูปแบบหนึ่ง ทำให้อาจจะยังไม่มีความเข้าใจ และอาจจะมีอคติในเรื่องความหลากหลายทางเพศ ส่งผลให้การเปิดกว้างของพื้นที่ทางวัฒนธรรม พื้นที่ทางกฎหมาย ยังถูกจำกัดอยู่ เช่น ในด้านกายภาพ พื้นที่ในด้านวิชาชีพที่ยังไม่เปิดกว้าง หรือมีเงื่อนไขในการเปิด ตัวอย่างเช่น อาชีพแพทย์ แทบจะไม่มีกะเทย หรือผู้ชายข้ามเพศ เนื่องจากถูกมองว่าไม่มีความมั่นคง ไม่มีความน่าเชื่อถือ ในพื้นที่ในอาชีพดังกล่าว ส่วนกะเทย สังคมจะมองว่าจะต้องประกอบอาชีพนางโชว์ ช่างแต่งหน้า เป็นต้น จึงถือได้ว่าพื้นที่ของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศจะถูกจำกัดในบางพื้นที่ และเปิดกว้างในบางพื้นที่ของอาชีพ
ในส่วนพื้นที่ทางกฎหมาย เรียกได้ว่าแทบจะไม่มี จะเห็นได้ว่ามีการเรียกร้องเรื่องความเท่าเทียมต่างๆ แต่เป็นการเรียกร้องในพื้นที่สาธารณะ พื้นที่สื่อ แต่เมื่อเข้าสู่กระบวนการนำสภา กลับไม่ได้ให้ความสำคัญ หรือมองว่าเป็นเรื่องที่เร่งด่วนจำเป็น โดยในพื้นที่ดังกล่าว เนื่องจากกลุ่มคนที่มีอำนาจในการกำหนดนโยบาย หรือกฎหมายต่างๆ คือ กลุ่มคนยุคเก่า ทำให้การขับเคลื่อยนเรื่องกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายแต่งงาน กฎหมายสมรสเท่าเทียม หรือการเปลี่ยนคำนำหน้านามนั้น ติดขัด หรืออาจจะไม่เข้ากับยุคสมัย ซึ่งเชื่อมโยงกับพื้นที่ในประเด็นเรื่องของวัย
แต่ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงต่างๆ มีแนวโน้มดีขึ้น ทั้งในเรื่องการต่อสู้ และการปกป้องสิทธิ เห็นได้จากการมี พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ 2558 ที่มีขึ้นเพื่อปกป้อง คุ้มครองผู้ที่ถูกริดรอนสิทธิ ถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุความแตกต่างทางเพศ
@ เพศสภาพ ไม่ได้เป็นตัวกำหนดศักยภาพ
เจษฎา เปิดเผยถึงปัญหาที่กลุ่มคนหลากหลายทางเพศเผชิญอยู่ในสังคมปัจจุบัน ว่า ปัญหาหลักใหญ่ คือ เรื่องกฎหมาย รวมถึงการออกนโยบาย เนื่องจากเล็งเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงในเชิงระดับนโยบาย ระเบียบปฏิบัติ ข้อบังคับกฎหมาย จะเป็นส่วนหนึ่งในการปรับเปลี่ยนแนวคิดว รวมถึงทัศนคติคนในสังคม
เจษฎา อธิบายเพิ่มเติมว่า เนื่องด้วยการออกแบบกฎหมายของไทยนั้น ยึดโยงกับเรื่องของเพศ ตามอวัยวะที่กำหนดเพศตามกำเนิด ทำให้การออกแบบบริการ หรือกำหนดนโยบายของภาครัฐ ยึดโยงเรื่องสิทธิและหน้าที่ตามเพศกำเนิด ตามอวัยวะเพศที่มี โดยตั้งแต่เกิด คนเราถูกระบุ ตรีตราเพศไว้แล้วตามอวัยวะที่ติดตัวมาในสูติบัตร เมื่อโตขึ้นเข้าโรงเรียน ก็ถูกแบ่งแยกด้วยเครื่องแบบ แม้กระทั่งวัยทำงานเองก็ตาม บางสาขาวิชาชีพถูกกำหนดว่าไม่เหมาะ และบางสาขาวิชาชีพถูกกำหนดว่าเหมาะสมกับคนที่มีความหลากหลายทางเพศ
"เมื่อสมัย ม.6 ได้เข้าปรึกษาอาจารย์แนะแนวในเรื่องการเรียนต่อในมหาวิทยาลัย โดยอาจารย์ให้คำตอบว่าให้ไปเรียนนาฎศิลป์ นิเทศศาสตร์ เพราะเป็นกะเทย แต่ตนไม่ได้ชอบด้านนั้น ในขณะนั้นก็เกิดคำถามในใจและไม่เข้าใจอาจารย์ แต่สุดท้ายแล้วก็เลือกเรียนด้านพัฒนาสังคมตามที่ต้องการ ปัญหาส่วนหนึ่ง เกิดจากการเหมารวม และเป็นความคาดหวังที่สังคม ความคาดหวังบางอย่างกับผู้มีความหลากหลายทางเพศอยู่ ซึ่งจริงๆแล้ว ศักยภาพไม่ได้จำกัดอยู่ที่เพศและเพศสภาพ" เจษฎากล่าว
(เจษฎา แต้สมบัติ มูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยไทย ภาพจาก: สสส.)
