"...การฉีดวัคซีนให้กับประชาชนทั้งโลกนั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่ประเทศร่ำรวยและบริษัทต่างๆจะเข้ามาให้การช่วยเหลือนั่นเอง แต่ทว่าสิ่งที่จะต้องเป็นรูปธรรมก็คือการจัดตั้งและขยายโรงงานเพิ่มเติมเพื่อผลิตวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19,การเปิดศูนย์เพิ่มเติมเพื่อที่จะฝึกฝนบุคลากรที่มีความจำเป็นในด้านต่างๆ ซึ่งเรื่องเหล่านี้นั้นควรจะเป็นสิ่งที่จะต้องทำทันทีเพื่อที่จะแก้ไขปัญหาด้านคอขวดของวัคซีนที่จะไปกระจุกตัวอยู่ที่ใดที่หนึ่ง และจะแก้ปัญหาทำให้ประเทศในภูมิภาคแอฟริกาและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นสามารถเข้าถึงวัคซีนได้ง่ายขึ้นอีกด้วย ..."
...................
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 หรือโคโรน่าไวรัส ณ เวลานี้ ทำให้หลายประเทศทั่วโลกคาดหวังว่าโครงการโคแวกซ์ ซึ่งเป็นโครงการบริจาควัคซีนอย่างเท่าเทียมกันขององค์การอนามัยโลกนั้น จะสามารถทำให้ประชาชนทั่วโลกสามารถเข้าถึงภูมิคุ้มกันหมู่ได้ โดยเฉพาะเมื่อปรากฏเป็นข่าวว่าประเทศสหรัฐอเมริกาจะเริ่มบริจาควัคซีนส่วนที่เหลือให้กับโครงการโคแวกซ์แล้วก็ตาม
อย่างไรก็ดี เว็บไซต์ www.scientificamerican.com ของสหรัฐฯ ได้เผยรายงานวิเคราะห์ว่า แม้จะมีความพยายามสนับสนุนโครงการโคแวกซ์เพิ่มมากขึ้น แต่ดูเหมือนว่า สถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ณ เวลา ทำให้โครงการโคแวกซ์ดูท่าว่าจะประสบกับภาวะชะงักงัน และอาจเป็นเรื่องยากที่จะบรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการได้
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เรียบเรียงข้อมูลมาเสนอ ณ ที่นี้
มากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของประชากรในสหรัฐอเมริกา ณ เวลานี้ ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ครบ 2 โดสเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
แต่สถานการณ์กลับมีความแตกต่างกันเป็นอย่างมาก เมื่อเปรียบเทียบกันกับในภูมิภาคอื่น ๆ ของโลก โดยเฉพาะประเทศที่มีรายได้ต่ำหลายๆประเทศ พบว่ามีน้อยกว่า 1 เปอร์เซ็นต์ของประชากรที่ได้รับวัคซีนเพียงแค่ 1 โดสเท่านั้น
ซึ่งแต่เดิมหน้าที่หลักในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำควรจะต้องเป็นของโครงการโคแวกซ์ ซึ่งเป็นโครงการที่เกิดจากความร่วมมือของกลุ่มพันธมิตรวัคซีนกาวี,กลุ่มแนวร่วมเพื่อนวัตกรรมการเตรียมพร้อมต่อโรคระบาดหรือ CEPI และองค์การอนามัยโลกหรือ WHO
โครงการโคแวกซ์ดังกล่าวถูกก่อตั้งขึ้นมาในช่วงเดือน เม.ย. 2563 โดยตั้งเป้าหมายว่าจะฉีดวัคซีนให้กับประชากรทั่วโลกได้เป็นจำนวนกว่า 2 พันล้านโดส ก่อนสิ้นปี 2564 นี้
สำหรับแนวคิดของโครงการนั้น มีทั้งการเปิดรับเงินและวัคซีนบริจาคจากประเทศต่างๆและจัดสรรให้พอเพียงและเท่าเทียมกันในประเทศที่ยากจนกว่าตามจำนวนประชากรของประเทศนั้นๆ
