“…การรับของบริจาค เป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยได้ แต่ช่วยได้เพียงชั่วคราว เพราะเบื้องหลังยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่คนในชุมชนคลองเตยจะต้องรับผิดชอบกันอีกมากมาย อาทิ ค่าน้ำ ค่าไฟ หรือค่าเทอม ดังนั้นการมีงานทำ จึงเป็นทางออกเดียวที่จะช่วยเยียวยาบรรเทาความเดือดร้อนนี้ ผมมีพื้นที่สวนผักใจกลางเมืองอยู่ในมือ ส่วนกลุ่มคลองเตยดีจังมีเป้าหมายที่จะช่วยคนในพื้นที่ชุมชนคลองเตย เราจึงใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ จัดโครงการจ้างงานนี้ขึ้นมา…”
……………………………………………………..
‘ชุมชนคลองเตย’ เป็นชุมชนแออัดขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ใจกลางกรุงเทพมหานคร ด้วยการมีประชาชนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม ทำให้ชุมชนนี้เป็นที่รวมปัญหาหลายอย่างในสังคม ไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางเศรษฐกิจ ความไม่เป็นธรรม หรือช่องว่างต่างๆ ทางสังคม ต่างมารวมตัวกันที่นี่
คนภายในชุมชนส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพรับจ้าง รับค่าแรงเป็นรายวัน โดยสภาพปกติ หลายคนมีรายรับไม่เพียงพอกับรายจ่าย ซ้ำร้ายเมื่อต้องมาเจอสถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด หลายคนต้องโดนพักงาน ลดเงินเดือน หนักสุดต้องถูกเลิกจ้าง เพราะอยู่ในชุมชนคลองเตยที่มีการระบาดในลักษณะ ‘คลัสเตอร์’
อย่างไรก็ตาม ช่วงปลายเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา มีผู้คิดโครงการบรรเทาความเดือดร้อนให้กับคนในชุมชนคลองเตย เพื่อให้พวกเขามีรายได้ ผ่านการทำสวนผักใจกลางเมือง ย่านพระราม 9 สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ลงพื้นที่พูดคุยกับผู้คิดค้นโครงการนี้
(นายโชคชัย หลาบหนองแสง)
นายโชคชัย หลาบหนองแสง ผู้จัดการโครงการ g Garden - Urban Farming & Farmer’s Connect ในพื้นที่ย่านพระราม 9 กล่าวว่า เดิมตนเองเป็นจิตอาสาที่เคยเข้าช่วยเหลือคนในชุมชนคลองเตยตั้งแต่ยามวิกฤตโควิด โดยทำงานร่วมกับกลุ่ม ‘คลองเตยดีจัง’ และภาคีเครือข่ายอีกหลายกลุ่ม
“การรับของบริจาค หรือถุงยังชีพ เป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยได้ แต่ช่วยได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น เพราะเบื้องหลังยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่คนในชุมชนคลองเตยจะต้องรับผิดชอบกันอีกมากมาย อาทิ ค่าน้ำ ค่าไฟ หรือค่าเทอม ดังนั้นการมีงานทำ จึงเป็นทางออกเดียวที่จะสามารถช่วยเยียวยาบรรเทาความเดือดร้อนนี้ได้ ผมมีพื้นที่สวนผักใจกลางเมืองอยู่ในมือ ส่วนกลุ่มคลองเตยดีจังมีเป้าหมายที่จะช่วยคนในพื้นที่ชุมชนคลองเตย เราจึงใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ จัดโครงการจ้างงานนี้ขึ้นมา” นายโชคชัย กล่าว
@ จ้างงานวันละ 300 บาท – ฟรีอาหาร 3 มื้อ