@ จากภาพเหมารวม สร้างบรรทัดฐานสังคม ไปสู่วาทกรรมสร้างความเกลียดชัง
เจษฎา เล่าถึงอีกหนึ่งมุมสะท้อนของปัญหาที่เกิดขึ้น ว่า ส่วนหนึ่งของการตีตราหรือเหมารวมทางเพศ มาจากอิทธิพลการทำงานของสื่อที่มีการเสนอภาพเหมารวมของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ตั้งแต่อดีต กลุ่มคนหลากหลายทางเพศ เช่น กะเทย จะถูกฉายภาพว่าเป็นกลุ่มคนที่มีความรุนแรง รักแรง หึงแรง มีความแปลกประหลาด พิสดาร หรือว่าแตกต่าง แปลกแยกไปจากชายหญิงทั่วไป จากที่เห็นในภาพยนตร์บางเรื่อง ที่มีตัวละครเป็นกะเทยมีการแสดงออกที่ตลกโปกฮา สร้างเสียงหัวเราะ แต่หยาบคาย และบ้าผู้ชาย ทำให้เกิดภาพเหมารวมในสังคมว่ากะเทยจะต้องมีลักษณะนิสัยเช่นนั้น ในขณะเดียวกัน สื่อก็ฉายภาพบางบุคคลเสมือนเป็นนางฟ้า ทำให้เห็นภาพที่แตกต่างกันสุดโต่ง ไม่เห็นความหลากหลายของความเป็นมนุษย์ หรือของกลุ่มหลากหลายทางเพศที่แท้จริง
"ภาพที่แตกแต่งกันสุดขั้ว ระหว่างกะเทยในหนังที่ตลกโปกฮา บ้าผู้ชาย และอีกฝั่งที่สวยมาก เสมือนนางฟ้า ทำให้สังคมเกิดความคาดหวัง จนกลายเป็นวาทกรรมที่ใช้ด่าทอ เช่น กะเทยควาย ที่ใช้บูลลี่กะเทย ที่ไม่เข้าสู่ความเป็นกะเทยตามแบบกระแสหลักที่ต้องสวยเหมือนปอย หรือต้องมากความสามารถ อันนี้ก็เป็นปัญหาหนึ่งที่สื่อนำเสนอ" เจษฎากล่าว
มูลนิธิเครือข่ายกะเทยไทย ได้ดำเนินการร่วมกับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ผลิตคู่มือคำแนะนำการนำเสนอของสื่อมวลชนเกี่ยวกับเรื่องความหลากหลายทางเพศว่า อะไรคือสิ่งที่ควร และไม่ควรที่จะนำเสนอ หรือควรที่จะหลีกเลี่ยง คำอะไรที่มีอคติแฝง ตัวอย่างเช่น คำว่า เพศที่สาม เป็นคำที่ไม่ควรใช้ เพราะเป็นการแบ่งแยก คำถามว่าเพศที่ 1 หรือ เพศที่ 2 คือใคร ทำไมถึงต้องมีคำว่าเพศที่ 3 และอีกหนึ่งคำที่ควรหลีกเลี่ยงและงดใช้ คือคำว่า กลุ่มคนรักร่วมเพศ เพราะมีนัยยะของการเสพกามอารมณ์เพียงอย่างเดียว ไม่แสดงให้เห็นถึงมิติของวิถีชีวิตด้านอื่นๆ รวมถึงคำว่า เบี่ยงเบนทางเพศ ก็ไม่เหมาะสม เพราะแสดงให้เห็นว่าคุณคิดว่าความเป็นเพศนั้นมีค่ามาตรฐาน ทำให้เกิดเบี่ยงเบนทางเพศเกิดขึ้น