แต่ปัจจุบันการดำเนินงานโครงการโคแวกซ์ ถือว่าทำได้ต่ำกว่าเป้าหมายมาก สามารถฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มประชากรได้ประมาณ 4 เปอร์เซ็นต์ของวัคซีนที่ตั้งเป้าว่าจะฉีดจำนวน 2 พันล้านโดสเท่านั้น
ซึ่งสาเหตุหนึ่งของการฉีดวัคซีนได้ต่ำกว่าเป้าหมายมาจากการที่ประเทศที่ร่ำรวยซื้อวัคซีนใหม่ ๆ กักตุนไว้เป็นจำนวนมาก ก่อนที่วัคซีนเหล่านั้นจะได้รับการอนุมัติฉุกเฉินเสียอีก
อีกหนึ่งความถดถอยของโครงการโคแวกซ์ก็มาจากในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ประเทศอินเดียต้องระงับการส่งออกวัคซีนที่ผลิตในประเทศเป็นการชั่วคราวเนื่องจากได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ภายในประเทศอย่างรุนแรง ทำให้โครงการโคแวกซ์ที่ต้องพึ่งพาสถาบันเซรุ่มของอินเดียในการจัดหาวัคซีนให้ ได้รับวัคซีนเป็นจำนวนอย่างน้อยมากกว่าครึ่งหนึ่งของโครงการที่ตั้งเป้าเอาไว้ และผลของการขาดแคลนทำให้โครงการไม่สามารถดำเนินการจัดส่งวัคซีนได้ตามที่สัญญาไว้กับหลายประเทศ
แต่สถานการณ์บางประการ ก็อาจจะมีความเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นบ้าง เมื่อวันที่ 3 มิ.ย.ที่ผ่านมา นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ประกาศว่าสหรัฐฯ จะบริจาควัคซีนจำนวน 19 ล้านโดสให้กับโครงการโคแวกซ์ภายในช่วงสิ้นเดือนมิ.ย.2564 นี้ และจะบริจาคโดยตรงอีกจำนวน 6 ล้านโดสให้กับอีกหลายประเทศที่มีความต้องการ
ขณะที่ในการประชุมกลุ่มประเทศจี 7 ที่ประเทศอังกฤษ กลุ่มประเทศที่ร่ำรวยมีการให้คำมั่นสัญญาว่าจะบริจาควัคซีนให้เป็นจำนวนรวมทั้งสิ้น 870 ล้านโดสกับโครงการโคแวกซ์เช่นกัน คาดว่าวัคซีนจำนวนครึ่งหนึ่งนั้นน่าจะมาถึงได้ในช่วงก่อนสิ้นปี 2564 นี้
รายงานข่าวการบริจาควัคซีนของกลุ่มประเทศจี 7 (อ้างอิงวิดีโอจาก SABC News)
แต่ถึงแม้โครงการโคแวกซ์จะสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ แต่โครงการนี้ก็จะสามารถทำให้ประชากรจำนวน 20 เปอร์เซ็นต์ที่เข้าร่วมโครงการเข้าถึงวัคซีนได้เท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นสัดส่วนที่ยังห่างไกลมาก ถ้าหากจะทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าภูมิคุ้มกันหมู่ขึ้นตามที่ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบาดประเมินไว้
ซึ่งการจะไปถึงจุดที่ไม่มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้นั้น ผู้เชี่ยวชาญมีการประเมินว่าอาจต้องมีปัจจัยหนุนอื่น ๆ มาประกอบด้วย อาทิ ต้องมีการฉีดวัคซีนในพื้นที่ห่างไกล,การรับมือกับความลังเลเรื่องการฉีดวัคซีนและการขยายฐานโรงงานการผลิตวัคซีน
