"....องค์การบริหารส่วนตำบลราชาเทวะ มีพื้นที่ทั้งหมดเพียง 31 ตารางกิโลเมตร คิดเป็น 19,375 ไร่ (ในจำนวนนี้ใช้เป็นพื้นที่สนามบินสุวรรณภูมิ จำนวน 9,451 ไร่) ซึ่งจะเหลือเป็นพื้นที่เหลือเพียง 9,924 ไร่เท่านั้น มีครัวเรือนเพียง 15,185 หลังคาเรือนเท่านั้น หากจะเปรียบเทียบให้เห็นชัดเสาไฟกินรี 1 ต้นจะเท่ากับ 1 ครัวเรือนเลยทีเดียว ซึ่งเป็นกรณีที่ผิดปกติอย่างมาก..."
.............................................
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) : เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 2564 นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อขอให้ไต่สวนการจัดซื้อเสาไฟประติมากรรมกินรี พลังงานโซล่าร์เซลล์ขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ราชาเทวะ จ.สมุทรปราการ โดยเห็นว่าการจัดซื้อดังกล่าว อาจส่อไปในทางทุจริต และไม่มีความคุ้มค่าต่อการใช้จ่ายเงินแผ่นดิน เนื่องจากบางส่วนมีการติดตั้งในซอยที่เป็นป่าหญ้ารกทึบ มีเสาระยะสั้นแต่ละต้นถี่เกินไป และอาจเอื้อประโยชน์ให้แก่เอกชนบางราย
โดยเมื่อตรวจสอบการดำเนินโครงการดังกล่าว พบว่า เสาไฟกินรีแต่ละต้นราคาเฉลี่ยต้นละ 95,485 บาท โดยมีการประมูลติดตั้งมาตั้งแต่ปี 2556 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบันกว่า 8 ปีแล้ว ดำเนินการไปแล้วมากกว่า 12 สัญญา มูลค่า 1,079,291,000 บาท โดยมีเสาไฟกินรีระบบโซล่าร์เชลล์ติดตั้งแล้วกว่า 11,339 ต้น ขณะที่ อบต.ราชาเทวะมีพื้นที่เพียง 31 ตร.กม.คิดเป็น 19,375 ไร่ (ในจำนวนนี้ใช้เป็นพื้นที่สนามบินสุวรรณภูมิ จำนวน 9,451 ไร่) จะเหลือเป็นพื้นที่เพียง 9,924 ไร่เท่านั้น มีครัวเรือนเพียง 15,185 หลังคาเรือน หากจะเปรียบเทียบให้เห็นชัดเสาไฟกินรี 1 ต้นจะเท่ากับ 1 ครัวเรือนเลยทีเดียว เป็นกรณีที่ผิดปกติอย่างมาก
(อ่านประกอบ ร้อง ป.ป.ช.สอบ อบต.ราชาเทวะซื้อ‘เสาไฟกินรี’-ผูกจ้างเอกชนเจ้าเดียว 12 สัญญาพันล.)
ปรากฏข้อมูลรายละเอียด ในหนังสือร้องเรียนต่อ ป.ป.ช. ดังต่อไปนี้
สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย
เรื่อง ขอให้ใช้อำนาจตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 234(2) ประกอบ พรป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 28(2) เพื่อไต่สวนและวินิจฉัยว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม เพื่อดำเนินการต่อไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต กรณีการจัดซื้อจัดจ้างและติดตั้งเสาไฟประติมากรรมกินรีพร้อมโคมไฟระบบพลังงานแสงอาทิตย์(โซล่าเซลล์) ขององค์การบริหารส่วนตำบลราชาเทวะ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ
เรียน ท่านคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
ผู้ถูกกล่าวหา (1) นายทรงชัย นกขมิ้น นายกองค์การบริหารส่วนตำบลราชาเทวะ