นายโชคชัย กล่าวด้วยว่า หลังจากเริ่มโครงการเมื่อวันที่ 26 พ.ค.2564 กลุ่ม ‘คลองเตยดีจัง’ จัดสรรคนในชุมชนคลองเตยเวียนกันมาทำหน้าที่วันละ 10 – 15 คน เพื่อให้มาร่วมงานกับเรา ซึ่งทางกลุ่ม ‘คลองเตยดีจัง’ เป็นผู้ดูแลเรื่องค่าจ้าง โดยจะให้เป็นรายวัน วันละ 300 บาท ส่วนเราจะรับหน้าที่จ้างงานให้ทุกคนมาเรียนรู้งานเกษตรและงานไม้ โดยจะให้ผู้หญิง ทำหน้าที่เพาะกล้าผัก ชำกิ่ง หยอดเมล็ด รดน้ำใส่ปุ๋ย และทำปุ๋ยหมัก ส่วนผู้ชายจะเน้นให้ทำงานไม้เป็นหลัก คือ จะให้ตัดไม้ และทำกระบะเพาะปลูก
โดยจะให้เริ่มงานประมาณ 10.00-18.00 น. มีช่วงพักเบรกหลบแดดร้อน 2 ชั่วโมง ถือว่าวันนึงจะทำงานจริงๆ ประมาณ 4 - 5 ชั่วโมง นอกจากนั้นเราจะจัดสรรอาหาร 3 มื้อให้ฟรี เรียกได้ว่าการมาทำงานในครั้งนี้ ทุกคนจะได้รับค่าจ้างอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย
“ผ่านมาแล้วกว่าครึ่งเดือน เราได้เห็นพัฒนาการของทุกคน จากที่แต่ละคนไม่เคยปลูกผักทำสวนเลย ตอนนี้สวนผักใจกลางเมืองแห่งนี้เริ่มเติบโต เริ่มผลิตกระบะไม้ออกขายได้ ในกระบวนการทำงานที่ผ่านมาเราอยู่กันเป็นเหมือนพี่เหมือนน้อง เบื้องต้นเราได้นำทีมของเรามาสอนงานให้น้องๆ ตอนแรกจะเป็นผักพื้นบ้าน ผักตามฤดูกาล เนื่องจากปลูกง่ายและขึ้นง่ายตามฤดูกาล แต่ภายหลังทุกคนมีความกระตือรือร้นมากขึ้น เริ่มหันมาสนใจปลูกผักต่างๆ ที่หลากหลาย และต้องใช้ทักษะมากขึ้น เช่น ดอกไม้กินได้ โรสแมรี่ หรือ แบล็คมิ้นต์ ทำให้ตอนนี้หากเรื่องไหนเราไม่เชี่ยวชาญ ก็จะต้องขอคำแนะนำจากเกษตรกรตัวจริงที่เป็นพันธมิตรมาช่วยสอนกันเลยทีเดียว ซึ่งก็เป็นจุดที่เราอยากพัฒนาให้มาถึงจุดนี้ด้วย แต่ส่วนของผู้ชาย เราจะมีการสอนงานไม้เพิ่มเติม เพื่อผลิตกระบะเพาะปลูก หรือสร้างกระท่อมเล็กสำหรับพักพิงหรือเก็บอุปกรณ์การเกษตร” นายโชคชัย กล่าว
@ เปิดแผนช่วยเหลือชุมชนคลองเตย คู่ขนานกับสังคม
นอกจากจะทำฟาร์มปลูกผัก หรือทำงานไม้แล้วนั้น นายโชคชัย กล่าวว่า จะพัฒนาพื้นที่ให้เกิดฟาร์มในเมืองและพัฒนาให้เป็นพื้นที่เชื่อมระหว่างเกษตรกรและผู้บริโภค หรือที่เรียกว่า ‘Urban Farming & Farmer’s Connect’ ซึ่งในวันที่ 12 มิ.ย.2564 จะเปิดพื้นที่ให้เกษตรกรพันธมิตรบางส่วน มาส่งสินค้าที่ลูกค้าพรีออเดอร์ได้ โดยไม่ต้องเสียค่าจอดรถ และในอนาคตจะมีการเปิดร้านคาเฟ่ สนามเด็กเล่น สถานที่เวิร์คช้อป และตลาดจำหน่ายผลผลิตอินทรีย์และอาหารปลอดภัย ที่จะเปิดพื้นที่ให้ผู้ผลิตเกษตรกร ผู้ประกอบการที่อยากนำผลผลิตที่มีคุณภาพดี มาจำหน่ายต่อไป และจะสร้างพื้นที่การเรียนรู้ ‘Zero waste’ โดยมุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรไม่ให้เหลือทิ้ง เช่น การนำเศษอาหารจากร้านคาเฟ่และร้านอาหารในพื้นที่ใกล้เคียงมาทำปุ๋ยได้ อย่างไรก็ตามการวางแผนพัฒนาต่างๆ นี้ ยังอยู่ระหว่างการออกแบบโปรแกรมและวิธีการ
โครงการจ้างงานคนในชุมชนคลองเตย นอกจากจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนและเสริมสร้างทักษะใหม่ๆ ของคนในชุมชนคลองเตยได้แล้ว ยังเป็นแรงกระเพื่อมต่อสังคม ให้คนในเมืองได้เห็นศักยภาพว่า เราสามารถใช้พื้นที่รกร้างว่างเปล่า เปลี่ยนให้เป็นฟาร์มปลูกผักปลอดสารพิษ ที่ทำได้ง่าย ไม่ใช่แค่การปลูกมะนาวและกล้วย โดยทุกคนสามารถมาเรียนรู้กับเรา และนำโมเดลฟาร์มนี้กลับไปต่อยอดได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทุกคนที่จะได้รับความมั่นคงทางอาหาร ทุกคนจะได้กินผักปลอดสารพิษสดๆ ที่หลากหลายด้วยมือของเรา ในราคาย่อมเยา และยังลดภาระค่าใช้จ่ายได้อีกด้วย
@ มีแผนปรับการจ้างรายวัน เป็นงานประจำ
สำหรับโครงการจ้างงานคนในชุมชนคลองเตย นายโชคชัย กล่าวว่า เบื้องต้นกำหนดระยะเวลาของโครงการไว้ราว 1 เดือน ซึ่งจะมีการประเมินอีกครั้งในช่วงปลายเดือนนี้ว่ายังมีความต้องการของชุนอยู่หรือไม่ หากยังมีอยู่ เราจะขยายต่อไปอีก 1 เดือน และหลังจากนั้นจากนั้นจะปรับการจ้างงานรายวัยให้เป็นงานประจำ โดยที่โครงการของเราจะเป็นผู้สนับสนุนด้านรายได้เอง แต่เนื่องจากงบของเรานั้นมีจำกัด อาจจะจ้างแรงงานชุมชนคลองเตยได้ไม่ครบทุกคน แต่แน่นอนว่าหากมีกิจกรรมก็จะรับคนเหล่านี้กลับมาช่วยงาน
(คนซ้าย:นายอำพล ชาญช่างทอง คนขวา:น.ส.จุฑารัตน์ รมดี)
@ 2 คนชุมชนคลองเตย ดีใจได้มีโอกาสทำงาน-เรียนรู้สิ่งใหม่
สำนักข่าวอิศรา ได้มีโอกาสมาพูดคุยกับ 2 ผู้ร่วมโครงการจ้างงานในครั้งนี้ โดย น.ส.จุฑารัตน์ รมดี หนึ่งชาวชุมชนคลองเตยที่ได้มาทำงานร่วมกับโครงการจ้างงาน เปิดเผยว่า จากการลงรายชื่อกับกลุ่มจิตอาสาคลองเตยดีจัง จึงได้มีโอกาสมาทำงาน และมาเรียนรู้ทักษะการทำฟาร์มในโครงการนี้ ซึ่งเราจะสลับกันมา หากใครเหนื่อยก็พักบางวัน แล้วก็กลับมาทำงานต่อ ได้มาทำงานที่นี่รู้สึกดีมาก ทำให้คนไม่มีรายได้ มีโอกาสมีงานทำ รวมถึงยังได้เรียนรู้ทักษะการเพาะกล้าต้นไม้ หรือการทำปุ๋ยหมัก ซึ่งเราไม่เคยทำมาก่อนเลย และนำไปต่อยอดกับพื้นที่รกร้างภายในบ้านได้ด้วย
ด้าน นายอำพล ชาญช่างทอง เป็นอีกหนึ่งชาวชุมชนคลองเตยที่ได้มาทำงานร่วมกับโครงการจ้างงาน เปิดเผยสอดคล้องกันว่า โครงการนี้เป็นโครงการที่ดีมาก ทำให้เราได้รับโอกาสจ้างงาน นับเป็นประสบการณ์ใหม่ๆ ที่ได้มารู้งานไม้ รวมถึงการทำฟาร์ม ทำสวน การบริหารจัดการฟาร์มในเชิงธุรกิจ ซึ่งเราเห็นจากการทำงานของพี่ทีม g Garden ที่คอยอยู่กับพวกเราตลอดเวลา ช่วงกลางวันให้เราพูดคุยกัน ลองทำ ตอนก่อนเลิกงานจะมีการสรุปงานกันทุกครั้ง ว่าเราทำผิดหรือถูกตรงไหนบ้าง เพื่อนำไปปรับแก้ นอกจากนั้นยังมีพี่ชาวเกษตรกรนำพันธุ์ไม้ใหม่ๆ อย่างกล้วยญี่ปุ่นโอกินาวามาให้เราได้ลองปลูกด้วย เป็นการเปิดโลกทัศน์ที่เราไม่เคยได้สัมผัสมาก่อน รู้สึกสนุกมากที่ได้มาทำงานที่นี่ แต่หากถามถึงอุปสรรคก็คงจะมีเพียงอย่างเดียวคือแดด โดยเฉพาะแดดช่วงเที่ยงนั้นร้อนมาก แต่พอเวลา 15.00 น. เป็นต้นไป ที่สวนนี้จะร่มรื่นมาก
ทั้งหมดนี้ต่างเป็นเรื่องราวดีๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤตของโควิด ซึ่งทุกคนสามารถนำทรัพยากรที่เรามีอยู่ มาร่วมช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางได้ และเราจะผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/