“ผมพูดมาตลอดว่าโคแวกซ์นั้นมีความจำเป็น แต่ว่ามันก็ยังไม่เพียงพอ” นพ.กฤษณา อูดายาคุมาร ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมสุขภาพระดับโลกดุ๊กกล่าว และย้ำว่าจนกว่าที่ประเทศร่ำรวยและบริษัทชั้นนำต่างๆจะเดินหน้าพยายามแบ่งปันและช่วยกระจายวัคซีนให้แพร่หลายทั่วโลกได้อย่างจริงจัง
ความร่วมมือที่ว่ามานั้นจะไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลย
“โชคร้ายที่ประเทศยากจนหลายประเทศ ณ เวลานี้ นั้นอยู่ในคิวท้ายๆของการได้รับวัคซีน หรือไม่ก็คือพวกเขานั้นต้องขึ้นอยู่กับความเมตตาของประเทศที่ร่ำรวยกว่านั่นเอง” นพ.อูดายาคุมาร กล่าว
ขณะที่ นายอเลน อัลซาลานี เภสัชกรด้านวัคซีนโครงการแพทย์ไร้พรมแดน ระบุว่า ปัจจัยปัญหาความลำบากอีกประกาศก็คือเรื่องความรวดเร็วของโคแวกซ์ในการจัดซื้อโดสวัคซีน เพราะแม้ว่ากลุ่มพันธมิตรวัคซีนกาวีจะมีการจัดส่งวัคซีนต่างๆให้กับหลายประเทศที่รายได้ต่ำอยู่ก่อนแล้ว
แต่พอมาถึงวัคซีนโควิด-19 ทางโครงการกลับจะต้องมีการไปตรวจสอบและทำข้อตกลงกับประเทศต่างๆ เสียก่อนว่าจะไปหาวัคซีนโควิด-19 ให้ได้เป็นจำนวนเท่าไร แล้วถึงจะสามารถติดต่อกับทางบริษัทผู้ผลิตยาได้
ซึ่งนี่เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้โครงการโคแวกซ์ประสบกับความล่าช้า เพราะกว่าจะตกลงหาวัคซีนให้ประเทศที่ยากจนได้สำเร็จ ประเทศที่รวยกว่าก็ทำข้อตกลงเอาวัคซีนเหล่านี้ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
“คุณไม่สามารถอ้างว่าเป็นตัวแทนของกลไกการจัดหาทั่วโลกได้หากคุณเป็นตัวแทนของ 4 เปอร์เซ็นต์ของอุปทานวัคซีนของโลก” นายอัลซาลานีกล่าวถึงการจัดหาวัคซีนของประเทศที่ร่ำรวย
ส่วนทางกลุ่มพันธมิตรวัคซีนกาวี เองก็ได้กล่าวว่า ความล่าช้าทำให้เกิดคำถามในเรื่องของเงินทุนที่สนับสนุนโครงการโคแวกซ์เช่นกัน
“โครงการโคแวกซ์เริ่มมีการทำข้อตกลงกับผู้ที่ผลิตวัคซีน ตามช่วงเวลาที่มีเงินเข้ามาสนับสนุนจากผู้ที่เข้าร่วมโครงการและบริจาค และถ้าหากมีเงินเป็นจำนวนที่พร้อมไว้แล้วก่อนหน้านี้ ก็จะสามารถล็อกจำนวนโดสวัคซีนได้ตั้งแต่ก่อนหน้านี้เช่นกัน” โฆษกกาวีกล่าวในแถลงการณ์ที่ส่งถึง Scientific American และย้ำว่าไม่ควรเปรียบเทียบกรณีการแจกวัคซีนโควิด-19 เทียบกับการฉีดวัคซีนชนิดอื่นๆเป็นรายวันก่อนหน้านี้
“ความท้าทายสำหรับการสร้างความมั่นใจในการเข้าถึงวัคซีนในช่วงการระบาดใหญ่ครั้งนี้นั้นถือว่าแตกต่างจากช่วงเวลาอื่นๆเพราะว่ามีความต้องการวัคซีนอยู่ในทุกที่และมีความคล้ายคลึงของความต้องการนี้อยู่ในช่วงเวลาเดียวกันเหมือนๆกันอีก ทุกประเทศล้วนแล้วแต่ได้รับผลกระทบ ดังนั้น คำถามที่ต้องตอบเกี่ยวกับทั้งประเด็นในเรื่องการผลิตและการจัดส่งวัคซีนขนาดใหญ่ จึงถือว่าเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อนเป็นอย่างยิ่ง” โฆษกกาวีระบุ
ดังนั้น แทนที่จะรอแต่โครงการโคแวกซ์อย่างเดียว หลายประเทศที่มีรายได้ต่ำและรายได้ปานกลางจึงได้เริ่มที่จะทำข้อตกลงวัคซีนเป็นของตัวเอง
โดยมีการเจรจาข้อตกลงโดสวัคซีนตรงกับบริษัทผู้ผลิตและประเทศอื่นๆโดยตรง
ซึ่งแม้ว่านี่จะเป็นวิธีการที่เสี่ยง เนื่องจากมีการวิจารณ์ว่าบางประเทศ อาทิ ประเทศจีนได้ดำเนินการนโยบายการทูตวัคซีน ด้วยการบริจาควัคซีนซิโนแวคและซิโนฟาร์มเพื่อแลกกับการแผ่อิทธิพลทางการเมืองเหนือภูมิภาค
แต่ทางด้านของ นพ.อูดายาคุมารกล่าวว่าประเทศยากจนเหล่านี้ไม่มีทางเลือกที่มากนัก นอกเหนือจากการรับบริจาคอย่างเดียว
อีกประเด็นที่มีความกังวลกัน ก็คือ การเจรจาต่อรองวัคซีนเองในบางครั้งจะทำให้ประเทศที่จนกว่าได้วัคซีนหลักที่ไม่มีประสิทธิภาพมากกว่า
โดย นพ.อูดายาคุมารกล่าวว่า แม้ว่า เวลานี้จะยังไม่มีการเปรียบเทียบโดยตรงระหว่างประสิทธิภาพของวัคซีนที่ผลิตจากประเทศจีน กับวัคซีนที่พัฒนาในสหรัฐฯและยุโรป แต่ผู้เชี่ยวชาญก็ได้มีการประมาณการณ์ว่า วัคซีนที่ประเทศจีนได้เสนอนั้นมีประสิทธิภาพต่ำกว่าวัคซีน mRNA อาทิ ไฟเซอร์และโมเดอร์นาที่มักจะใช้ในประเทศที่พัฒนาแล้ว
ความล่าช้าของการฉีดวัคซีนในทวีปแอฟริกา (อ้างอิงวิดีโอจากสำนักข่าว ENCA)
นายอเลน อัลซาลานี เภสัชกรด้านวัคซีนโครงการแพทย์ไร้พรมแดน ยังระบุด้วยว่า ประเด็นเรื่องกระแสข่าวผลข้างเคียงลิ่มเลือดอันเกี่ยวกับวัคซีนนั้นก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ลดความต้องการวัคซีนลงทั่วโลก
โดยเฉพาะในประเทศรายได้ต่ำก็มีกรณีที่ประชาชนมีความต้องการวัคซีนไฟเซอร์และโมเดอร์นาซึ่งเป็นวัคซีนแบบ mRNA ที่ประเทศพัฒนาแล้วได้ฉีดให้ประชาชนของตัวเองเสียมากกว่า
“แม้ว่าในสหรัฐอเมริกาและในยุโรปจะเริ่มมีการแจกวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าและวัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ผมก็ไม่มั่นใจว่าจะช่วยได้มากน้อยแค่ไหน” นายอัลซาลานีกล่าว
ซึ่งเรื่องนี้ เริ่มจะเป็นประเด็นที่สาธารณรัฐคองโก โดยรัฐบาลประเทศคองโกนั้นได้มีการแจกจ่ายวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าไปเป็นจำนวนกว่า 1.7 ล้านโดส ขณะที่บริษัทกำลังสืบสวนสอบสวนกับกรณีที่มีรายงานการเกิดลิ่มเลือด โดยในช่วงเวลาที่หน่วยงานด้านการยาของยุโรปกำลังจะสืบสวนทำให้เกิดความกระจ่างในประเด็นเรื่องของวัคซีน วัคซีนที่อยู่ในประเทศคองโกก็กำลังจะหมดอายุ และโคแวกซ์เองก็เป็นผู้รับผิดชอบวัคซีนถึงจำนวน 75 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนวัคซีนทั้งหมดที่จะฉีดให้กับทวีปแอฟริกาเช่นกัน
ผลจากกระแสข่าวดังกล่าว ทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าตามมา ทำให้เกิดข่าวลือที่แพร่หลาย และทำให้เกิดการไม่ยอมไปฉีดวัคซีน
นพ.เฟรดดี้ เอ็นโคซี ผู้อำนวยการองค์กร VillageReach องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ได้ออกมาระบุว่า เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. มีประชาชนน้อยกว่า 1 เปอร์เซ็นต์ของประเทศคองโกได้รับวัคซีนไปแล้วแค่เพียง 1 โดสเท่านั้น
แต่แม้ว่าประเทศที่กำลังพัฒนาจะสามารถสรรหาวัคซีนอันมีประสิทธิภาพเช่นวัคซีน mRNA มาได้จริงๆ ปัญหาอีกประการที่ตามมาก็คือการเก็บรักษาวัคซีนให้มีความเย็นในขั้นตอนการขนส่งวัคซีนไปยังที่ห่างไกลต่างๆ
โดยเฉพาะในกรณีของประเทศคองโก ที่เป็นประเทศที่ใหญ่เป็นอันดับ 11 ของโลกที่ยังคงขาดแคลนระบบสาธารณสุขด้านสุขภาพและบุคลากรที่จะดูแลจัดการวัคซีนในพื้นที่ที่ห่างไกล
ส่วนที่ภูมิภาคอื่นของโลก อาทิ ที่ประเทศเปรู ก็ประสบกับปัญหาจำนวนการเสียชีวิตต่อประชากรจากไวรัสโควิด-19 สูงที่สุดในโลกเช่นกัน และความวุ่นวายทางการเมืองที่เกิดขึ้น ณ ประเทศเปรูนั้นก็นำไปสู่อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การแจกจ่ายวัคซีนล่าช้าลงไปอีก ซึ่งความวุ่นวายทางการเมืองดังกล่าวนั้นได้นำไปสู่การจัดการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 6 มิ.ย. เพื่อเลือกตั้งประธานาธิบดีของประเทศคนที่ 5 ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา
โดยผลจากความไม่เสถียรของผู้ถืออำนาจบริหารประเทศ ผนวกกับการที่ประเทศเปรูนั้นมีพื้นที่อันห่างไกลที่สลับซับซ้อน ก็ทำให้มีประชากรแค่น้อยกว่า 6 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ได้รับการฉีดวัคซีน
ปัญหากรณีที่มีนักการเมืองของเปรูบางคนแอบไปฉีดวัคซีนโควิด-19 (อ้างอิงวิดีโอจาก WION News)
สรุปก็คือว่า การฉีดวัคซีนให้กับประชาชนทั้งโลกนั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่ประเทศร่ำรวยและบริษัทต่างๆจะเข้ามาให้การช่วยเหลือนั่นเอง
นพ.ริชาร์ด มาร์ลิงค์ ผู้อํานวยการสถาบันสุขภาพโลกรัตเจอร์ส กล่าวว่า แม้จะมีข่าวว่าในช่วงเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ทีมบริหารของประธานาธิบดีไบเดนจะประกาศความช่วยเหลือเรื่องวัคซีนโควิด-19
แต่ทว่าสิ่งที่จะต้องเป็นรูปธรรมก็คือการจัดตั้งและขยายโรงงานเพิ่มเติมเพื่อผลิตวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19,การเปิดศูนย์เพิ่มเติมเพื่อที่จะฝึกฝนบุคลากรที่มีความจำเป็นในด้านต่างๆ ซึ่งเรื่องเหล่านี้นั้นควรจะเป็นสิ่งที่จะต้องทำทันทีเพื่อที่จะแก้ไขปัญหาด้านคอขวดของวัคซีนที่จะไปกระจุกตัวอยู่ที่ใดที่หนึ่ง และจะแก้ปัญหาทำให้ประเทศในภูมิภาคแอฟริกาและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นสามารถเข้าถึงวัคซีนได้ง่ายขึ้นอีกด้วย
“ผมหวังว่าสิ่งที่โรคระบาดนี้จะสอนเรา ก็คือว่าการลงทุนในระบบสาธารณสุขนั้นก็มีความสำคัญเช่นเดียวกับการลงทุนเพื่อที่จะรักษาสุขภาพของแต่ละบุคคล” นพ.มาร์ลิงค์กล่าวทิ้งท้าย
เรียบเรียงจาก:https://www.scientificamerican.com/article/covax-effort-to-vaccinate-the-world-is-faltering/
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/