ตามที่สื่อมวลชน โซเชียลมีเดียและเพจชื่อดังหลายๆเพจ อาทิ สำนักข่าวอิศรา ชมรมSTRONGต้านทุจริตประเทศไทย เฟซบุ๊ก ต้องแฉ ฯลฯ ได้ช่วยกันแฉและตีแผ่ข้อพิรุธโครงการจัดซื้อเสาไฟประติมากรรมกินรีพลังงานแสงอาทิตย์(โชล่าเซลล์) ขององค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)ราชาเทวะ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ หลายต่อหลายโครงการฯหรือหลายสัญญา ที่อาจมีลักษณะส่อไปในทางทุจริต และไม่มีความคุ้มค่าต่อการใช้จ่ายเงินแผ่นดิน เนื่องจากบางส่วนมีการติดตั้งในซอยที่เป็นป่าหญ้ารกทึบ มีระยะเสาแต่ละต้นที่ถี่เกินไป และอาจเป็นการเอื้อประโยชน์ให้เอกชนบางราย จนกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอยู่ในขณะนี้นั้น
เมื่อตรวจสอบการดำเนินโครงการดังกล่าวพบว่า องค์การบริหารส่วนตำบลราชาเทวะ โดยผู้ถูกกล่าวหา ได้ดำเนินโครงการจัดซื้อครุภัณฑ์ไฟฟ้าและวิทยุ เสาไฟประติมากรรมกินรีพร้อมโคมไฟระบบพลังงานแสงอาทิตย์(โซล่าเซลล์) มาหลายโครงการแล้วก่อนหน้านี้ อาทิ
ในปี พ.ศ.2556 จำนวน 2 สัญญา วงเงิน 64.76 ล้านบาท รวมเสาไฟ 648 ต้น ได้แก่
1)โครงการจัดซื้อเสาไฟฟ้าทำด้วยเหล็กชุบกาวาไนท์ สูงไม่น้อยกว่า 9 เมตร พร้อมระบบไฟฟ้าแสงสว่างบนทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 3256 (ถนนกิ่งแก้ว) พร้อมรูปประติมากรรมกินรี จำนวนรวม 628 ชุด ผู้ชนะการประมูล คือ บริษัท บางกอกไฟถนน จำกัด วงเงิน 62,830,000 บาท ราคาเฉลี่ยต้นละ 100,048 บาท ทำสัญญากันเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2556
2)โครงการซื้อเสาไฟฟ้าพร้อมติดตั้งระบบไฟฟ้าแสงสว่างบนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3256 (ถนนกิ่งแก้ว) พร้อมประติมากรรมกินรี เพิ่มเติม จำนวน 20 ชุด ผู้ชนะการประมูล คือ บริษัท บางกอกไฟถนน จำกัด วงเงิน 1,930,000 บาท ราคาเฉลี่ยต้นละ 96,500 บาท ทำสัญญากันเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2556
***เมื่อตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกเพิ่มเติมพบว่า งานโครงการจัดซื้อเสาไฟฟ้ารูปประติมากรรมกินรี จำนวน 2 สัญญา ในช่วงปี พ.ศ.2556 ของ อบต.ราชาเทวะ ถูกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบพบปัญหาในขั้นตอนการดำเนินงานของอบต.ราชาเทวะ และทำหนังสือแจ้งให้เรียกเงินคืนจากผู้เกี่ยวข้อง เป็นจำนวน 67.29 ล้านบาท โดยผลการตรวจสอบของ สตง. ระบุว่า อบต. ราชาเทวะ ได้ทำสัญญาจัดซื้อเสาไฟฟ้าแสงสว่าง พร้อมรูปประติมากรรมกินรี จากเอกชน โดยที่ยังไม่ได้ดำเนินการจัดส่งรูปแบบรายละเอียดของงานให้แขวงการทางสมุทรปราการพิจารณาก่อนการดำเนินงาน และเมื่อแขวงการทางสมุทรปราการ ได้เชิญ อบต. ราชาเทวะ มาหารือแนวทางการติดตั้งและรื้อถอนไฟฟ้า เพื่อนำไปติดตั้งในพื้นที่รับผิดชอบ หรือจัดเก็บเสาไฟฟ้าไว้ก่อนจนกว่าจะหาที่เหมาะสม พร้อมให้แขวงการทางสมุทรปราการเป็นผู้ดำเนินการติดตั้งตามมาตรฐานกรมทางหลวงอีกครั้ง
แต่ อบต.ราชาเทวะ กับไม่ได้ปฏิบัติตามมติที่ประชุม อีกทั้งยังไปจัดทำสัญญาจัดซื้อเสาไฟฟ้ามาเพิ่มเติมอีก เป็นเหตุให้ราชการเกิดความเสียหายเป็นเงินจำนวน 67.29 ล้านบาท สตง. จึงได้ทำหนังสือแจ้งให้ อบต.ราชาเทวะ ดำเนินการเรียกเงินคืนจากผู้เกี่ยวข้อง เป็นจำนวน 67.29 ล้านบาท หากไม่สามารถดำเนินการได้ให้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงเพื่อหาผู้รับผิดชอบและดำเนินการทางวินัยกับเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องต่อไป
***ในช่วงปี พ.ศ.2558-2561 ผู้ถูกร้องถูกหัวหน้าคสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) ใช้อำนาจมาตรา 44 ออกคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ จึงไม่ปรากฎว่ามีโครงการจัดซื้อจัดจ้างโครงการจัดซื้อครุภัณฑ์เสาไฟประติมากรรมกินรีพร้อมโคมไฟ ระบบพลังงานแสงอาทิตย์ (โซล่าเซลล์) เกิดขึ้นในช่วงนี้ ต่อมาในปี พ.ศ.2561 ผู้ถูกกล่าวหาจึงได้รับคืนตำแหน่ง
ปี พ.ศ.2562 จำนวน 2 สัญญา วงเงิน 198,840,000 บาท ได้แก่
1)โครงการปรับปรุงเสาไฟฟ้ารูปประติมากรรมกินรี ในเขตทางหลวงหมายเลข 3256 (ถนนกิ่งแก้ว) ด้วยวิธีการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ ผู้ชนะการประมูล คือ บริษัท บางกอกไฟถนน จำกัด วงเงิน 27,000,000 บาท ทำสัญญากันเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2562
2)โครงการจัดซื้อครุภัณฑ์ไฟฟ้าและวิทยุ เสาไฟประติมากรรมกินรี พร้อมโคมไฟระบบพลังงานแสงอาทิตย์ (โซล่าเซลล์) จำนวน 1,811 ต้น ด้วยวิธีการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ ผู้ชนะการประมูล คือ บริษัท บางกอกไฟถนน จำกัด วงเงิน 171,840,000 บาท ราคาเฉลี่ยต้นละ 94,887 บาท ทำสัญญากันเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2562
ปี พ.ศ.2563 จำนวน 5 สัญญา วงเงิน 332,730,000 บาท รวมเสาไฟ 3,506 ต้น ได้แก่
1)โครงการประกวดราคาซื้อจัดซื้อครุภัณฑ์ไฟฟ้าและวิทยุ เสาไฟประติมากรรมกินรีพร้อมโคมไฟ ระบบพลังงานแสงอาทิตย์ (โซล่าเซลล์) ชนิดกิ่งเดี่ยว พร้อมติดตั้งบริเวณริมคลองลาดกระบัง หมู่ที่ 3 หมู่ที่ 4 หมู่ที่ 5 หมู่ที่ 6 หมู่ที่ 7 และบริเวณริมคลองเทวะคลองตรง หมู่ที่ 10 จำนวน 600 ต้น ผู้ชนะการประมูล คือ บริษัท บางกอกไฟถนน จำกัด วงเงิน 56,950,000 บาท ราคาเฉลี่ยต้นละ 94,917 บาท ทำสัญญากันเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2563
2)โครงการจัดซื้อเสาไฟประติมากรรมกินรีพร้อมโคมไฟ ระบบพลังงานแสงอาทิตย์ (โซล่าเซลล์) ชนิดกิ่งเดี่ยว พร้อมติดตั้งภายในตำบลราชาเทวะ จำนวน 536 ต้น ผู้ชนะการประมูล คือ บริษัท บางกอกไฟถนน จำกัด วงเงิน 50,920,000 บาท ราคาเฉลี่ยต้นละ 95,000 บาท ทำสัญญากันเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2563
3)โครงการจัดซื้อเสาไฟประติมากรรมกินรีพร้อมโคมไฟระบบพลังงานแสงอาทิตย์ (โซล่าเซลล์) ชนิดกิ่งเดี่ยว จำนวน 347 ต้นพร้อมติดตั้งภายในเขตตำบลราชาเทวะ จำนวน 16 จุด ผู้ชนะการประมูล คือ บริษัท บางกอกไฟถนน จำกัด วงเงิน 32,950,000 บาท ราคาเฉลี่ยต้นละ 94,957 บาท ทำสัญญากันเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2563
4)โครงการจัดซื้อเสาไฟประติมากรรมกินรีพร้อมโคมไฟระบบพลังงานแสงอาทิตย์ (โซล่าเซลล์) ชนิดกิ่งเดี่ยว จำนวน 788 ต้น พร้อมติดตั้งภายในเขตตำบลราชาเทวะ จำนวน 2 จุด ผู้ชนะการประมูล คือ บริษัท บางกอกไฟถนน จำกัด วงเงิน 74,760,000 บาท ราคาเฉลี่ยต้นละ 94,873 บาท ทำสัญญากันเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2563
5)โครงการจัดซื้อครุภัณฑ์เสาไฟประติมากรรมกินรีพร้อมโคมไฟ ระบบพลังงานแสงอาทิตย์ (โซล่าเซลล์) ชนิดกิ่งเดี่ยว พร้อมติดตั้งภานในเขตตำบลราชาเทวะ จำนวน 1,235 ต้น ผู้ชนะการประมูล คือ บริษัท บางกอกไฟถนน จำกัด วงเงิน 117,150,000 บาท ราคาเฉลี่ยต้นละ 94,858 บาท ทำสัญญากันเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2563
ปี พ.ศ.2564 จำนวน 3 โครงการ วงเงิน 482,985,000 บาท รวมเสาไฟ 5,090 ต้น ได้แก่
1)โครงการจัดซื้อเสาไฟประติมากรรมกินรีพร้อมโคมไฟ ระบบพลังงานแสงอาทิตย์ (โซล่าเซลล์) ชนิดกิ่งเดี่ยว พร้อมติดตั้งภายในเขตตำบลราชาเทวะ จำนวน 1,456 ต้น ผู้ชนะการประมูล คือ บริษัท บางกอกไฟถนน จำกัด วงเงิน 138,080,000 บาท ราคาเฉลี่ยต้นละ 94,835 บาท ทำสัญญากันเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2564
2)โครงการจัดซื้อเสาไฟประติมากรรมกินรีพร้อมโคมไฟ ระบบพลังงานแสงอาทิตย์ (โซล่าเซลล์) ชนิดกิ่งเดี่ยว พร้อมติดตั้งภายในเขตตำบลราชาเทวะ จำนวน 1,823 ต้น ผู้ชนะการประมูล คือ บริษัท บางกอกไฟถนน จำกัด วงเงิน 172,860,000 บาท ราคาเฉลี่ยต้นละ 94,822 บาท ประกาศผลผู้ชนะการประมูลเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2564
3)ในวันที่ 9 เมษายน พ.ศ.2564 ที่ผ่านมา องค์การบริหารส่วนตำบลราชาเทวะ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ โดยผู้ถูกกล่าวหา ยังได้จัดทำโครงการประกวดราคาซื้อจัดซื้อครุภัณฑ์ไฟฟ้าและวิทยุ เสาไฟประติมากรรมกินรีพร้อมโคมไฟ ระบบพลังงานแสงอาทิตย์ (โซล่าเซลล์) ชนิดกิ่งเดี่ยว พร้อมติดตั้ง จำนวน 1,811 ต้น ด้วยวิธีการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ ขึ้นมาอีก วงเงิน 172,045,000 บาท ราคาเฉลี่ยต้นละ 95,069 บาท ซึ่งคาดว่าผู้ชนะการประมูลน่าจะเป็นรายเดิม
ปี พ.ศ.2564 ล่าสุด
นอกจากนั้น ล่าสุดเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา มีการประชุมสภาองค์การบริหารส่วนตำบลราชาเทวะ เพื่อที่จะทำเรื่องจ่ายเงินสะสมและจะดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างเสาไฟกินรีอีก 720 ต้น รวมเป็นเงินกว่า 68,400,000 บาทอีกด้วย
โดยสรุป การจัดทำโครงการเสาไฟประติมากรรมกินรีพร้อมโคมไฟ ระบบพลังงานแสงอาทิตย์ (โซล่าเซลล์) ขององค์การบริหารส่วนตำบลราชาเทวะ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2556 มาจนถึงปัจจุบันระยะเวลาประมาณ 8 ปี ดำเนินการไปแล้วประมาณ 12 โครงการฯ วงเงินประมาณ 1,079,291,000 บาท ติดตั้งเสาไฟฟ้าประติมากรรมกินรีพร้อมโคมไฟไปแล้วทั้งสิ้น 11,339 ต้น เฉลี่ยต้นละ 95,480 บาท
ทั้งนี้องค์การบริหารส่วนตำบลราชาเทวะ มีพื้นที่ทั้งหมดเพียง 31 ตารางกิโลเมตร คิดเป็น 19,375 ไร่ (ในจำนวนนี้ใช้เป็นพื้นที่สนามบินสุวรรณภูมิ จำนวน 9,451 ไร่) ซึ่งจะเหลือเป็นพื้นที่เหลือเพียง 9,924 ไร่เท่านั้น มีครัวเรือนเพียง 15,185 หลังคาเรือนเท่านั้น หากจะเปรียบเทียบให้เห็นชัดเสาไฟกินรี 1 ต้นจะเท่ากับ 1 ครัวเรือนเลยทีเดียว ซึ่งเป็นกรณีที่ผิดปกติอย่างมาก
ซึ่งเสาไฟกินรีแต่ละต้นมีราคามากกว่าต้นละ 95,480 บาท ซึ่งมีการดำเนินการติดตั้งในซอยเล็ก ซอยน้อย และในถนนทางหลวงในพื้นที่ตำบลราชาเทวะ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2556 มาจนถึงปัจจุบัน ระยะเวลากว่า 8 ปี รวมแล้วประมาณ 12 สัญญา คิดเป็นเงินกว่า 1,079,291,000 บาท ที่สำคัญคือ มีเพียงบริษัทเดียวที่สามารถประมูลงานดังกล่าวได้เป็นคู่สัญญาจัดทำโครงการจัดซื้อจัดหาและติดตั้งเสาไฟฟ้ารูปประติมากรรมกินรีให้กับ อบต. ราชาเทวะ มาอย่างต่อเนื่องจนเป็นข้อผิดสังเกต
ทั้งนี้ สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญได้ลงพื้นที่ตรวจสอบสภาพข้อเท็จจริงก็พบว่าในพื้นที่ของ อบต.ราชาเทวะ ทุกตรอก ซอก ซอย ซึ่งแม้เป็นซอยแคบๆจะเต็มไปด้วยเสาไฟประติมากรรมกินรีพลังงานโชล่าเซลล์เต็มไปหมดทั้งสองฝั่งซอย บางจุดมีระยะห่างประมาณ 10-14 เมตรก็มี ทั้ง ๆ ที่โยมาตรฐานควรจะมีระยะห่างประมาณ 1 เส้น หรือ 20 เมตร และบางซอยแทบจะเป็นซอยร้างมีหญ้าขึ้นรกชัฏ แต่ก็ยังมีเสาไฟกินรีไปติดตั้งอย่างมากมาย
นอกจากนั้น บริษัทที่ประมูลงานได้ทุกสัญญาที่ผ่านมา มีเพียงบริษัทเดียวเท่านั้น จึงเป็นข้อผิดปกติ ซึ่งอาจเข้าข่ายพรบ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 หรือกฎหมายฮั้วประมูลหรือไม่ได้ แม้จะอ้างว่าดำเนินการประมูลตามกฎหมายการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 แล้วก็ตาม
สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ขอตั้งข้อสงสัยในการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างและติดตั้งเสาไฟประติมากรรมกินรีพร้อมโคมไฟระบบพลังงานแสงอาทิตย์(โซล่าเซลล์) ขององค์การบริหารส่วนตำบลราชาเทวะ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ แม้จะอ้างว่าดำเนินการประมูลตามกฎหมายการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 แล้วก็ตาม แต่ในประเด็นเหล่านี้ มิใช่ประเด็นที่จะอ้างได้ว่าเป็นการจัดซื้อจัดจ้างและติดตั้งอย่างถูกต้อง ดังนี้
1)ราคาของเสาไฟประติมากรรมกินรีพร้อมโคมไฟระบบพลังงานแสงอาทิตย์(โซล่าเซลล์) พร้อมการติดตั้ง มีราคาสูงเฉลี่ยต้นละประมาณ 95,480 บาท ซึ่งเมื่อเทียบกับลักษณะ ขนาด รูปร่าง และราคาในท้องตลาดทั่วไป น่าจะมีราคาที่แพงเกินไปกว่าเท่าตัวหรือไม่ อย่างไร
2)การออกแบบในข้อกำหนดการว่าจ้าง หรือ ทีโออาร์ของเสาไฟประติมากรรมกินรีพร้อมโคมไฟระบบพลังงานแสงอาทิตย์(โซล่าเซลล์) มีความจำเป็นและประโยชน์เพียงใดที่เสาไฟประติมากรรมแต่ละต้นจะต้องเป็นลักษณะอลูมิเนียมสีทอง พร้อมลวดลายคล้ายใบโพธิ์ตลอดทั้งต้น
3)การติดตั้งเสาไฟประติมากรรมกินรีพร้อมโคมไฟระบบพลังงานแสงอาทิตย์(โซล่าเซลล์) มีการติดตั้งในระยะที่ถี่เกินความจำเป็น โดยมีการติดตั้งทุกถนน ทุกตรอก ซอกซอย ไม่ว่าจะเป็นถนนใหญ่ ซอยเล็กแคบเพียงใด ก็มีการติดตั้งขนาบทั้งสองฝั่งถนนหรือซอย โดยมีระยะห่างระว่างต้นในหลายๆจุด มีความห่างเพียง 10 - 14 เมตรเท่านั้น ไม่มีมาตรฐานการติดตั้ง ไม่มีผัง หรือแบบแปลนการติดตั้ง ทั้ง ๆ ที่โดยมาตรฐานทั่วไปจะติดตั้งในระยะ 1 เส้นหรือ 20 เมตร เชื่อว่าเป็นการติดตั้งเอาตามอำเภอใจของผู้รับเหมา ที่ถูกกำหนดจำนวนไว้ตายตัวในแต่ละซอย หรือถนน นั่นเอง
4)การติดตั้งเสาไฟประติมากรรมกินรีพร้อมโคมไฟระบบพลังงานแสงอาทิตย์(โซล่าเซลล์) มีการติดตั้งในซอยที่ยังเป็นถนนดิน ที่มีหญ้าขึ้นรกชัฏ บริเวณรอบสระน้ำ และไม่มีบ้านเรือน หรือสิ่งปลูกสร้างอยู่เลย หรือถ้ามี ก็จะตั้งอยู่ห่างกันมาก และบางถนนสภาพถนนเป็นหลุม เป็นบ่อแทบจะใช้สัญจรไม่ได้ แต่เหตุใดจึงมีการติดตั้งเสาไฟดังกล่าวเต็มถนนไปหมด
5)มีการติดตั้งเสาไฟประติมากรรมกินรีพร้อมโคมไฟระบบพลังงานแสงอาทิตย์(โซล่าเซลล์) ซ้ำซ้อนกับไฟถนนทั่วไปของกรมทางหลวง หรือกรมทางหลวงชนบท หรือ ฯลฯ โดยสังเกตได้ชัดเจนของสีไฟจากโคมไฟกินรีจะเป็นสีขาว แต่โคมไฟของถนนทั่วไปจะเป็นสีเหลือง ทำให้หลอกตาผู้ใช้รถใช้ถนน
6)องค์การบริหารส่วนตำบลราชาเทวะ โดยผู้ถูกกล่าวหา ยังไม่ได้ชดใช้เงินค่าเสียหายทางราชการจำนวนเงินกว่า 67.29 ล้านบาท ซึ่งสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. ได้ตรวจพบว่าเป็นปัญหาจากการดำเนินโครงการในลักษณะเดียวกันไปเมื่อปี 2556 แต่ก็เงียบหายไป แถมยังจัดซื้อจัดจ้างกับบริษัทรายเดิมอีกด้วย ทั้ง ๆ ที่เคยมีการตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างโครงการนั้นว่าสร้างความเสียหายต่อราชการเป็นตัวงบประมาณค่อนข้างสูง เพราะเหตุใดถึงยังมีแผนสร้างเสาไฟดังกล่าวเพิ่มอีกเรื่อยๆ
7)การที่โครงการฯดังกล่าวมีผู้สนใจซื้อซองประกวดราคาจำนวนมาก แต่มีผู้ผ่านคุณสมบัติเพียง 2 ราย และเป็นรายเดิม ๆ เท่านั้น และสุดท้ายมีผู้ชนะการประมูลเป็นรายเดิมมาโดยตลอด เป็นการล็อคสเปก และเข้าข่ายการฝ่าฝืนพรบ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 หรือกฎหมายฮั้วประมูลหรือไม่
8)ในการแข่งขันการประมูลราคาบางโครงการฯ ผู้ที่ร่วมแข่งขันประมูลราคา ให้ราคาที่ต่ำกว่าราคากลางเกือบครึ่ง แต่กลับถูกปัดตก โดยอ้างการไม่ผ่านคุณสมบัติ ชี้ให้เห็นว่ามีการช่วยเหลือกันในทางเทคนิคเพื่อกีดกันผู้ที่เสนอราคาต่ำสุด ไม่ให้ชนะการประมูล ทำให้รัฐเสียหาย ใช่หรือไม่
9)การติดตั้งเสาไฟฟ้าดังกล่าว ชาวบ้านตั้งข้อสังเกตว่า มีการติดตั้งเข้าไปในพื้นที่ของที่ดินเอกชน และในถนนส่วนบุคคลด้วยหรือไม่ เพราะบางจุดติดตั้งเสาไฟอยู่ในพื้นที่ของชาวบ้าน การนำเอางบหลวงไปดำเนินการในที่ดินเอกชน เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายหรือเข้าข่ายการทุจริตต่อหน้าที่หรือไม่ อย่างไร
10)ข้อพิรุธเกี่ยวกับการกำหนดราคากลางของคณะกรรมการ/เจ้าหน้าที่ผู้กำหนดราคากลาง ซึ่งมีราคากลางที่แตกต่างกันไป ทั้งๆที่เป็นโครงการในลักษณะ รูปแบบ ขนาดเหมือนกันทุกโครงการฯ ตลอดระยะเวลากว่า 8 ปีที่ป่านมา แต่ราคากลางกลับไม่เสถียร แต่จะล้อเปลี่ยนแปลงไปตามวงเงินงบประมาณที่ถูกตั้งไว้ อันเชื่อได้ว่าเป็นพฤติการณ์ที่น่าสงสัย หรือไม่ อย่างไร
ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีหน้าที่และอำนาจเสนอมาตรการ ความเห็น และ ข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี รัฐสภา ศาล องค์กรอิสระ หรือองค์กรอัยการ ตามมาตรา 32 ในเรื่องที่เกี่ยวกับ (1) ปรับปรุงการปฏิบัติราชการ หรือวางแผนงานโครงการของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือ หน่วยงานของรัฐ เพื่อป้องกันหรือปราบปรามการทุจริต การกระทําความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการ หรือการกระทําความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม (2) จัดให้มีมาตรการและกลไกที่มีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบ ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนอย่างเข้มงวด (3) เสนอแนะให้มีการปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ หรือมาตรการใดที่เป็นช่องทาง ให้มีการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ หรือเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ให้เกิดผลดี ต่อราชการได้
กรณีการดำเนินโครงการจัดซื้อเสาไฟประติมากรรมกินรีพลังงานแสงอาทิตย์(โชล่าเซลล์) ขององค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)ราชาเทวะ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ หลายต่อหลายโครงการฯหรือหลายสัญญาดังรายละเอียดข้างต้นนั้น เป็นข้อผิดสังเกตหลายประการเกี่ยวกับพรบ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 และกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ดังได้กล่าวแล้ว
สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงใคร่ร้องเรียนมายังท่านคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ขอให้ใช้อำนาจตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 234(2) ประกอบ พรป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 28(2) เพื่อไต่สวนและวินิจฉัยว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม เพื่อดำเนินการต่อไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต กรณีการจัดซื้อจัดจ้างและติดตั้งเสาไฟประติมากรรมกินรีพร้อมโคมไฟระบบพลังงานแสงอาทิตย์(โซล่าเซลล์) ขององค์การบริหารส่วนตำบลราชาเทวะ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ อีกทั้งควรใช้อำนาจตามมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 เสนอแนะให้คณะรัฐมนตรี หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามกฎหมาย กำหนดมาตรการอย่างใด ๆ เพื่อมิให้ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ใช้เป็นช่องทางในการแสวงหาผลประโยชน์ หรือให้มีการทุจริตหรือประพฤติมิชอบได้ในกรณีดังกล่าวอีกต่อไป
ท้ายนี้หากท่านคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ดำเนินการเป็นประการใด และมีผลเป็นอย่างใด ๆ แล้วกรุณาแจ้งให้ผู้ร้องฯและสมาคมฯและสาธารณชนได้ทราบด้วย ทั้งนี้ตามมาตรา 41 มาตรา 51 มาตรา 59 มาตรา 63 และมาตรา 78 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ประกอบพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 และพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ.2546 ด้วย จักขอบพระคุณยิ่ง
อนึ่ง ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา รายงานไปแล้วว่า การใช้จ่ายงบประมาณของ อบต.ราชาเทวะ ในการจัดทำโครงการจัดซื้อเสาไฟฟ้ารูปประติมากรรมกินรี ที่ปรากฏชื่อ บริษัท บางกอกไฟถนน จำกัด เอกชนรายเดียวผูกขาดรับงานเป็นคู่สัญญาทุกโครงการนั้น ปัจจุบันยังไม่มีการชี้มูลความผิดจากหน่วยงานตรวจสอบแห่งใด
ผู้เกี่ยวข้องทั้งในส่วนภาครัฐ และเอกชนที่ปรากฎในข่าว จึงยังถือเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่
ขณะที่ นายทรงชัย นกขมิ้น นายก อบต.ราชาเทวะ ออกมาให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า โครงการติดตั้งเสาไฟกินรี เป็นการใช้งบประมาณตามแผนที่มีการประชาคมกับชาวบ้านในพื้นที่มาก่อนแล้ว โดยเสาไฟกินรีใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ ลงทุนครั้งเดียวต้นละ 94,844 บาท
โดยโครงการนี้ได้มีการสอบถามราคาจัดทำเสาไฟกินรีที่มีตัวเสา รวมถึงแผงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์จากผู้ประกอบการหลาย ๆ เจ้า แล้วจึงนำราคาที่ต่ำสุดมาเป็นราคากลาง จากนั้นจึงเปิดประมูลโครงการในระบบ E-Bidding ให้ผู้ประมูลเข้ามาเสนอราคาแข่งขันกัน โดยที่ยืนยันว่า อบต.ราชาเทวะ ไม่สามารถเข้าไปแทรกแซงได้ เป็นเรื่องของผู้ประกอบการที่จะแข่งขันราคากันในระบบ E-Bidding ของกรมบัญชีกลาง
ทั้งนี้ ยืนยันว่าทุกตรอกซอกซอยมีเสาไฟกินรีอยู่ทั่วไปหมด ในเนื้อที่ 31 ตารางกิโลเมตร หรือ 10 กว่าหมู่บ้าน และอนาคตยังมีแผนที่ติดตั้งเพิ่มอีก แต่อยู่ระหว่างรออนุมัติงบประมาณ ซึ่งการติดตั้งเสาไฟในจุดดังกล่าวมีความจำเป็น ก็เพื่ออำนวยความสะดวกและสร้างความปลอดภัยในกับประชาชน และบางทีมีชาวต่างชาติเข้ามา จึงต้องทำให้มันดูดีเป็นประตูสู่ประเทศไทย เนื่องจากพื้นที่ อบต.ราชาเทวะ เป็นที่ตั้งสนามบินสุวรรณภูมิ
นายทรงชัย กล่าวต่อว่า ยอมรับว่าการติดตั้งอาจมีบางจุดที่ถี่เนื่องจากบางจุดอาจจะติดหน้าบ้านประชาชน หรือเป็นหัวโค้ง แต่มาตรฐานตั้งไว้ 22 เมตร ซึ่งที่ถูกกระแสโจมตี ส่วนตัวเชื่อว่าเป็นเรื่องของการเมืองจากฝ่ายตรงข้าม คนที่ด่าตนในโซเชียลเชื่อว่าไม่ใช่คนในพื้นที่ อยากท้าให้มาถามคนในพื้นที่ว่าได้ประโยชน์หรือไม่ (อ้างอิงข่าวส่วนนี้จากไทยรัฐ https://www.thairath.co.th/news/local/central/2112056)
ส่วนผลการตรวจสอบของ ป.ป.ช.ในคดีนี้จะออกมาเป็นอย่างไรต้องติดตามดูกันต่อไป
อ่านประกอบ :
ทั่วปท. 287 โครงการ 1,361 ล.! บ.บางกอกไฟฯ คว้างานเสาไฟรัฐ- อบต.ราชาเทวะ มากสุด 907 ล.
สตง.จี้ 'อบต.ราชาเทวะ' คืนเงิน67ล. เหตุบกพร่องเร่งรีบซื้อเสาไฟฟ้า-กินรี ปี 56
นายกอบต.ราชาเทวะ โต้ สตง.สอบเสาไฟฟ้ากินรี67ล. ยันทำถูกต้อง 'บิ๊กตู่' คืนตำแหน่ง ม.44 ด้วย
ฉบับเต็ม! ผลสอบ สตง.จัดซื้อเสาไฟฟ้ากินรี 67ล. ก่อน นายกฯ อบต.ราชาเทวะ โต้ไร้ปมทุจริต
หลังโดนสตง.เรียกเงินคืน 67ล.! อบต.ราชาเทวะ ซื้อเสาไฟกินรีแสงอาทิตย์ บ.เจ้าเดิม 1.8 พันต้น171ล.
พบอบต.ราชาเทวะ ควักอีก 27ล. ปรับปรุงเสาไฟกินรีที่ถูกสตง.เรียกเงินคืน 67ล.- คู่สัญญาเดิม
สนามบินอยู่เขต อบต. ต้องดูดี! นายกฯ ราชาเทวะ แจงทำเสาไฟกินรี 263ล.-บ.เจ้าเดียวได้งานโปร่งใส
ตามไปดู บ.บางกอกไฟถนน ขายเสากินรีแสงอาทิตย์ อบต.ราชาเทวะ 263 ล. - รอผู้บริหารชี้แจง
คู่เทียบอยู่สารคาม! แกะรอย อบต.ราชาเทวะ จัดซื้อเสาไฟกินรี171ล.แข่ง2เจ้า-ไม่เผยราคาประมูล
พลิกปูมข่าวเสาไฟกินรี อบต.ราชาเทวะ! ก่อนเพจต้องแฉ โชว์ภาพ-บ.เดียว 7 สัญญา 461 ล.
734 ล้าน 8 ปี 10 สัญญา! อบต.ราชาเทวะ ผูกจ้าง บ.เดียวรับงานเสาไฟกินรี
เจออีกสัญญา 172.8 ล.! ยอด อบต.ราชเทวะ ผูกซื้อเสาไฟกินรี บ.เดียว พุ่ง 907.2 ล.
ไส้ใน อบต.ราชาเทวะ ซื้อเสากินรี 428 ล. ปี 64 'คู่เทียบ' ยื่นซองต่ำหลายสิบล.แต่ชวดงานหมด
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/