"ที่ผ่านมา มีข่าวซาวน่าเกย์ที่เป็นคลัสเตอร์โควิด มูลนิธิฯ ได้มอนิเตอร์การนำเสนอข่าวของสื่อ พบว่าสื่อมีพัฒนาการที่ดีขึ้น หลังจากที่มูลนิธิได้ร่วมงานกับ กสทช. ไม่ได้มีการนำอัตลักษณ์ทางเพศมาผูกโยงกับลักษณะการกระทำผิด แต่บางสื่อก็ยังหลุดอยู่ เช่นรายการข่าวเช้า รายการหนึ่งยังใช้คำว่ารักร่วมเพศ แต่ทั้งนี้ทางมูลนิธิจะได้หาทางติดต่อสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจต่อไป เพราะเข้าใจว่าสื่อหลายคน อาจจะไม่ได้ตั้งใจ ที่ใช้ถ้อยคำ หรือสร้างให้เกิดความเกลียดชัง แต่ทำไปเพราะเคยชินกับการนำเสนอแบบนี้" เจษฎากล่าว
@ อยากให้ทุกเดือนเป็นเดือนสีรุ้ง
เจษฎา กล่าวทิ้งท้ายว่า 'Pride Month' เป็นเพียงแค่หนึ่งเดือนในหนึ่งปี ยังมีอีกตั้ง 11 เดือนที่ทุกคนควรจะลุกขึ้นมาสื่อสารและทำงานเพื่อขับเคลื่อนสังคมให้เกิดความเท่าเทียม ที่ไปไกลมากกว่าเรื่องเพศ แม้ว่าเรื่องความหลากหลายทางเพศจะเป็นจุดเริ่มต้นในการขับเคลื่อนเรื่องความเท้าเทียม แต่นอกเหนือจากนั้น เราควรจะต้องขยายประเด็นให้มากขึ้น รวมไปถึงเรื่องชาติพันธุ์ สีผิว การเคารพเรื่องความคิดเห็นทางการเมืองต่างๆ อีกด้วย และทำให้ทั้ง 12 เดือนใน 1 ปี เป็นเดือนของความ 'Pride - ความภาคภูมิใจ ความเท่าเทียมกันของทุกคน' ไม่เช่นนั้น 'Pride Month' จะเป็นแค่การจัดแคมเปญสีรุ้ง โฆษณาสินค้าต่างๆ ที่มีสีรุ้งฉาบไว้เพียงเท่านั้น แต่สิ่งที่อยากเห็นมากกว่านั้น เช่น บริษัทที่ผลิตสินค้าสีรุ้ง มีนโยบายคุ้มครองความเท่าเทียมทางเพศหรือไม่ มีสวัสดิการสำหรับคนข้ามเพศ ในการขอลาไปผ่าตัดแปลงเพศหรือไม่ นั่นเป็นสิ่งที่สังคมอยากเห็นมากกว่า สินค้าสีรุ้งที่ออกมาในเดือนนี้มากกว่า
"เราทำให้ทุกเดือนเป็นเดือนของ Pride ได้ ไม่จำเป็นต้องเฉพาะเดือนนี้ และมันต้องไปได้มากวว่าเรื่องของเพศ เพศสภาพและเพศวิถี มันต้องยกระดับให้ไปสู่เรื่องของความเท่าเทียมของการเป็นมนุษย์ พี่คิดว่าการโปรโมทเรื่องสิทธิมนุษย์ชนเป็นสิ่งที่ทุกบริษัทควรทำ" เจษฎากล่าว
ทั้งหมดนี้คือ หนึ่งในความคิดเห็นของผู้ที่มีหลากหลายทางเพศในสังคมไทยที่สะท้อนถึงปัญหา และมุมมองต่างๆ รวมถึงสิ่งที่อยากให้คนในสังคมตระหนัก และช่วยกันขับเคลื่อนสังคมให้เกิดความเท่าเทียมต่อไป
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage